ฟุตบอล…เกมกีฬาที่โด่งดังที่สุดในโลก และการแข่งขัน FIFA World Cup ก็เป็นมหกรรมกีฬาที่คนทั่วโลกกำลังติดตามกันอยู่

ในคลิปนี้ผมจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจกีฬาฟุตบอลที่น่าสนใจให้ฟังกันนะครับ

หนังสือที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้นะครับชื่อว่า Soccernomics

เล่มนี้ยังไม่มีแปลนะครับ และผมขอแปลชื่อหนังสือว่า “ฟุตบอลศาสตร์” นะครับ

ผู้เขียนคือ Simon Kuper เป็นนักเขียนที่เชี่ยวชาญด้านวงการฟุตบอล และ Stefan Szymanski เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Cass Business School London

หนังสือเล่มนี้ก็เขียนมาหลายปีแล้วนะครับ แต่ก็มีการอัพเดทข้อมูลอยู่ตลอด และฉบับล่าสุดก็เป็นการอัพเดทของปี 2022 สำหรับฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดนี้นะครับ

เรามาฟังกันนะครับ

ธุรกิจฟุตบอลไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

เราปฏิเสธไม่ได้นะครับว่ากีฬาฟุตบอลมีเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาเกี่ยวพัน ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินที่สโมสรยักษ์ใหญ่ใช้ในการซื้อขายนักเตะ และค่าเหนื่อยที่พูดเล่นระดับชั้นนำได้รับ นี่จึงทำให้คนส่วนมากมองว่าสโมสรฟุตบอลเป็นธุรกิจที่ใหญ่โต

แต่ความเป็นจริงแล้วนะครับสโมสรฟุตบอลไม่ใช่เป็นธุรกิจที่ใหญ่หรือว่ามีประสิทธิภาพอย่างที่คิด

จากข้อมูลล่าสุดของบริษัทบัญชี Deloitte และนิตยสาร Forbes นะครับ 5 สโมสรฟุตบอลที่มีรายได้มากที่สุดในโลกอยู่ที่ประมาณ 500-600 กว่าล้านยูโร และมีมูลค่ามากที่สุดก็อยู่ที่ประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แน่นอนนะครับว่าจำนวนเงินมันมหาศาล แต่ถ้าเราเปรียบเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่น ตัวเลขของสโมสรฟุตบอลมันยังค่อนข้างน้อย

นอกเหนือจากที่ฟุตบอลไม่ใช่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่อย่างที่คิดแล้วนะครับ จากประวัติศาสตร์แล้วธุรกิจฟุตบอลก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อพบปะกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่นก่อนยุค 1980 สโมสรในอังกฤษก็ไม่ได้ใช้สปอนเซอร์ให้เสื้อทีม และยังต้องขอลดราคาพิเศษเพื่อซื้อเสื้อให้นักเตะได้ใส่ ซึ่งหมายความว่าสโมสรโฆษณาให้กับบริษัทผลิตชุดกีฬาฟรีๆแถมยังต้องให้เงินเขาอีก

เมื่อเวลาผ่านไปสโมสรก็เริ่มจะมีวิธีหารายได้เพิ่มขึ้นจากหลายรูปแบบ แต่ความคิดเหล่านี้ก็ไม่ได้มาจากตัวสโมสรเอง

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจฟุตบอลคือการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ซึ่งก่อนหน้านั้นสโมสรก็ปฏิเสธเพราะกลัวจะไม่มีคนเข้ามาดูในสนามและเสียเงินค่าตั๋ว

ในปี 1992 มหาเศรษฐีวงการสื่อ Rupert Murdoch ได้เสนอเงิน 100 ล้านปอนด์เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฤดูกาลแรกของพรีเมียร์ลีกที่เปลี่ยนจากดิวิชั่น 1 ซึ่งในฤดูกาลล่าสุดในปี 2022 นี้ค่าลิขสิทธิ์ก็สูงขึ้นมาแล้ว 12 เท่า

ธุรกิจฟุตบอลนะครับมีความเป็นเอกลักษณ์และอาจจะปฏิบัติเหมือนธุรกิจไม่ได้เสมอไป และเมื่อผู้บริหารพยายามเน้นทำกำไรมากเกินไปมันก็จะกระทบด้านฟุตบอลซึ่งก็จะกลับมากระทบด้านธุรกิจด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างที่ดีคือ Manchester United ในตอนนี้ ที่แฟนๆกล่าวหาว่าเน้นทำเงินและ marketing มากเกินไปจนทำให้สู้ทีมใหญ่อื่นๆไม่ได้

