ในประวัติศาสตร์ของโลกเรานะครับ ได้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้งด้วยกัน
ถ้าบอกว่าตอนนี้การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งแล้ว มันก็อาจยากที่จะเชื่อ
ในคลิปนี้ผมจะอธิบายเกี่ยวกับบทบาทของมนุษย์ที่กำลังสร้างการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 นะครับ
หนังสือที่จะมาสรุปให้ฟังวันนี้นะครับ The Sixth Extinction: An Unnatural History หรือชื่อในฉบับแปลไทย “ประวัติศาสตร์นับศูนย์ สู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6“
ผู้เขียนชื่อว่า Elizabeth Kolbert ซึ่งเป็นนักเขียนที่เคยได้รางวัล Pulitzer Prize มาแล้วในปี 2015 นะครับ

หนังสือเล่มนี้นะครับเป็นการพูดถึงผลกระทบของการกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อโลกเรา และหลายสิ่งกำลังบ่งบอกว่าโลกเรากำลังประสบกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6
การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 กำลังเกิดขึ้น
ประมาณ 200,000 ปีที่แล้วนะครับ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หรือว่าสปีชีส์ใหม่ได้กำเนิดขึ้นในแถบแอฟริกาตะวันออก
สิ่งมีชีวิตนี้ก็ไม่ได้มีความแข็งแรงหรือพิเศษอะไร แต่มาถึงทุกวันนี้สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์หรือมนุษย์ปัจจุบัน ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีความสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์

ในประวัติศาสตร์ของโลกไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตประเภทไหนที่มีผลกระทบต่อโลกเท่ากับมนุษย์
เราสามารถปรับสภาพเข้าหาสิ่งแวดล้อมและขยับขยายไปรอบโลกโดยที่สิ่งกีดกั้นทางธรรมชาติก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้
ไม่ว่าเราจะย้ายไปที่ไหนเราก็ได้พบปะกับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่หลายประเภท และเราก็ล่ามันจนสูญพันธุ์
เมื่อจำนวนมนุษย์เพิ่มขึ้น เราก็ทำลายธรรมชาติเพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและปลูกอาหารและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของโลก
การค้นพบเชื้อเพลิงฟอสซิลใต้ดินก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศและในมหาสมุทร
สัตว์และพืชบางชนิดสามารถปรับตัวได้โดยการย้ายถิ่นฐาน แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างมหาศาล
ตอนนี้นะครับนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 กำลังเกิดขึ้น
ในหลาย 10 ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้พบการสูญพันธุ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (amphibians) หลายชนิดซึ่งเป็นสัตว์ประเภทที่ถูกกระทบมากที่สุด ทั้งๆที่ในอดีตมันเป็นสัตว์ประเภทที่มีความทนทานและอยู่รอดมาได้เป็นเวลานาน
นอกเหนือจากนั้นแล้วสิ่งมีชีวิตอีกหลายประเภทก็เริ่มจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกด้วย
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบขั้นรุนแรงที่ใช้เวลาหลายล้านปีกว่าสปีชีส์ที่หลงเหลืออยู่จะฟื้นคืนมาได้
นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่า 17,000 ถึง 100,000 สปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตกำลังสูญพันธุ์ในแต่ละปี และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปครึ่งหนึ่งของสปีชีส์พืชและสัตว์จะสูญพันธุ์ภายในปี 2100
สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกับเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งนี้ คือการที่จำนวนสปีชีส์ที่กำลังสูญพันธุ์นั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าสปีชีส์ใหม่ที่กำลังกำเนิดขึ้นมาทดแทน ซึ่งทำให้การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้เป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวกว่าครั้งก่อนๆ

ความคิดของการสูญพันธุ์
ถึงแม้ว่าโลกเราเคยประสบกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง แต่ความเป็นจริงแล้ว ในอดีตมนุษย์เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้
ในสมัยก่อนมนุษย์เราคิดเสมอว่าตั้งแต่อดีตสิ่งมีชีวิตบนโลกก็เกิดและตายตามธรรมดาแต่โดยรวมแล้วสปีชีส์นั้นก็จะอยู่ต่อไปในอนาคต
ในปลายศตวรรษที่ 18 นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสนามว่า Georges Cuvier ได้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการสาบสูญของสิ่งมีชีวิต

