[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]

คนส่วนมากคิดว่าถ้าเราต้องการความสำเร็จเราจะต้องแข่งขันกับผู้อื่นและจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองด้วยทุกวิถีทาง แต่จากงานศึกษา ความคิดนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป

หนังสือที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้นะครับชื่อว่า Give And Take เขียนโดย Adam Grant

เล่มนี้จะมีการตีพิมพ์รอบใหม่ภายใต้ชื่อว่า “พลังแห่งการให้และรับ

Adam Grant นะครับก็เป็นศาสตราจารย์ที่ Wharton School University of Pennsylvania

ผมก็เคยรีวิวหนังสือของเขาไปแล้ว 2 เล่มนะครับ Originals และ Think Again ซึ่งก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่อาจารย์ชัชชาติแนะนำนะครับ ผมแนะนำให้ทุกท่านไปชมคลิปนั้นด้วยนะครับ

ในเล่มนี้นะครับ ผู้เขียนเสนอว่า “การให้” เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จได้มากกว่าที่คนส่วนมากคิดกัน

ผู้ให้ ผู้รับ ผู้แลกเปลี่ยน

ผู้เขียนได้แบ่งคนเราออกเป็น 3 ประเภทขึ้นอยู่กับมุมมองของการให้และรับ

Takers หรือว่า “ผู้รับ” เป็นคนที่ต้องการจะรับมากกว่าที่จะให้

คนประเภทนี้มองโลกว่าเป็น zero-sum game หรือเกมผลรวมศูนย์ ซึ่งหมายถึงถ้ามีคนได้ก็ต้องมีคนเสียและทุกอย่างเป็นการแข่งขัน พวกเขามีกลยุทธ์ที่จะช่วยคนอื่นต่อเมื่อพวกเขาจะได้อะไรกลับคืนมามากกว่า

Givers หรือว่า “ผู้ให้” เป็นคนที่เน้นการให้มากกว่ารับ

พวกเขาช่วยผู้อื่นเพราะต้องการให้ประโยชน์กับคนอื่นจริงๆ ถึงแม้ว่าในบางครั้งอาจจะทำให้ตัวเองเสียผลประโยชน์

คนประเภทสุดท้ายนะครับคือ Matchers หรือ “ผู้แลกเปลี่ยน” เป็นคนที่เน้นการให้และรับอย่างเท่าเทียมกัน

มันไม่ใช่ว่าคนเราเป็นแบบไหนก็จะเป็นแบบนั้นเลยนะครับ เพราะในแต่ละสถานการณ์คนเราก็อาจจะมีการปฏิบัติที่เปลี่ยนไป

อย่างเช่นภายในครอบครัวและเพื่อนฝูงเราอาจจะเป็น giver แต่ในด้านการงานเราอาจจะเป็น matcher มากกว่า

จากการศึกษา ผู้เขียนพบว่าในด้านการงานกลุ่มคนที่มีประสิทธิภาพต่ำสุดมีแนวโน้มที่จะเป็นประเภท giver ซะเป็นส่วนใหญ่เพราะพวกเขาอาจจะช่วยผู้อื่นมากเกินไปจนมีผลกระทบกับงานการของตัวเอง

แต่ที่น่าสนใจนะครับ เขายังพบอีกว่ากลุ่มคนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดก็มีแนวโน้มที่จะเป็นประเภท giver ด้วยเช่นกัน

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เจาะจงนะครับ แต่เห็นได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม

ถ้าโลกเราเป็นแบบ zero-sum game การให้นั้นก็ไม่มีประโยชน์

แต่ความเป็นจริงแล้วโลกเรามีความซับซ้อน และผลลัพธ์ของการให้อาจจะไม่ได้เห็นทันทีและมันเป็นการสร้างความปรารถนาดีไปเรื่อยๆจนมันเป็นวงจรที่อาจจะกลับมาหาเราได้อนาคต

ยกตัวอย่างนะครับเขาพบว่านักศึกษาการแพทย์ที่จัดว่าเป็นประเภท giver จะได้เกรดต่ำกว่าในช่วงปีแรกๆ เพราะการช่วยผู้อื่นอาจจะกระทบกับการเรียนของพวกเขา