จากการสำรวจการทำกำไรของสโมสรพรีเมียร์ลีกระหว่างปี 2010 ถึง 2020 นะครับ แสดงให้เห็นว่าอันดับที่สโมสรทำได้ในฤดูกาลนั้นไม่ได้สอดคล้องว่าสโมสรจะทำกำไรหรือไม่ ฉะนั้นมันเป็นไปได้ที่ทีมที่ชนะพรีเมียร์ลีกจะไม่ได้ทำกำไรได้เสมอไป

จากประวัติศาสตร์ของธุรกิจฟุตบอลมันเป็นไปได้ยากที่จะบริหารสโมสรให้ทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ และในสมัยนี้เริ่มจะมีมหาเศรษฐีและรวมไปถึงกองทุนของรัฐบางประเทศที่เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสร และไม่สนใจว่าสโมสรจะต้องทำกำไรหรือไม่ และก็จะทุ่มเงินมหาศาลเพื่อชนะถ้วยรางวัล ซึ่งทำให้เจ้าของสโมสรอื่นๆถูกกดดันว่าจะต้องทุ่มเงินด้วยเช่นกันเพราะไม่อย่างนั้นจะแข่งขันไม่ได้

การที่สโมสรไม่ได้ทำกำไรอาจจะไม่เป็นปัญหากับเจ้าของเสมอไปนะครับเพราะเจ้าของสโมสรบางคนอาจจะมีจุดประสงค์อื่น

ที่น่าประหลาดใจนะครับคือถึงแม้ว่าสโมสรฟุตบอลอาจจะไม่สามารถทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ และก็ต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่สโมสรจำนวนมากก็ยังอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ถึงแม้ว่าจะเคยล้มละลายมาแล้วก็ตาม

จากการสำรวจนะครับ 85 จาก 87 สโมสรอังกฤษในทั้ง 4 ลีกการแข่งขันตั้งแต่ปี 1923 ก็ยังอยู่มาถึงปัจจุบัน

วงการฟุตบอลนะครับมีความได้เปรียบคือถ้าสโมสรไม่สามารถแข่งขันได้ในระดับสูงหรืออาจจะล้มละลาย แต่สโมสรสามารถเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่แล้วลงมาแข่งขันในลีกที่ต่ำลงมา และก็ยังดำเนินการต่อไปได้

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรอยู่รอดได้คือความรักสโมสรจากแฟนๆ เพราะทุกๆสโมสรจะมีฐานแฟนที่จะอยู่เคียงข้างสโมสรเสมอไม่ว่าทีมจะเล่นแย่หรือดีขนาดไหน และความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์แบบนี้แทบจะหาไม่ได้ในธุรกิจอื่นๆ

อย่างที่บอกนะครับว่าตอนนี้เราเห็นมหาเศรษฐีจนถึงกองทุนของรัฐบางประเทศที่เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล และก็เริ่มจะมีกองทุน private equity หรือกองทุนหุ้นนอกตลาดที่เริ่มจะให้ความสนใจ และเป้าหมายของเจ้าของบางคนคือทำกำไรอย่างเดียว

แต่ผู้เขียนเห็นว่าพวกเขาไม่น่าจะทำได้สำเร็จ ตัวอย่างที่ดีคือการก่อตั้ง European Super League ในปี 2021 ที่เจ้าของสโมสรบางคนคิดว่าจะเป็นแหล่งกำไรแหล่งใหม่ แต่เมื่อเจอแรงกดดันจากแฟนๆก็ต้องหยุดพักความคิดนี้ไปก่อน ซึ่งคนที่อยู่ในวงการฟุตบอลหลายคนคาดว่าก็อาจจะเป็นเหตุผลที่เจ้าของสโมสร Liverpool และ Manchester United ต้องการจะขายสโมสรในตอนนี้

ผู้เขียนเห็นว่าสโมสรฟุตบอลไม่ควรเป็นเครื่องมือที่ทำให้เจ้าของสโมสรร่ำรวยขึ้นไปอีก

ธุรกิจของฟุตบอลคือฟุตบอล และทุกบาททุกสตางค์ที่สโมสรสามารถหาได้ควรจะลงทุนกลับเข้าไปในวงการฟุตบอลเพื่อที่จะส่งเสริมวงการนี้ต่อไป