ในปี 1739 ทหารฝรั่งเศสได้ค้นพบซากกระดูกขนาดใหญ่ใกล้แม่น้ำโอไฮโอ และได้ส่งกลับฝรั่งเศส
ซากกระดูกนี้เป็นซากกระดูกของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่า Mastodon ซึ่งมีความคล้ายกับช้างในปัจจุบัน แต่ในตอนนั้นนักวิชาการไม่ทราบว่าเป็นกระดูกของสัตว์ประเภทไหน และคิดว่าอาจจะเป็นกระดูกของช้างที่มีขนาดใหญ่กว่าธรรมดาเท่านั้น

Georges Cuvier ได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างโครงสร้างกระดูกและโครงสร้างฟันของช้างแต่ละสายพันธุ์ และเขาสรุปว่าซากกระดูกที่ค้นพบเป็นของสายพันธุ์ช้างที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และเชื่อว่าเคยมีอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ของช้างที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
ความคิดนี้ได้เปลี่ยนมุมมองของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตและความเป็นไปได้เกี่ยวกับเหตุผลเบื้องหลัง ซึ่งเขาคิดว่าจะต้องมีเหตุการณ์ขั้นรุนแรงที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ได้
Georges Cuvier ก็ได้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่ง Paleontology หรือบรรพชีวินวิทยา
หลังจากนั้นไม่นานนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ Charles Darwin ได้เสนอว่า natural selection หรือ “การคัดเลือกทางธรรมชาติ” เป็นปัจจัยสำคัญกว่าที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบางสปีชีส์ต้องสูญพันธุ์ และมันก็เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แต่ความเป็นจริงแล้วการสูญพันธุ์เกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่เขาคิด ยกตัวอย่างเช่นการสูญพันธุ์ของนก Great Auk ที่อาศัยอยู่ในแอตแลนติกตอนเหนือในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่เกิดขึ้นเพราะถูกมนุษย์ล่าเพื่อเอาขนมาค้าขาย
ซึ่งนี่ทำให้เห็นว่ามนุษย์สามารถสร้างการสูญพันธุ์ให้กับสิ่งมีชีวิตได้มากกว่าที่คิด

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้ง 5
ตามความเป็นจริงแล้วนะครับ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่สปีชีส์สิ่งมีชีวิตจะสูญพันธุ์ และมันก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
แต่ความแตกต่างของการสูญพันธุ์โดยทั่วไปและการสูญพันธุ์แบบที่เรียกว่า mass extinction หรือ “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” คือการที่สปีชีส์สิ่งมีชีวิตมากกว่า 75% ขึ้นไปสูญพันธุ์ภายในระยะเวลาอันสั้น
นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ด้วยกัน 5 ครั้ง
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นประมาณ 444 ล้านปีที่แล้วซึ่งเป็นการสิ้นสุดของยุค Ordovician period
เหตุผลเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิเย็นอย่างมาก ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำประมาณ 86% ต้องสูญพันธุ์

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นประมาณ 375 ล้านปีที่แล้วในช่วงปลายยุค Devonian period
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเหตุผลเป็นเพราะพืชชนิดใหม่ที่ปล่อยสารอาหารไปในมหาสมุทรที่ลดระดับออกซิเจน ทำให้ประมาณ 75% ของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตต้องสูญพันธุ์

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงยุค Permian period ประมาณ 251 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดเพราะสปีชีส์สิ่งมีชีวิตมากถึง 96% ต้องสูญพันธุ์
เหตุผลเป็นเพราะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลถูกปล่อยไปในอากาศ สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟ ทำให้อุณหภูมิปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิในมหาสมุทรก็สูงขึ้นทำให้สัตว์ในทะเลเสียชีวิตและปล่อยก๊าซอันตราย ทำให้สิ่งมีชีวิตประเภทอื่นสูญพันธุ์ไปด้วย

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 200 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งสิ้นสุดยุค Triassic period
ประมาณ 80% ของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ และเหตุผลก็ยังไม่ค่อยแน่ชัด

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นประมาณ 66 ล้านปีที่แล้วซึ่งสิ้นสุดยุค Cretaceous period
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเหตุผลเป็นเพราะอุกกาบาตขนาดใหญ่ได้ชนโลก ทำให้ฝุ่นปกคลุมหลายพื้นที่ของโลก และอุณหภูมิลดลงอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่การสูญพันธุ์ของประมาณ 76% ของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตรวมไปถึงไดโนเสาร์

นักวิทยาศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์นามว่า Paul Crutzen ได้เสนอว่าโลกเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่ายุค Anthropocene ซึ่งหมายถึงยุคที่มนุษย์มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก
ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนสภาพแผ่นดิน การเปลี่ยนเส้นทางหลักของแม่น้ำสำคัญ การล่าสัตว์และการประมง และที่สำคัญที่สุดคือการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลเข้าไปในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะกระทบกับความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกประเภท

ผลกระทบต่อมหาสมุทร
ทะเลและมหาสมุทรปกคลุมประมาณ 70% ของโลก และมันมีบทบาทสำคัญในการดูดซับและเปลี่ยนสภาพก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ
ในอดีตการเปลี่ยนสภาพนี้ค่อนข้างจะสมดุล แต่ปัจจุบันจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นมาก ทำให้จำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกดูดซับเข้าไปในทะเลมากกว่าที่มันโดนปล่อยออกมา ทำให้เกิด Ocean Acidification หรือ “ปรากฏการณ์ทะเลกรด”

วิธีวัดระดับความเป็นกรดของสารต่างๆคือการวัดค่า pH และถ้าต่ำกว่า 7 แปลว่าสารนั้นมีฤทธิ์เป็นกรด
ระดับ pH ของมหาสมุทรในปัจจุบันลดลงประมาณ 30% จากต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งหมายถึงมันมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น และระดับ pH คาดว่าน่าจะลดลงไปถึง 7.8 ภายในปลายศตวรรษนี้ ทำให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้น 150% กว่าก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ปรากฏการณ์ทะเลกรดเคยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว และมันมีความอันตรายอย่างมาก เพราะมันเปลี่ยนโครงสร้างของสารอาหารในมหาสมุทร ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดไม่สามารถหาอาหารได้ ซึ่งลดความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทร
เราเริ่มจะเห็นตัวอย่างของปรากฏการณ์นี้ได้ในเกาะ Castello Aragonese ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง Naples ประเทศอิตาลี

บนพื้นทะเลบริเวณเกาะ มีช่องที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลในอดีต และมันก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาแล้วเป็นเวลาหลายร้อยปี
นักวิทยาศาสตร์พบว่ายิ่งเข้าใกล้พื้นที่นี้ความเป็นกรดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตก็ลดลง ในบางพื้นที่มากถึง 1 ใน 3
อีกหนึ่งอย่างที่จะถูกกระทบอย่างมากคือหินพืดปะการัง
แนวปะการังนะครับยาวเหยียดอยู่ตรงช่วงกลางรอบโลก
ที่ยาวที่สุดคือ The Great Barrier Reef ที่อยู่ช่วงตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ที่มีความยาวถึง 1,500 ไมล์ และความหนาประมาณ 500 ฟุต

ยังมีแนวปะการังใต้น้ำขนาดใหญ่อีกในหลายพื้นที่ในมหาสมุทร
แนวปะการังนะครับมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหาอาหารสำหรับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลจำนวนมาก ซึ่งก็สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ปะการังของ The Great Barrier Reef ลดลงแล้วประมาณ 50% ใน 30 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะหยุดเติบโตและจะเริ่มสลายตัวในอีก 50 ปีข้างหน้า
ปรากฏการณ์ทะเลกรดยิ่งแย่ลงจากปัญหา climate change และนอกเหนือจากนั้นแล้ว การประมงก็ยังมีผลกระทบไม่น้อย ซึ่งทำให้ปะการังตกอยู่ในอันตรายต่อการสูญพันธุ์
การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลถูกปล่อยเข้าไปในชั้นบรรยากาศเร็วขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ซึ่งทำให้ปัญหา climate change แย่ลงเรื่อยๆ และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปมันก็เป็นไปได้สูงที่มนุษย์เราจะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งต่อไป
ความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต
เมื่อพูดถึงปัญหา climate change นะครับ คนส่วนมากคงคิดว่ามันจะกระทบกับพื้นที่ที่มีความเย็นซะส่วนใหญ่เพราะจะทำให้น้ำแข็งละลาย และจะกระทบกับสิ่งมีชีวิตในแถบนี้อย่างเช่นหมีขั้วโลกและเพนกวิน ซึ่งก็ถูกในระดับนึงนะครับเพราะว่า 30 ปีที่ผ่านมาน้ำแข็งในแถบ Arctic จำนวนมากได้ละลายลงแล้ว และอีก 30 ปีข้างหน้าอาจจะหายสาบสูญไปทั้งหมด
แต่นักวิจัยคิดว่าผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจะอยู่ในแถบ tropics หรือว่าในเขตร้อน เพราะเมื่อเปรียบเทียบแล้วความหลากหลายของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตในแถบเขตร้อนมีจำนวนมากกว่าในแถบเย็นเยอะกว่าหลายเท่า
เรากำลังเห็นปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแล้ว
ยกตัวอย่างนะครับ อุทยานแห่งชาติ Manu National Park ในประเทศเปรู ถูกยกย่องให้เป็นจุดสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ นก และสัตว์หลายประเภท

