คุณมีเรื่องอะไรที่ทำให้รู้สึกเสียใจบ้างไหมครับ?

เราทุกคนนะครับมีเรื่องบางเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตที่ทำให้เราเสียใจหรือเสียดาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เราทำลงไปหรือที่ไม่ได้ทำ และบ่อยครั้งเรื่องเหล่านี้อาจจะกระทบกับชีวิตของเราอย่างมาก

ในคลิปนี้ผมจะอธิบายการมองไปในอดีต เพื่อที่จะช่วยให้คุณเดินหน้าต่อไปในอนาคตได้

หนังสือที่จะมาสรุปให้ฟังวันนี้นะครับ The Power Of Regret เขียนโดย Daniel H. Pink

ณตอนนี้เล่มนี้ยังไม่มีแปลนะครับและชื่อหนังสือแปลตรงตรงคือ “พลังแห่งความเสียใจ

ผมเคยสรุปหนังสือของผู้เขียนไปแล้ว 2 เล่มนะครับ Drive และ To Sell Is Human

หนังสือเล่มนี้นะครับ จะอธิบายจิตวิทยาเบื้องหลังความเสียใจ และจะแนะนำกลยุทธ์ที่จะเปลี่ยนความรู้สึกเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์กับเราได้

มาฟังกันนะครับ

มุมมองของความรู้สึกเสียใจในสังคม

ในเช้าวันหนึ่งในปี 1888 นะครับ นักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมชาวสวีเดน Alfred Nobel ตื่นมาก็พบหัวข่าวว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งเป็นการทำข่าวผิดเพราะจริงๆแล้วพี่ชายเขาเป็นคนเสียชีวิต

หนังสือพิมพ์ก็เขียนหัวข่าวว่า “พ่อค้าความตายได้เสียชีวิตลงแล้ว”

Alfred Nobel นะครับก็เป็นคนประดิษฐ์ระเบิดไดนาไมท์และก็มีโรงงานผลิตทั่วโลก และเขาก็ถูกกล่าวหาว่าทำกำไรจากสงครามและความตายของคนอื่น

เขารู้สึกเสียใจอย่างมากเมื่อเห็นการให้ชื่อเล่นเขาอย่างนี้

หลังจากนั้น 8 ปีตอนที่เขาเสียชีวิตจริงๆ พินัยกรรมของเขาทำให้คนประหลาดใจอย่างมาก เพราะเขายกทรัพย์สินจำนวนมหาศาลในการก่อตั้งองค์กรที่ให้รางวัลกับบุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ ซึ่งก็คือรางวัลโนเบล

เรื่องนี้นะครับมันเหมือนกับว่า Alfred Nobel ได้มองไปเห็นอนาคตของตัวเองที่ทำให้เขารู้สึกเสียใจ และนั่นจึงผลักดันให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

คำว่า “regret” นะครับ ก็แปลว่าความรู้สึกเสียใจหรือเศร้าเสียดาย

ในสังคมปัจจุบันเราได้ยินคำว่า “no regret” อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องมองไปในอดีตและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และก็มีคนจำนวนมากที่แนะนำการใช้ชีวิตแบบนี้

แต่ความเป็นจริงแล้วมันอาจจะเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่

การที่คนบางคนบอกตัวเองว่าไม่เคยมีอะไรเสียใจอาจจะเป็นการเยียวยาให้เขาก้าวข้ามเหตุการณ์บางอย่างในอดีต ซึ่งมันก็อาจจะได้ผลบางครั้ง

แต่ปัญหาคือมันกีดกั้นไม่ให้เขาวิเคราะห์ตัวเองเพื่อสร้างความพึงพอใจที่แท้จริงในระยะยาว และมันเป็นไปได้หรือครับที่คนเราไม่เคยเสียใจอะไรเกี่ยวกับอดีตเลย

มนุษย์เรานะครับ มีทั้งอารมณ์ด้านบวกและลบ และแน่นอนว่าเราต้องการเน้นอารมณ์ด้านบวกให้มากที่สุด