ตลาดซื้อขายนักเตะ

เมื่อพูดถึงเงินในธุรกิจฟุตบอลนะครับเราก็ต้องพูดถึงตลาดซื้อขายนักเตะ ซึ่งในแต่ละปีก็เป็นเงินจำนวนมหาศาล

จากรายงานของ FIFA นะครับ ในประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนเงินที่สโมสรทั่วโลกใช้ในการซื้อขายนักเตะอยู่ที่ประมาณ 48,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมไปถึงสถิติโลกที่สโมสร Paris Saint Germain ได้ซื้อ Neymar จาก Barcelona ในปี 2017 ด้วยเงินประมาณ 263 ล้านเหรียญดอลลาร์

จริงๆแล้วนะครับจำนวนเงินที่สโมสรใช้ในการซื้อขายนักเตะไม่ใช่เป็นตัวคาดเดาได้ว่าสโมสรจะประสบความสำเร็จหรือไม่

สิ่งที่พยากรณ์ได้ดีกว่าคือจำนวนเงินค่าเหนื่อยที่จ่ายให้กับนักเตะทั้งหมดในทีม

จากการสำรวจ โดยรวมแล้วสโมสรที่ให้ค่าเหนื่อยกับนักเตะมากก็จะได้ตำแหน่งที่สูงในการแข่งขันด้วยเช่นกัน

ข้อดีของการใช้ค่าเหนื่อยเป็นตัววัดคือมันจะปรับตามข้อมูลใหม่ที่เข้ามา ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีดาวรุ่งอายุน้อยที่เพิ่งได้รับโอกาสในการเล่นเป็นตัวจริงและเล่นได้ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่แล้วสโมสรก็จะให้เซ็นสัญญาใหม่และให้ค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะไม่ให้เสียนักเตะนี้ไปซึ่งก็เป็นการสะท้อนถึงความสามารถของนักเตะ

แน่นอนว่าในบางครั้งก็จะมีกรณียกเว้น อย่างเช่น Leicester City ที่ชนะพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2015-2016 ซึ่งตอนนั้นค่าเหนื่อยที่ให้นักเตะทั้งหมดอยู่อันดับที่ 15 ของพรีเมียร์ลีก

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่ากรณีนี้อาจจะมีบทบาทของโชคซะมากกว่า เพราะว่าจำนวนประตูที่ Leicester ยิงเข้าในทั้งฤดูกาลนั้นค่อนข้างจะน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับแชมป์ในอดีต นอกเหนือจากนั้นแล้วทีมใหญ่ๆหลายทีมก็เล่นแย่กว่าที่คาดไว้กันทั้งหมด

ฤดูกาลต่อไป Leicester City จบฤดูกาลที่อันดับ 12 ของตาราง

ตลาดซื้อขายนักเตะก็ค่อนข้างจะไร้ประสิทธิภาพในหลายกรณี อย่างเช่นนักเตะบางสัญชาติอาจจะมีค่าตัวที่แพงกว่าสัญชาติอื่น หรือนักเตะบางคนเล่นดีเพียงชั่วคราวในการแข่งขันใหญ่อย่างเช่นบอลโลกทำให้มีค่าตัวมากกว่าความเป็นจริง ในทางกลับกันนักเตะบางคนที่มีความสามารถแต่มีปัญหาส่วนตัวก็อาจจะถูกมองข้ามและมีมูลค่าแอบแฝงมากกว่าที่คนอื่นคิด

สโมสรที่สามารถซื้อขายนักเตะได้อย่างเฉลียวฉลาดก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างมาก

ตัวอย่างที่ดีคือสโมสร Nottingham Forest ในปลายยุค 70 ที่นำโดยผู้จัดการ Brian Clough ที่สามารถซื้อขายนักเตะได้อย่างดีและนำสโมสรไปสู่แชมป์ European Cup ที่กลายมาเป็น Champions League ในทุกวันนี้ได้ 2 สมัยติดต่อกัน

บทบาทของผู้จัดการทีม

คราวนี้เรามาพูดถึงบุคคลที่เรียกว่าสำคัญที่สุดในทีมฟุตบอลกันนะครับนั่นก็คือผู้จัดการ

การเลือกผู้จัดการก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่โชว์ว่าการบริหารสโมสรไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเหมือนธุรกิจอื่นๆ เพราะว่าการเลือกผู้จัดการทีมส่วนมากแล้วมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและจะดูเพียงตัวเลือกที่มีอยู่ในตอนนั้น