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอุทยานคือสิ่งมีชีวิตกำลังเคลื่อนย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยไประดับสูงขึ้นเรื่อยๆเพื่อหนีอุณหภูมิที่สูงขึ้น และจากการคำนวณโดยเฉลี่ยแล้วสิ่งมีชีวิตกำลังย้ายสูงขึ้นประมาณ 8 ฟุตต่อปี
โดยทั่วไปแล้วนะครับ หลายล้านปีที่ผ่านมาอุณหภูมิบนโลกมีความผันผวนและแกว่งไปมาเป็นช่วงๆ
แต่ในปัจจุบันอุณหภูมิบนโลกปรับสูงขึ้นเร็วขึ้นประมาณ 10 เท่าจากอดีต ซึ่งหมายความว่าสิ่งมีชีวิตจะต้องย้ายถิ่นฐานเร็วขึ้นเพื่อที่จะปรับตัวและอยู่รอด
ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ก็มีการโต้เถียงกันว่า สปีชีส์สิ่งมีชีวิตกี่ประเภทจะสูญพันธุ์ และเราก็ไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัด
แต่ที่แน่ๆคือมันจะเกิดผลกระทบแบบโดมิโน เพราะถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่ที่ถูกปกป้องอย่างเช่นอุทยานแห่งชาติ แต่มันก็อาจจะไม่สามารถประคับประคองสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานมาเพื่อหลีกเลี่ยงอุณหภูมิที่สูงขึ้น
อีกหนึ่งกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลกระทบสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโลก
จากการประมาณการนะครับ โลกเรามีพื้นที่ดินที่ไม่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งประมาณ 50 ล้านตารางไมล์ และมนุษย์เราก็แปรสภาพที่ดินไปแล้วเกินกว่าครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมือง สร้างถนน การตัดป่าไม้ หรือการขุดหาทรัพยากร