แต่บ่อยครั้งคนเราละเลยอารมณ์ด้านลบไปเลยทั้งๆที่มันก็มีความสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราไม่รู้สึกกลัวแล้วเราจะรู้สึกกล้าได้อย่างไรครับ

ผู้เขียนเห็นว่าความเสียใจหรือเศร้าเสียดายไม่ได้เป็นสิ่งอันตรายหรือแปลกประหลาด แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตที่ช่วยให้เรามีความสมบูรณ์

ความเสียใจมันมีคุณค่าเพราะมันช่วยทำให้เห็นบางสิ่งบางอย่างชัดเจนขึ้น ช่วยสั่งสอนความผิดพลาด และถ้าปรับเปลี่ยนความคิดอย่างถูกต้องมันจะช่วยดึงเราขึ้นและช่วยให้เราเดินหน้าต่อไปได้

ความรู้สึกเสียใจทำให้เราเป็นมนุษย์

จากการสำรวจของผู้เขียนนะครับ เขาพบว่ามากกว่า 80% ของคนเราเคยคิดเสียใจหรือเสียดายเป็นบางครั้งบางคราเกี่ยวกับเรื่องในอดีต

มนุษย์เรานะครับมีพรสวรรค์อยู่ 2 อย่าง คือเราสามารถเดินทางข้ามเวลา และเราสามารถสร้างเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหัวสมองเราได้

ที่หมายถึงนะครับ เราสามารถกลับไปคิดถึงเรื่องอดีตและเปลี่ยนแปลงเรื่องราวและกลับมาจินตนาการปัจจุบันในรูปแบบใหม่ทั้งๆที่มันไม่ได้เกิดขึ้น และขั้นตอนความคิดนี้ก็เกิดขึ้นภายในเสี้ยววินาที

ยกตัวอย่างนะครับ ความคิดที่ว่า “ถ้าฉันรู้จักเก็บเงินในตอนนั้น ตอนนี้ก็คงมีเงินใช้มากกว่านี้”

สิ่งที่แยกแยะความรู้สึกเสียใจจากความผิดหวัง คือการเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่จินตนาการใหม่ และถ้าเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าจะควบคุมได้และมันเป็นความผิดของเราเอง มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกเสียใจหรือเสียดาย

ความคิดแบบนี้ของคนเราเป็นตัวอย่างของ counterfactual thinking หรือ”ความคิดย้อนแย้ง” ซึ่งเป็นการจินตนาการเหตุการณ์ในรูปแบบใหม่ และมันสามารถไปในทางบวกหรือลบก็ได้

ความคิดย้อนแย้งไปในทางลบเป็นการจินตนาการว่าผลลัพธ์อาจจะแย่กว่าที่เกิดขึ้นจริง

ยกตัวอย่างเช่น ความคิดที่ว่า “ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้คะแนนดี แต่อย่างน้อยเราก็สอบผ่านและไม่ต้องสอบอีก”

แนวคิดนี้เรียกว่าแนวคิดแบบ “อย่างน้อย” หรือภาษาอังกฤษ “at least

ในทางกลับกันนะครับ ความคิดย้อนแย้งไปในทางบวกเป็นการจินตนาการว่าผลลัพธ์อาจจะดีกว่าที่เกิดขึ้นจริง

ยกตัวอย่างเช่น ความคิดที่ว่า “ถ้าเพียงแค่เราอ่านหนังสือเยอะกว่านี้ เราก็อาจจะสอบได้คะแนนดีกว่านี้”

แนวคิดนี้เรียกว่าแนวคิดแบบ “ถ้าเพียงแค่” หรือภาษาอังกฤษ “if only”  

คำถามคือถ้าเราได้ทำอย่างที่คิดจริงๆ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นอย่างที่จินตนาการไว้หรือเปล่าล่ะครับ? อันนี้ก็ไม่สามารถบอกได้นะครับ และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้เราหยุดคิดไม่ได้

จาก 2 แนวคิดนี้มันฟังดูเหมือนว่าคนเราน่าจะชอบแนวคิดแบบ “อย่างน้อย” มากกว่าแนวคิดแบบ “ถ้าเพียงแค่” เพราะมันทำให้เรารู้สึกดีกว่า