ในทางตรงข้ามในอุตสาหกรรมอื่นๆกระบวนการการเลือกผู้บริหารต้องใช้เวลานานและต้องผ่านการสัมภาษณ์กับกรรมการบริษัทหลายขั้นตอนกว่าจะตัดสินได้

ผู้จัดการทีมจำนวนมากนะครับก็จะเป็นอดีตนักเตะซะส่วนใหญ่ เพราะมันมีความเชื่อว่าอดีตนักเตะจะมีความรู้และประสบการณ์บางอย่างที่คนที่ไม่เคยเล่นอาจจะไม่รู้

แต่จากการสำรวจนะครับ อดีตนักเตะที่ดีก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้จัดการที่ดีเสมอไป เพราะทักษะที่ต้องใช้มันแตกต่างกัน และการที่จะมองอดีตนักเตะเพื่อจะให้เข้ามาเป็นผู้จัดการมันเป็นการจำกัดตัวเลือกให้แคบลงอย่างมาก

ในปัจจุบันนะครับก็เริ่มจะมีการให้โอกาสกับผู้จัดการที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์เป็นนักเตะมาก่อนโดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน ยกตัวอย่างเช่น Thomas Tuchel อดีตผู้จัดการ Chelsea และ PSG ที่เคยเล่นเพียงแค่ 8 นัดในลีกระดับล่างในเยอรมัน หรือ Julian Nagelsmann ที่ไม่เคยเป็นนักเตะมืออาชีพมาก่อนแต่ได้เป็นผู้จัดการทีมในอายุ 28 และตอนนี้เป็นผู้จัดการทีม Bayern Munich

แต่ความเป็นจริงนะครับ ผู้จัดการทีมอาจจะไม่ได้มีความสำคัญมากอย่างที่คิด

Johan Cruyff อดีตตำนานนักเตะและผู้จัดการสโมสร Barcelona เคยกล่าวไว้ว่าถ้านักเตะของทีมตัวเองดีกว่าฝ่ายตรงข้าม 90% ฝ่ายเขาก็จะเป็นฝ่ายชนะ

ฉะนั้นนะครับมันอาจจะสำคัญกว่าถ้าสโมสรรวบรวมผู้เล่นที่ดีที่สุด ซึ่งเดี๋ยวนี้ผู้จัดการก็ไม่ใช่เป็นผู้ตัดสินคนเดียวเพราะยังต้องพึ่งนักวิเคราะห์และผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร

แต่ก็ใช่ว่าไม่เคยมีผู้จัดการที่ไม่ให้มูลค่ากับสโมสรเลยนะครับ

ผู้เขียนได้วิเคราะห์ผู้จัดการทีมที่เคยเป็นผู้จัดการอย่างน้อย 5 ฤดูการเต็มในประเทศอังกฤษระหว่างปี 1973 ถึง 2010 ซึ่งทั้งหมดมี 251 คนด้วยกัน

อดีตผู้จัดการทีมที่ให้มูลค่ากับสโมสรสูงสุดคือ Bob Paisley จาก Liverpool, Alex Ferguson จาก Manchester United, Bobby Robson จาก Ipswich และ Arsene Wenger จาก Arsenal

ถึงแม้ว่าโดยรวมแล้วผู้จัดการไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากอย่างที่คิด แต่ผู้จัดการบางคนก็ถูกเลือกมาเพราะสามารถเป็นตัวแทนทีมหรือเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างที่ดีคือ Diego Maradona ที่เคยเป็นผู้จัดการทีมชาติ Argentina ทั้งๆที่เขาไม่ได้มีประสบการณ์มากก่อนหน้านั้น แต่อาจจะเป็นเพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเขาเป็นตัวแทนแห่งจิตวิญญาณของทีมชาติ Argentina ที่ดีที่สุดในตอนนั้น

อีกหนึ่งเกณฑ์สำคัญในการเลือกผู้จัดการอาจจะเป็นความสามารถในการรับมือกับสื่อ เพราะสมัยนี้ผู้จัดการต้องให้สัมภาษณ์อยู่ตลอดเวลา

ผู้เขียนเห็นว่าการบริหารสโมสรในปัจจุบัน มันจำเป็นจะต้องมีโครงสร้างพนักงานในหลายแผนกที่ให้การสนับสนุนผู้จัดการทีม ซึ่งอาจจะมีความสำคัญมากกว่าผู้จัดการด้วยซ้ำ เพราะคนกลุ่มนี้ก็อาจจะอยู่กับสโมสรต่อไปหลังจากที่ผู้จัดการทีมไม่อยู่แล้ว