ผลกระทบก็คือ สิ่งมีชีวิตไม่สามารถย้ายถิ่นฐานได้ง่ายเพื่อความอยู่รอด และความสามารถในการสืบพันธุ์ก็ลดลงทำให้การสูญพันธุ์มีโอกาสเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีพื้นที่น้อยลงสปีชีส์สิ่งมีชีวิตก็จะสามารถฟื้นฟูจำนวนได้ยากหากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ
การแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิต
เราก็ได้พูดถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตที่มีผลกระทบสำคัญไปแล้วนะครับ แต่ในทางตรงข้ามถ้ามองอีกในแง่หนึ่งสิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์ก็กระจัดกระจายไปอยู่ในหลายหลายพื้นที่ของโลกทั้งๆที่ไม่ใช่เป็นถิ่นกำเนิดของมัน และเหตุผลหลักที่เกิดขึ้นได้ก็เป็นเพราะมนุษย์เราอีกนั่นแหละครับ
ในอดีตนะครับสิ่งมีชีวิตก็สามารถแพร่กระจายได้โดยธรรมชาติ แต่มันก็ยังถูกจำกัดโดยสิ่งกีดกั้นทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา แม่น้ำ หรือทะเล
ในปัจจุบันการพัฒนาด้านการขนส่งและการเดินทางทำให้หลากหลายพื้นที่เชื่อมต่อเข้าหากันได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งมีชีวิตหลายประเภทก็สามารถกระจายได้กว้างขวางขึ้น
ในส่วนมากการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร แต่ในบางกรณีมันไม่เพียงแต่แค่อยู่รอดได้แต่ยังสามารถสืบพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เหตุผลอาจจะเป็นเพราะมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และไม่มีคู่แข่งในการหาอาหาร จนทำให้มันสามารถครอบครองสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น
สปีชีส์สิ่งมีชีวิตประเภทนี้เรียกว่า invasive species หรือว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน“
ตัวอย่างที่ดีคืองูจากประเทศออสเตรเลียที่ถูกนำเข้าไปเกาะกวมโดยบังเอิญ ทำให้สปีชีส์นกหลายชนิดในท้องถิ่นเกือบสูญพันธุ์
ในขณะเดียวกันในบางกรณี มนุษย์เราก็จงใจนำสัตว์ประเภทใหม่เข้าไปในสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการย้ายถิ่นฐานหรือการค้าขาย
ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ ผลกระทบของการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิต คือสปีชีส์ท้องถิ่นจะมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น แต่ความหลากหลายทั่วโลกกลับลดลง เพราะเมื่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิดได้มีการพบปะกัน มันจะสร้างการแข่งขันในการอยู่รอดหรือไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะกลายเป็นเหยื่อ ซึ่งจากการสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์ คุณภาพและความซับซ้อนของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตบนโลกจะลดลงด้วยเช่นกัน
อนาคตของสิ่งมีชีวิต
ในทุกๆทวีปในอดีตนะครับ เคยมีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นช้างแมมมอธ แมวเขี้ยวดาบในทวีปอเมริกาเหนือ จิงโจ้ยักษ์ในทวีปออสเตรเลีย หรือกวางยักษ์ในยุโรป
ขนาดใหญ่ของสิ่งมีชีวิตก็เป็นข้อได้เปรียบ เพราะมันไม่ตกเป็นเหยื่อของใครได้ง่าย
แต่เมื่อมันพบปะกับมนุษย์ข้อได้เปรียบก็หมดลง เพราะเมื่อมันถูกล่าเป็นระยะเวลานาน และการที่มันไม่สามารถสืบพันธุ์ได้เร็วโดยธรรมชาติ ก็ทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่สูญพันธุ์ไปในที่สุด
สิ่งเดียวกันก็กำลังเปิดขึ้นในปัจจุบัน สัตว์ขนาดใหญ่หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นแรด ช้าง หรือหมี กำลังลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง
มันไม่ใช่แค่สัตว์ขนาดใหญ่อย่างเดียวนะครับ แต่สายพันธุ์มนุษย์ในอดีตอย่าง Homo Neanderthal ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ Homo Sapiens ในปัจจุบัน ก็อาจจะสูญพันธุ์โดยทางตรงหรือทางอ้อมเพราะเราด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะถูกมองว่าชอบทำลายล้างและไม่ค่อยมองการณ์ไกล แต่ในตอนนี้ก็มีความพยายามจากหลายหน่วยงานทั่วโลกในการอนุรักษ์สปีชีส์สิ่งมีชีวิตหลายประเภท
แต่ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะพยายามมากขนาดไหน มันก็ไม่เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าการที่มนุษย์เราอยู่บนโลกนี้ก็มีผลกระทบกับโลกเราในทางใดทางหนึ่ง และเราทุกคนก็มีส่วน
มันเป็นไปได้ที่การกระทำของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงโลก จะเป็นจุดจบของมนุษย์
และมันก็เป็นไปได้ที่ความเฉลียวฉลาดของเราจะช่วยให้เราอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของชั้นบรรยากาศ หรือการที่เราอาจจะย้ายไปอยู่ในดาวอื่น
แต่ถ้าเรามองภาพรวมที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง การทำให้มนุษย์เราอยู่รอดอาจจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นการกระทำของเราในการวางทิศทางของชีวิตบนโลกนี้ หลังจากที่เราและสิ่งที่เราสร้างไม่อยู่บนโลกนี้อีกต่อไป และมีสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นที่เข้ามาครองโลกแทนมนุษย์เรา
ยังมีอีกบางส่วนของหนังสือที่ผมไม่ได้พูดถึงนะครับ ถ้ามีโอกาสก็แนะนำให้ทุกท่านไปอ่านกันด้วยนะครับ
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากคลิปนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ
ถ้าคุณชอบการสรุปหนังสือของผม ก็ฝากกด like subscribe กดกระดิ่ง กดแชร์ และสนับสนุนช่องเพื่อให้ได้เดินหน้าต่อไปด้วยนะครับ
ผมขอให้ทุกคนมีความสุขมากนะครับ
แล้วพบกันใหม่คลิปหน้าครับขอบคุณและสวัสดีครับ
Pop BooksDD
—