แต่ความเป็นจริงแล้วแนวคิดแบบ “ถ้าเพียงแค่” อาจจะทำให้เรารู้สึกแย่ในตอนนี้ แต่มันสามารถปรับปรุงชีวิตเราได้ในอนาคต และความรู้สึกเสียใจหรือเสียดายก็สอดคล้องกับแนวคิดนี้

ประโยชน์ของความรู้สึกเสียใจ

ความรู้สึกเสียใจ สามารถสร้างประโยชน์ให้เราได้ 3 ประการ

ประโยชน์แรก คือมันจะผลักดันให้เราปรับปรุงการตัดสินใจ

เราทุกคนคงเคยเสียใจกับการตัดสินใจอะไรบางอย่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคงเป็นความคิดที่ว่าครั้งหน้าเราจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้ว และเราจะไตร่ตรองและรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์มากขึ้น และอาจจะชะลอการตัดสินใจเพื่อให้แน่ใจซะก่อน

ประโยชน์ที่ 2 คือมันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

ในงานวิจัยด้านจิตวิทยา เขาพบว่าการให้คนเราคำนึงถึงความรู้สึกเสียใจและเสียดายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จะช่วยสร้างความพยายามมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของการกระทำ

ประโยชน์ที่ 3 คือมันจะสร้างความหมายที่ลึกซึ้ง

การที่เรารู้สึกเสียใจเกี่ยวกับอะไรสักอย่างนะครับอาจจะช่วยให้เราไตร่ตรองว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตและผลักดันให้เราใส่ใจในเรื่องนั้นมากขึ้น

ถึงแม้ว่าความรู้สึกเสียใจจะมีประโยชน์ แต่วิธีรับมือกับมันก็สำคัญ

มันมี 3 มุมมองเกี่ยวกับความรู้สึกเสียใจ และมันจะชี้ว่าเราจะตอบโต้อย่างไร

อย่างแรก คือเราไม่ต้องสนใจอะไรกับมัน ซึ่งมันก็จะไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร

อย่างที่ 2 คือเราใส่ใจกับมัน ซึ่งก็ดีขึ้นมาหน่อย แต่ที่สำคัญคืออย่าหมกมุ่นมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้ยิ่งรู้สึกโศกเศร้าได้

อย่างที่ 3 คือเห็นว่าความรู้สึกมีไว้เพื่อให้คิดและไตร่ตรอง ซึ่งมุมมองนี้จะผลักดันการกระทำเพื่อให้ความรู้สึกเสียใจสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเราได้

4 ความเสียใจหลัก

ความรู้สึกเสียใจและเสียดายที่คนเรามีนะครับ ก็จะครอบคลุมหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องการงาน การศึกษา หรือการเงิน

แต่ทั้งหมดสามารถจัดได้เป็น 4 “ความเสียใจหลัก” หรือเรียกว่า “Core Regrets

ความรู้สึกเสียใจหลักแบบแรกคือ Foundation Regret หรือ “ความเสียใจด้านความมั่นคง

ความรู้สึกเสียใจในด้านนี้เกี่ยวกับความคิดที่ว่าเราขาดความรับผิดชอบหรือไม่ระมัดระวังเพียงพอจึงทำให้กระทบกับความเป็นอยู่ของเราในระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่นการใช้เงินฟุ่มเฟือยจนไม่มีเงินเก็บ การที่ไม่ตั้งใจเรียนทำให้ได้เกรดไม่ดี หรือการที่ไม่ดูแลสุขภาพทำให้เจ็บป่วยภายหลัง

ความรู้สึกเสียใจหลักแบบที่ 2 คือ Boldness Regret หรือ “ความเสียใจด้านความกล้าหาญ

ความรู้สึกเสียใจในด้านนี้เกี่ยวกับการที่เราไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะลงมือทำเมื่อมีโอกาสเข้ามาทำให้รู้สึกว่าเราพลาดโอกาส

ยกตัวอย่างเช่น การที่เราไม่กล้าลงมือทำธุรกิจเมื่อคิดว่ามีไอเดียที่ดี การที่เราไม่กล้าเข้าหาคนที่เราชอบ หรือการที่เราไม่กล้าตัดสินใจเรียนในสิ่งที่เรารัก