แต่ในปีหลังๆพวกเขากลับทำได้ดีกว่าเพราะในการฝึกภาคปฏิบัติจะต้องร่วมมือกับผู้อื่นมากขึ้น และพวกเขาอาจจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ถึงแม้ว่าในทุกๆวัฒนธรรม คนส่วนมากเห็นว่าการให้เป็นค่านิยมที่สำคัญกว่าอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นอำนาจหรือเงินทอง แต่ในด้านการงาน คนที่เป็นผู้ให้กลับต้องการปิดบังลักษณะนี้ของตัวเองเพราะคิดว่ามันเป็นการแสดงความอ่อนแอ

ในบริบทนี้คนเราจึงเน้นการคนประเภท matcher ซะมากกว่าจึงทำให้การกระทำเช่นนี้เป็นที่ยอมรับกัน

คนเรานะครับไม่มีใครอยากจะถูกเอาเปรียบ และจากการทดลองด้านจิตวิทยาคนส่วนมากยอมที่จะเสียผลประโยชน์เพื่อที่จะลงโทษคนที่เอาเปรียบผู้อื่น และในเมื่อคนส่วนมากเป็นประเภท matcher พวกเขาก็จะยิ่งแบ่งปันข้อมูลเพื่อที่จะหยุดยั้งการเอาเปรียบของคนประเภท taker

สิ่งที่เราต้องการนะครับก็คือการเป็นผู้ให้แบบที่ไม่โดนเอาเปรียบและไม่กระทบกับประโยชน์ของตัวเอง

ผู้ให้สร้าง connection ได้ดีกว่า

ผู้เขียนเห็นว่าคนประเภท giver จะสามารถสร้าง connection ได้ดีกว่า

เหตุผลหลักคืออนาคตมันไม่แน่นอน คนที่พวกเขาช่วยเหลือในวันนี้อาจจะกลายเป็นคนที่สามารถช่วยพวกเขาได้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามอาจจะเป็นคนที่ช่วยได้มากที่สุดก็เป็นไปได้ และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วจะซาบซึ้งกับการให้

ในทางกลับกันนะครับคนประเภท taker และ matcher จะเน้นการช่วยเหลือคนที่สามารถช่วยพวกเขากลับได้เท่านั้น

แต่ปัญหาก็คือคนอื่นๆอาจจะคิดว่าพวกเขาได้รับการช่วยเหลือเพราะอีกฝ่ายต้องการอะไรกลับคืนจึงทำให้การช่วยเหลือดูเหมือนกับการแลกเปลี่ยนมากกว่าการช่วยเหลือที่มีความหมาย

นอกเหนือจากนั้นแล้ว taker และ matcher ยังมี connection ที่จำกัด เพราะถ้าใครที่พวกเขาคิดว่าอาจจะไม่เป็นประโยชน์เขาก็คงจะไม่สนใจ

Connection ของคนเรานะครับก็จะแบ่งเป็น 3 ประเภท

(1) Strong ties หรือความสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้น คือกลุ่มที่เรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิด อย่างเช่นเพื่อนฝูงและเพื่อนทำงาน

คนกลุ่มนี้จะสร้างโอกาสให้เราน้อยเพราะข้อมูลและคนที่เขารู้จัก เราก็น่าจะรู้อยู่แล้ว

(2) Weak ties หรือความสัมพันธ์แบบผิวเผิน คือกลุ่มที่เรามีความสัมพันธ์แบบห่างๆ อย่างเช่นคนที่รู้จักแต่ไม่ค่อยได้พบปะกัน

คนกลุ่มนี้อาจจะสร้างโอกาสให้เราได้เพราะอาจจะรู้จักคนหรือข้อมูลที่เราไม่รู้

(3) Dormant ties หรือความสัมพันธ์แบบนิ่งเฉย คือคนที่เราเคยสนิทแต่อาจจะขาดการติดต่อ

คนกลุ่มสุดท้ายนี้นะครับอาจจะสร้างโอกาสให้เราได้อย่างมากเพราะเขาอาจจะไปพบปะกับผู้คนหรือมีประสบการณ์ใหม่ๆที่เราไม่รู้มาก่อน และคนประเภท giver จะสามารถได้ประโยชน์เพราะในอดีตก็คงได้เคยสร้างความผูกพันที่ดีไว้แล้วจึงไม่ยากนักที่จะรื้อฟื้น

ในขณะที่คนประเภท taker และ matcher ก็อาจจะมีคนรู้จักที่ขาดการติดต่อ แต่การรู้จักกันในอดีตอาจจะเป็นแค่การแลกเปลี่ยนและไม่ได้มีความหมายจึงอาจจะสานต่อได้ลำบาก