บทบาทของ data

ในปี 2015 นะครับ สโมสร Liverpool กำลังมองหาผู้จัดการคนใหม่

ในตอนนั้น Jurgen Klopp ผู้จัดการคนปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเพราะสโมสร Borussia Dortmund ที่เขาจัดการอยู่ในตอนนั้นจบฤดูกาลอันดับที่ 7 ในลีกเยอรมัน

แต่ผู้อำนวยการด้านวิจัย Ian Graham แนะนำว่าให้เลือก Klopp เพราะจากการวิเคราะห์ เหตุผลที่ Dortmund จบฤดูกาลไม่ดีไม่ใช่เป็นความผิดของ Klopp ทั้งหมด

2 ปีให้หลัง Klopp ต้องการกองหน้าคนใหม่และทีมนักวิเคราะห์แนะนำว่าให้เลือก Mohamed Salah ทั้งๆที่ Klopp ต้องการกองหน้าอีกคนนึง พวกเขาใช้เวลาอยู่นานกว่าจะเปลี่ยนใจ Klopp ได้

แน่นอนว่า Salah ก็กลายเป็นหนึ่งในนักเตะสำคัญที่ช่วยให้ Liverpool คว้า Champions League และ Premier League ได้ภายใน 3 ปีหลังจากนั้น

นี่ก็เป็นตัวอย่างของการวิเคราะห์ data และสถิติที่เริ่มจะมีความสำคัญในกีฬาฟุตบอล

การรวบรวมสถิติในการแข่งขันฟุตบอลก็เริ่มมาตั้งแต่ยุค 1950 แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมีโครงสร้างสักเท่าไหร่

แต่จากการพัฒนาคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีทำให้การวิเคราะห์ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสโมสรฟุตบอลก็ให้ความสนใจในด้านนี้อย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่นสโมสร Arsenal ซื้อบริษัทวิเคราะห์ data ชื่อว่า StatDNA เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของนักเตะในทีม พวกเขาวิเคราะห์ถึงกระทั่งช่วงเวลาไหนที่นักเตะเริ่มจะเหนื่อยโดยการดูจำนวนเวลาที่เท้าของนักเตะอยู่ติดกับพื้น และนี่ก็ช่วยให้ผู้จัดการตัดสินใจได้ดีขึ้น

ความท้าทายของการใช้ data คือการตีความหมายและสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง

ยกตัวอย่างเช่น Paolo Maldini จากสโมสร AC Milan หนึ่งในกองหลังที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ สถิติการเข้าแย่งบอลของเขาอยู่แค่ 1 ครั้งทุกๆ 2 นัดซึ่งค่อนข้างน้อยมาก แต่จริงๆแล้วเหตุผลเบื้องหลังคือเขาวางตำแหน่งตัวเองได้ดีอย่างมากจนไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปแย่งบอลและนักเตะฝั่งตรงข้ามส่งบอลหรือเสียบอลไปเอง

อีกหนึ่งความท้าทายคือถึงแม้ว่าจะตีความหมายและวิเคราะห์ถูกต้อง แต่ก็ไม่เสมอไปที่นักเตะจะทำตามคำแนะนำ

สถิติใหม่ที่ได้รับความสนใจมากตอนนี้เรียกว่า expected goal หรือ xG ซึ่งเป็นการรวบรวม data จากเกมฟุตบอลจำนวนมาก และวิเคราะห์โอกาสยิงประตูในแต่ละสถานการณ์ว่านักเตะควรจะยิงเข้าหรือไม่

ถ้านักเตะได้รับโอกาสที่ควรจะยิงประตูได้ค่อนข้างจะน้อย แต่ยังสามารถยิงประตูได้ก็เรียกได้ว่าเขาเล่นดีกว่าที่ควร

ถึงแม้ว่าสถิตินี้จะเน้นไปที่นักเตะกองหน้าซะส่วนใหญ่แต่มันก็ยังมีความยืดหยุ่นเพราะสามารถดูการสร้างโอกาสของทั้งทีมเพื่อดูว่าทั้งทีมควรได้กี่ประตู และถ้าประตูที่ได้มันต่ำหรือสูงกว่าที่ควรก็เป็นการแสดงถึงประสิทธิภาพของทีม