ความรู้สึกเสียใจด้านนี้มันอาจจะอยู่กับเราไปนานเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นซึ่งทำให้เราอดจินตนาการไม่ได้กับความเป็นไปได้

ความรู้สึกเสียใจหลักแบบที่ 3 คือ Moral Regret หรือ “ความเสียใจด้านศีลธรรม

ความรู้สึกเสียใจในด้านนี้เกี่ยวกับการที่เราทำผิดกับใครสักคนหนึ่ง ซึ่งมันผิดกับค่านิยมที่เรามี

ตัวอย่างที่ดีคือการนอกใจคนรัก การแกล้งผู้อื่น หรือการทำทุจริต

ความรู้สึกเสียใจหลักแบบที่ 4 คือ Connection Regret หรือ “ความเสียใจด้านความสัมพันธ์

ความรู้สึกเสียใจในด้านนี้เกี่ยวกับการที่เราละเลยการประคับประคองความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่เรารัก กับคนในครอบครัว กับเพื่อนฝูง หรือกับคนที่เคยมีบุญคุณกับเรา และเมื่อนานเข้าความสัมพันธ์อาจจะแย่ลง และถ้าหมดโอกาสที่จะแก้ไขก็ยิ่งทำให้เสียใจ

เมื่อเราเข้าใจพื้นฐานของความเสียใจในแต่ละรูปแบบเราก็จะสามารถปรับปรุงการกระทำของเราและแก้ไขได้

เปลี่ยนความเสียใจให้เป็นประโยชน์

วิธีตอบโต้ที่ดีที่สุดเกี่ยวกับความรู้สึกเสียใจในส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจกับสิ่งที่เราทำหรือเสียใจที่ไม่ได้ทำลงไป คือทำให้มันปรับปรุงอนาคตเราได้

เมื่อเรามองกลับไปในอดีตและตั้งจุดประสงค์ให้เราเดินไปข้างหน้า เราจะสามารถเปลี่ยนสภาพความเสียใจให้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงการตัดสินใจ การปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือการสร้างความหมายที่ลึกซึ้ง

โดยรวมแล้วนะครับคนส่วนมากต้องการจะแก้ไขสิ่งที่มาจากการกระทำของตัวเองที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะแน่นอนว่ามันยากที่จะแก้ไขความเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น

ในกรณีนี้ๆวิธีที่ง่ายที่สุดคือการยอมรับผิดและขอโทษกับสิ่งที่เราทำลงไป และถ้าอีกฝ่ายยกโทษให้ ความรู้สึกที่มันคาอยู่ในใจก็จะลดลง

แต่บางครั้งถึงเราพยายามแก้ไข มันก็อาจจะไม่ลบล้างสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด

ในที่นี้เราควรจะเปลี่ยนแนวคิดไปเป็นแบบ “อย่างน้อย” หรือว่า at least ที่พูดไปก่อนหน้านี้

อย่างเช่นนะครับ ถ้าคุณพยายามแก้ไขและขอโทษการกระทำของตัวเองแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล ก็คิดซะว่าอย่างน้อยคุณก็พยายามทำดีที่สุดแล้ว หรือไม่ถ้าคุณรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำงานในสิ่งที่คุณชอบก็ให้คิดซะว่าอย่างน้อยมันก็สร้างความมั่นคงให้ชีวิตคุณได้

3 ขั้นตอนเปลี่ยนความเสียใจให้สร้างประโยชน์

กลยุทธ์เบื้องต้นนี้อาจจะเป็นประโยชน์และทำได้เร็ว แต่มันก็อาจจะไม่ครอบคลุมความรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น

ผู้เขียนแนะนำ 3 ขั้นตอนเพื่อเปลี่ยนความเสียใจให้มันผลักดันการคิดและการกระทำที่จะสร้างประโยชน์ในอนาคต

ขั้นตอนแรกคือ Self-Disclosure หรือ “การเปิดเผยความรู้สึกเสียใจให้กับตัวเอง” ซึ่งเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เสียใจเพื่อบรรเทาความรู้สึกที่อยู่ข้างใน