ผู้ให้ประสานงานได้ดีกว่า

ในสังคมปัจจุบันนะครับ หลายคนมองว่าการที่ไม่ต้องพึ่งพาใครนั้นเป็นจุดแข็ง และการร่วมมือกันนั้นเป็นจุดอ่อน

มีการศึกษาอยู่ชิ้นนึงนะครับที่ดูประสิทธิภาพของนักวิเคราะห์การเงินตัวท็อปเมื่อถูกดึงตัวไปทำงานที่ธนาคารใหม่

เขาพบว่าโอกาสที่นักวิเคราะห์คนนี้จะยังเป็นตัวท็อปนั้นลดลงถ้าย้ายเพียงคนเดียว แต่ถ้าย้ายกันเป็นทีมเขาก็ยังมีโอกาสเท่าเดิมที่จะมีผลงานโดดเด่น

ฉะนั้นไม่ว่าใครจะเก่งขนาดไหน เขาก็ยังต้องพึ่งคนรอบข้างที่ต้องร่วมมือกัน

บ่อยครั้งคนประเภท taker นะครับ จะยึดความสำเร็จของกลุ่มเป็นของตัวเอง และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้เครดิตกับคนอื่น

เขาอาจจะเป็นคนที่มีความสามารถมากกว่าคนอื่นก็เป็นไปได้ แต่ท้ายสุดแล้วเขาก็ไม่ได้มีอิทธิพลกับความสำเร็จของคนอื่นในอนาคต

มันอาจจะไม่ใช่เพราะอีโก้เสมอไป แต่อาจจะเป็นเพราะเขาไม่รู้จริงๆว่าคนอื่นๆมีส่วนช่วยอย่างไร

ในทางกลับกันคนประเภท giver เห็นว่าเป้าหมายของกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นจะต้องมีการร่วมมือกันจากคนหลากหลาย เขาจึงอาจจะยอมทำสิ่งที่ได้ผลประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุด

ยิ่งสมาชิกในกลุ่มเป็นผู้ให้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะคนที่เป็น taker ในกลุ่มจะไม่รู้สึกต้องแข่งขัน และคนที่เป็น matcher ในกลุ่มจะรู้สึกต้องให้คืน ทำให้คนในกลุ่มทั้งหมดเปิดรับและแบ่งปันมากขึ้น

ผู้ให้กับศักยภาพที่แอบแฝง

อย่างที่บอกนะครับคนประเภท taker และ matcher จะไม่ค่อยสนใจคนที่ไม่มีประโยชน์กับพวกเขา จึงอาจจะมองข้ามคนที่มีคุณค่าแอบแฝงอยู่

ในขณะที่คนประเภท giver จะช่วยเหลือโดยที่ไม่หวังอะไรตอบแทน

มันมีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า The Pygmalion Effect คือการมีความคาดหวังหรือความเชื่อในตัวใครสักคนหนึ่งจะทำให้คนๆนั้นมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ปรากฏการณ์นี้นะครับก็มีการทำการทดลองทั้งในสภาพแวดล้อมการงานและการศึกษา

ในการทดลองเขาสุ่มเลือกคนมากลุ่มหนึ่งและเรียกกลุ่มนี้ว่ามีศักยภาพสูง

สิ่งที่พบคือเมื่อผ่านไปสักพักคนกลุ่มนี้ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงๆ

เหตุผลหลักก็คือเมื่อคนอื่นๆเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงก็จะปฏิบัติกับพวกเขาดีเป็นพิเศษและให้โอกาสพวกเขามากขึ้น

ในทางตรงข้ามกลุ่มที่ถูกเรียกว่ามีศักยภาพต่ำก็มีประสิทธิภาพลดลงเพราะคนอื่นๆไม่ใส่ใจ

เมื่อคนประเภท taker พบปะกับคนที่มีศักยภาพสูง เขาอาจจะเห็นว่าเป็นคู่แข่งและจะไม่เปิดใจที่จะช่วยเหลือ และคนที่มีศักยภาพต่ำก็ไม่อยู่ในสายตาของพวกเขาอยู่แล้ว

คนประเภท matcher อาจจะสนับสนุนคนที่มีศักยภาพสูงเพราะคิดว่าอาจจะได้ประโยชน์กลับคืนในอนาคต แต่ก็ยังอาจจะมองข้ามคนที่ศักยภาพต่ำ