นักวิเคราะห์ในแต่ละสโมสรก็ใช้ data ที่รวบรวมภายในและไม่เปิดเผยให้ภายนอกรู้

แต่ในโลกอินเตอร์เน็ตก็มีชุมชนนักวิเคราะห์มือสมัครเล่นที่ใช้ data ที่เข้าถึงได้ และนักวิเคราะห์มือสมัครเล่นพวกนี้ก็มีการพูดคุย โต้เถียง และเรียนรู้จากกันและกัน ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตนวัตกรรมในด้านการวิเคราะห์อาจจะมาจากคนกลุ่มนี้ก็เป็นไปได้

อนาคตของกีฬาฟุตบอล

ใน 2-3 ปีที่ผ่านมานะครับกีฬาฟุตบอลได้ถูกกระทบจากปัญหาการระบาดโควิด แต่เกือบทุกสโมสรก็กำลังผ่านปัญหานี้ไปได้ เช่นเดียวกับที่เคยผ่านหลายปัญหามาแล้วในอดีต

ใน 30 ปีที่ผ่านมากีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งปัจจัยหลักคือการถ่ายทอดสดที่เข้าถึงคนจำนวนมหาศาล

สโมสรหลายสโมสรไม่ใช่เป็นสโมสรระดับท้องถิ่นอีกต่อไป แต่มีแฟนๆเป็นร้อยๆล้านคนทั่วโลก

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2009 ที่รอบชิงชนะเลิศของ Champions League ระหว่าง Barcelona และ Manchester United เป็นเกมกีฬาที่มีคนชมผ่านทีวีเยอะที่สุดในปีนั้น อยู่ที่ 109 ล้านคน มากกว่า Super Bowl อยู่ที่ 106 ล้านคน

กีฬาฟุตบอลกำลังเติบโตได้อีกมากโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย จีน และสหรัฐ และถ้ามีการลงทุนในกีฬาฟุตบอลในประเทศเหล่านี้และอีกหลายๆประเทศอย่างต่อเนื่อง ประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้อาจจะไม่ได้เป็นผู้นำอีกต่อไป

ตอนนี้ก็มีตัวแปรสำคัญใหม่นั่นก็คือ streaming service และ social media

นี่เป็นครั้งแรกนะครับที่เป็นแฟนไม่จำเป็นจะต้องมีทีวีในการชมเกมฟุตบอล เพราะพวกเขาสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ไม่ว่าจะดูสดทั้งเกม หรือดูเพียงแค่ไฮไลท์อย่างเดียว และมีแนวโน้มที่ streaming service จะมีราคาที่ถูกลง

นอกเหนือจากนั้นแล้วการเข้าถึงแฟนๆผ่าน social media ก็จะสร้างโอกาสในการหารายได้ใหม่ให้กับสโมสร

ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้กีฬาฟุตบอลมีความดึงดูดต่อไปในอนาคต ซึ่งก็จะดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลเข้าไปในกีฬาฟุตบอลต่อไป

ท้ายสุด

ท้ายสุดนะครับ ฟุตบอลเป็นกีฬาที่สร้างความผูกพันระหว่างคนจำนวนมากอย่างที่หาได้ยาก

มันไม่ค่อยมีเหตุการณ์อะไรที่นำคนในประเทศเข้ามาสามัคคีกันมากกว่าการที่ทีมชาติของประเทศตัวเองได้เข้าไปแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างเช่นฟุตบอลโลก

ไม่ว่าทีมจะแพ้หรือชนะมันไม่สำคัญเท่ากับการที่ผู้คนมากมายได้มีประสบการณ์ร่วมกัน และนี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ฟุตบอลเป็นกีฬาอันดับ 1 ของโลก

ในหนังสือยังพูดอีกหลายๆด้านอย่างเช่นการแข่งขันระหว่างประเทศและเกี่ยวกับแฟนๆฟุตบอลที่ผมไม่ได้พูดถึงนะครับ ถ้ามีโอกาสก็แนะนำให้ทุกท่านไปอ่านกันด้วยนะครับ

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากคลิปนี้นะครับ

ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

ถ้าคุณชอบการรีวิวหนังสือของผม ก็ฝากกด like subscribe กดกระดิ่ง กดแชร์ และสนับสนุนช่องเพื่อให้ได้เดินหน้าต่อไปด้วยนะครับ

ผมขอให้ทุกคนมีความสุขมากๆนะครับ

แล้วพบกันใหม่คลิปหน้าครับขอบคุณและสวัสดีครับ

Pop BooksDD

—-