จากงานวิจัยด้านจิตวิทยา การเปิดเผยความรู้สึกในด้านลบออกมา ไม่ว่าจะกับผู้อื่นหรือกับตัวเอง จะมีประโยชน์ทางด้านจิตใจและร่างกายอย่างมาก

เหตุผลเป็นเพราะมันเป็นการเปลี่ยนสภาพความรู้สึกจากอารมณ์มาเป็นความคิดที่ถูกจัดระเบียบ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจและเจาะจงได้ชัดเจนว่าปัญหาคืออะไร

ถ้าคุณไม่กลัวที่จะเปิดเผยความในใจของตัวเองให้คนอื่นฟังก็ทำเช่นนั้นได้ แต่หลายคนอาจรู้สึกไม่สบายใจซึ่งก็ไม่เป็นไรนะครับ เพราะคุณสามารถเปิดเผยความรู้สึกให้กับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบันทึก หรืออัดเสียงตัวเองเพื่อระบายความรู้สึก ซึ่งก็ควรทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 2 คือ Self-Compassion หรือ “การสร้างความเห็นอกเห็นใจให้กับตัวเอง” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนมุมมองให้เป็นกลาง

หลังจากที่คุณเปิดเผยความรู้สึกเสียใจออกมา คุณอาจจะมี 2 ทางเลือก คือต่อว่าตัวเองต่อไป หรือเห็นคุณค่าตัวเองเพื่อดึงตัวเองขึ้นมา

แต่ความเป็นจริงแล้วทั้งสองอย่างก็มีข้อเสีย เพราะถ้าต่อว่าตัวเองมากเกินไปอาจจะทำให้รู้สึกหมดหวัง และถ้าให้คุณค่าตัวเองมากเกินไปก็อาจจะสร้างอีโก้

การสร้างความเห็นอกเห็นใจให้กับตัวเองเป็นการเดินทางสายกลาง และสร้างความเข้าใจว่าเราก็เป็นมนุษย์ที่ทำผิดพลาดกันได้ ซึ่งก็เป็นการยอมรับความผิดและช่วยสร้างความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุง

ในขั้นตอนนี้คุณจะต้องคำนึงถึง 3 คำถาม

(1) ถ้าเพื่อนหรือคนในครอบครัวคุณมาเปิดเผยความรู้สึกเสียใจให้คุณฟัง คุณจะแสดงความเมตตาให้เขาหรือไม่? ถ้าใช่ก็ควรจะทำแบบเดียวกันกับตัวเอง

(2) สิ่งที่คุณรู้สึกเสียใจมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณคนเดียวหรือเปล่า? เพราะความเป็นจริงแล้วคนอื่นๆก็คงเคยรู้สึกเสียใจในเรื่องคล้ายๆกัน ซึ่งหมายความว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของการเป็นมนุษย์

(3) สิ่งที่คุณรู้สึกเสียใจมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่ววูบ หรือมันเป็นเอกลักษณ์ของตัวคุณ? ถ้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งเดียวก็ทำความเข้าใจกับมันและเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตัวคุณอาจจะต้องปรึกษากับคนอื่น

ขั้นตอนสุดท้ายนะครับคือ Self-Distancing หรือว่า “การออกห่างจากตัวเอง” ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์และวางแผน

ในตอนที่เรามีความรู้สึกด้านลบ บางคนอาจจะซึมซับตัวเองเข้าไปในอยู่ในความรู้สึกนั้น เพราะอาจจะต้องการเผชิญหน้ากับมันอย่างใกล้ชิดและซึ่งๆหน้า

แต่ปัญหาคือมันอาจจะทำให้เรามองไม่เห็นภาพใหญ่

วิธีที่ดีกว่าอาจจะเป็นการที่คุณดึงตัวเองออกมาและถอดออกจากความรู้สึกนั้น เปรียบเสมือนว่าคุณเป็นคนดูอยู่จากภายนอก

วิธีนี้จะช่วยให้คุณวิเคราะห์ความรู้สึกเสียใจอย่างเป็นกลาง ซึ่งคุณจะสามารถหาบทเรียนเพื่อเป็นการนำพาและปรับปรุงพฤติกรรมในอนาคต