ในทางตรงข้ามคนประเภท giver มีโอกาสที่จะผลักดันคนที่มีศักยภาพแอบแฝงได้มากที่สุด เพราะพวกเขาไม่ได้หวังผลประโยชน์และจะช่วยเหลืออย่างกว้างขวาง

เหตุผลที่คนประเภท taker และ matcher มองข้ามคนที่มีศักยภาพแอบแฝงคือเขาต้องการได้ประโยชน์ตอนนี้เลยและไม่ได้คำนึงถึง grit หรือความทรหดอดทนของคนบางคนในการพัฒนาตัวเองที่อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งและจำเป็นต้องมีความทะนุถนอมซึ่งเป็นจุดแข็งของคนประเภท giver

แน่นอนว่าคนประเภท giver ก็ไม่ได้ถูกเสมอไปเพราะคนบางคนก็ไม่ได้มีศักยภาพที่แอบแฝงจริงๆ ฉะนั้นเราต้องรู้จักการหลีกเลี่ยงการผูกมัดที่มากเกินไป

บ่อยครั้งการเพิ่มการผูกมัดไปกับสิ่งที่ดูแล้วอาจจะไม่เวิร์คมันไม่มีผลดีกับกลุ่ม

คนประเภท taker มีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดและจะเดินหน้าต่อไปถึงแม้ว่ามันจะไม่เวิร์คและสุดท้ายก็อาจจะล้มเหลว

ในขณะที่คนประเภท giver จะตั้งผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นหลักและจะเปิดรับ feedback มากกว่า และจะยอมรับเมื่อตัวเองผิด

การสื่อสารอย่างไร้พลัง

การสื่อสารนะครับสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

Powerful communication หรือการสื่อสารแบบใช้พลัง เป็นการสื่อสารที่ใช้คำสั่งและต้องการอยู่เหนือผู้อื่น ง่ายๆให้นึกถึงทหารที่ออกคำสั่งกับลูกน้อง

คนประเภท taker จะมีแนวโน้มใช้การสื่อสารประเภทนี้ และอาจจะไม่แบ่งปันข้อมูลอย่างทั่วถึงเพราะกลัวการแข่งขัน

ในทางตรงข้ามคนประเภท giver จะใช้การสื่อสารประเภทที่เรียกว่า Powerless communication หรือการสื่อสารแบบไร้พลัง ซึ่งเป็นการสื่อสารโดยใช้การเปิดรับ จะไม่พยายามอยู่เหนือผู้อื่น และกล้าเปิดเผยความไม่แน่ใจ ให้ลองนึกถึงอาจารย์ที่สนับสนุนให้นักเรียนหารือกันในห้องเรียน

โดยรวมแล้วนะครับคนเราไม่ชอบที่จะถูกสั่งหรือถูกบงการจึงทำให้การสื่อสารแบบใช้พลังนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่การสื่อสารแบบไร้พลังจะทำให้คนไม่รู้สึกมีอคติจึงทำให้เข้าถึงคนอื่นได้ง่ายกว่า

ผู้เขียนได้เล่าถึงประสบการณ์ตอนที่เขาได้ไปนำเสนอต่อหน้าเหล่านายพลระดับสูง

สิ่งแรกที่เขาพูดคือ “ผมรู้ว่าพวกคุณคิดอะไรอยู่ พวกคุณจะมาเรียนรู้อะไรจากศาสตราจารย์ที่หน้าเด็กอย่างผมได้”

ประโยคนี้ทำให้เหล่านายพลลดการ์ดลงมาและเปิดรับกับสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะพูด

ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ การขาย หรือการโน้มน้าว มันสำคัญที่จะต้องเจาะจงไปที่ฝ่ายตรงข้ามโดยการถามคำถาม ขอคำแนะนำ และเปิดรับความคิดเห็น เพื่อที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน

การให้อย่างมีประสิทธิภาพ

มันมีการเข้าใจผิดนะครับที่ว่าถ้าเราใส่ใจผลประโยชน์ของตัวเองเราจะไม่สามารถใส่ใจผลประโยชน์ของผู้อื่นได้ เพราะจริงๆแล้วทั้งสองอย่างมันไม่ได้มีผลต่อกันและกัน

ให้ลองดูตารางนี้นะครับ

แนวตั้งแบ่งเป็นความใส่ใจในผลประโยชน์ของตัวเอง และแนวราบคือความใส่ใจในผลประโยชน์ของผู้อื่น

กลุ่มแรกนะครับ คือคนที่ใส่ใจในผลประโยชน์ของตัวเองต่ำและของผู้อื่นต่ำ เรียกว่าเป็นคนประเภทไม่สนใจอะไร

ลงมานะครับเป็นคนที่ใส่ใจในผลประโยชน์ตัวเองสูงกว่าของคนอื่นซึ่งเป็นคนประเภท taker

สำหรับกลุ่มคนที่ใส่ใจผลประโยชน์ของผู้อื่นสูงกว่าของตัวเองเรียกว่าเป็นคนประเภท giver แบบเสียสละ

สุดท้ายนะครับคือกลุ่มคนที่ใส่ใจผลประโยชน์ของผู้อื่นและของตัวเองสูงเท่าเทียมกัน เรียกว่าเป็นคนประเภท giver ที่ประสบความสำเร็จ

กลุ่มสุดท้ายนี้เป็นกลุ่มที่ผู้เขียนแนะนำว่าเป็นกลุ่มที่ควรจะเป็นเพราะถึงเราจะใส่ใจกับการช่วยเหลือผู้อื่นแต่ช่วยอย่างไม่มีหลักการอาจจะทำได้ไม่ยั่งยืน

ฉะนั้นเราต้องระมัดระวังไม่ให้มันกระทบกับผลประโยชน์ของตัวเอง และควรเลือกที่จะช่วยผู้อื่นอย่างถูกต้องและช่วยคนที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ

หลีกเลี่ยงความเหนื่อยล้า

คนประเภท giver นะครับก็มีความเสี่ยงในการประสบกับความเหนื่อยล้า โดยเฉพาะถ้าช่วยเหลือคนอื่นแล้วไม่เห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน

ฉะนั้นนะครับการทำให้ผลลัพธ์เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นอาจจะผลักดันการให้ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นธนาคาร Wells Fargo ในสหรัฐได้อัดวีดีโอลูกค้าที่อธิบายว่าพวกเขาได้ผลประโยชน์อย่างไรกับการได้รับเงินกู้ ซึ่งทำให้พนักงานเห็นผลกระทบของการอนุมัติเงินกู้

อีกอย่างนึงนะครับการให้ที่มีประสิทธิภาพจะต้องไม่เป็นการบังคับ และเมื่อทำแล้วควรให้ความรู้สึกที่ดี

คัดกรองคนที่จะช่วย

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคืออย่าให้มากเกินไปจนทุกคนเอาเปรียบ

ปัจจัยสำคัญคือจะต้องแยกแยะระหว่างคนที่เป็นคนให้จริงๆและคนที่แกล้งทำ

มันอาจจะไม่ได้ทำกันง่ายนะครับ แต่โดยรวมแล้วคนประเภท giver จะตระหนักถึงความรู้สึกของคนอื่นได้มากกว่า และอาจทำให้อีกฝ่ายลดการ์ดลงทำให้เห็นพฤติกรรมที่แท้จริง

แน่นอนว่าถ้าพบปะกับคนประเภท taker ครั้งแรกก็อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่บางครั้งเราอาจจะรู้จักกับคนประเภทนี้อยู่แล้วทำให้หลีกเลี่ยงได้ยาก

ในกรณีนี้อาจจะต้องใช้กลยุทธ์ยื่นหมูยื่นแมว คือถ้าอีกฝ่ายทำดีมาเราก็ทำดีกลับ แต่ถ้าเขาเริ่มต้องการแข่งขันเราก็ทำแบบเดียวกัน

จะดีกว่านั้นขึ้นไปอีกก็คือให้อภัยอีกฝ่ายเป็นช่วงๆ เพราะอีกฝ่ายอาจจะไม่ได้ตั้งใจจริงๆ และไม่แน่ว่าถ้าเราให้โอกาสเขามากขึ้นเขาอาจจะทำสิ่งที่ดีที่ทำให้เราแปลกใจก็เป็นไปได้

ใช้การให้ในการเจรจา

อีกหนึ่งข้อบกพร่องของคนประเภท giver นะครับ คือการหลีกเลี่ยงการเจรจาเพื่อให้ประโยชน์กับตัวเองเพราะเกรงใจอีกฝ่าย

จากการสำรวจพบว่าคนประเภท giver ได้รายได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นประมาณ 7,000 เหรียญดอลลาร์

กลยุทธ์ที่ทำได้คือให้คิดว่าตัวเราเป็น agent ในการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่นโดยเฉพาะคนที่มีความสำคัญในชีวิตเรา