มี 4 วิธีที่คุณสามารถทำได้ในขั้นตอนนี้

(1) ให้ลองจินตนาการว่าเพื่อนคุณรู้สึกเสียใจเรื่องเดียวกับคุณ คุณจะให้คำแนะนำกับเขาอย่างไร และคุณก็ควรทำตามคำแนะนำนั้น

(2) ให้คุณจินตนาการว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ความรู้สึกเสียใจ ในการวิเคราะห์ความรู้สึกอย่างปราศจากความรู้สึกใดๆ คุณจะให้การวินิจฉัยว่าอย่างไรและควรจะแก้ไขมันอย่างไร ให้คุณเขียนทั้งหมดออกมาเหมือนว่าคุณกำลังเขียนแนะนำให้กับตัวเอง

(3) ถ้าความรู้สึกเสียใจของคุณเกี่ยวกับด้านการงานหรือธุรกิจ ให้ลองคิดว่าถ้ามีคนใหม่เข้ามาแทนคุณ คุณคิดว่าเขาควรจะทำอะไรบ้าง?

(4) ให้ลองจินตนาการว่าอีก 10 ปีข้างหน้าคุณมองกลับมาและรู้สึกภูมิใจกับการที่คุณรับมือกับความรู้สึกเสียใจนี้ได้ดี คุณทำอะไรลงไปทำให้รู้สึกอย่างนั้นได้?

การคาดเดาความเสียใจ

กลยุทธ์ที่พูดไปแล้วนะครับเป็นการมองไปในอดีตเพื่อผลักดันให้เราเดินหน้า

แต่การคาดเดาไปในอนาคตว่าเราอาจจะรู้สึกเสียใจก็จะเป็นประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ในการคาดเดาความเสียใจเราจะต้องโฟกัสกับความเสียใจหลัก 4 ประเภทที่พูดไปก่อนหน้านี้

เมื่อมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับ 4 อย่างนี้คุณควรจะจินตนาการตัวเองในอนาคต 5 ปี 10 ปี หรือตอนที่แก่แล้ว และจากมุมมองนั้นให้ถามตัวเองว่าทางเลือกไหนจะช่วยให้คุณสร้างความมั่นคง จะช่วยให้คุณลองเสี่ยงได้อย่างสมเหตุสมผล จะช่วยให้คุณทำในสิ่งที่ถูกต้อง และจะช่วยให้คุณประคับประคองความสัมพันธ์ที่ดี

คุณจะต้องคาดเดาความเสียใจในแต่ละด้านนี้ และเลือกทางเลือกที่ลดความรู้สึกเสียใจให้ได้มากที่สุด

ท้ายสุด

ท้ายสุดนะครับ เราไม่ควรกลัวความรู้สึกเสียใจ เพราะถ้าเรารู้ว่าเราเสียใจในเรื่องไหนอย่างแท้จริง เราก็จะรู้ว่าเรื่องไหนมีคุณค่าในชีวิตของเรา

ความรู้สึกเสียใจ ถึงแม้ว่ามันจะซับซ้อนและลึกลับ แต่มันก็เป็นความรู้สึกส่วนหนึ่งของคนเรา ซึ่งถ้าเราทำความเข้าใจและรู้วิธีการทำประโยชน์ มันจะนำพาไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีในชีวิต  

ยังมีอีกบางส่วนของหนังสือที่ผมไม่ได้พูดถึงนะครับ ถ้ามีโอกาสก็แนะนำให้ทุกท่านไปอ่านกันด้วยนะครับ

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากคลิปนี้นะครับ

ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

ถ้าคุณชอบการรีวิวหนังสือของผม ก็ฝากกด like subscribe กดกระดิ่ง กดแชร์ และสนับสนุนช่องเพื่อให้ได้เดินหน้าต่อไปด้วยนะครับ

ผมขอให้ทุกคนมีความสุขมากๆนะครับ

แล้วพบกันใหม่คลิปหน้าครับขอบคุณและสวัสดีครับ

Pop BooksDD

—-