ในการทดลองนะครับเขาให้ผู้บริหารผู้ชายและผู้หญิงเจรจาเงินเดือนตอนได้เลื่อนตำแหน่ง ผลลัพธ์ที่ได้คือผู้บริหารผู้ชายเจรจาได้เงินเดือนสูงกว่าผู้หญิง นี่อาจจะเป็นเพราะว่าผู้บริหารผู้ชายกล้าที่จะยื่นข้อเสนอมากกว่า

แต่เมื่อบอกผู้บริหารผู้หญิงว่าให้ลองจินตนาการว่าเขาเป็นตัวแทนเจรจาเงินเดือนให้กับคนใกล้ชิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินเดือนที่เจรจาได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

Mindset แบบการให้ในการเจรจาที่ดี คือต้องเข้าใจว่าการที่เราได้ ไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเสีย

อย่างตัวอย่างการเจรจาเงินเดือน ถึงเราเจรจาเพิ่มเงินเดือนได้สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะสูญเสีย เพราะมันอาจจะเป็นการที่บริษัทให้คุณค่าที่เหมาะสมกับบทบาทของตัวเรา

จัดสภาพแวดล้อมกับการให้

กลยุทธ์สุดท้ายที่ทำให้การให้มีประสิทธิภาพคือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่แม้กระทั่งคนที่เป็นประเภท taker ยังต้องการให้

โดยทั่วไปแล้วนะครับ ถ้าเรารู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกับใครสักคนหนึ่ง เราก็จะมีแนวโน้มที่จะช่วยและให้คนๆนั้นมากขึ้น

อย่างที่เห็นในสังคมนะครับ คนที่มีลักษณะเดียวกัน มีความชอบเดียวกัน หรือทำอะไรเหมือนกันก็จะเกาะกลุ่มกัน และยิ่งกลุ่มนั้นมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และหายากก็จะยิ่งทำให้คนในกลุ่มรู้สึกมากขึ้น

ถ้าเราสามารถสร้างแหล่งทำงาน การศึกษา หรือสังคมทั่วไปที่ให้เห็นการให้เป็นเรื่องธรรมดา มันก็อาจจะผลักดันการให้ได้เพิ่มมากขึ้นเพราะบางคนเป็นคนประเภท giver อยู่แล้วแต่อาจจะไม่ได้แสดงตัวออกมา หรือคนประเภท taker เมื่อเริ่มให้แล้วก็อาจจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาและก็ให้ต่อไป

ยกตัวอย่างนะครับ มีเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Freecycle ที่เป็นชุมชนให้ของฟรีที่ตัวเองไม่ใช้แล้ว

มันดูเหมือนเป็นสภาพแวดล้อมที่คนประเภท taker สามารถเอาเปรียบผู้อื่นได้โดยการรับของฟรีอย่างเดียวและไม่ต้องให้อะไรคืน

แต่สิ่งที่พบคือในช่วงแรกหลายคนก็เป็นคนรับของฟรีซะเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มจะให้กลับคืนเพราะอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ไปแล้ว

ท้ายสุด

ท้ายสุดนะครับ การที่เราจะประสบความสำเร็จมันไม่จำเป็นที่จะต้องเอาเปรียบผู้อื่น และการให้และช่วยเหลือก็เป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จได้ด้วยเช่นกัน

ในสังคมปัจจุบันที่ต้องมีการประสานงานในหลากหลายรูปแบบบวกกับโลกของอินเทอร์เน็ต ทำให้คนประเภทผู้ให้เป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้น

ฉะนั้นนะครับเราอย่ากลัวที่จะช่วยเหลือและให้ผู้อื่น เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะกลับมาหาเราในทางไหนบ้าง และมันก็ยังเป็นค่านิยมที่น่าชื่นชมที่อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมโดยรวม

ยังมีอีกบางส่วนของหนังสือที่ผมไม่ได้พูดถึงนะครับ ถ้ามีโอกาสก็แนะนำให้ทุกท่านไปอ่านกันด้วยนะครับ

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากคลิปนี้นะครับ

ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

ถ้าคุณชอบการรีวิวหนังสือของผม ก็ฝากกด like subscribe กดกระดิ่ง กดแชร์ และสนับสนุนช่องเพื่อให้ได้เดินหน้าต่อไปด้วยนะครับ

ผมขอให้ทุกคนมีความสุขมากๆนะครับ

แล้วพบกันใหม่คลิปหน้าครับขอบคุณและสวัสดีครับ

Pop (ป๊อป) BooksDD

—-