เราปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าระบบทุนนิยมได้สร้างความรุ่งเรืองให้กับโลกเราอย่างมาก และนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองทั่วโลกก็สนับสนุนระบบนี้ แต่การที่ระบบทุนนิยมดำเนินหน้าโดยไม่ถูกควบคุม ทำให้สังคมต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของความเหลื่อมล้ำที่ดูเหมือนจะแย่ลงทุกวันทุกวัน โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิดและปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ยิ่งทำให้เห็นปัญหานี้อย่างชัดเจนมากขึ้นไปอีก
ในคลิปนี้ผมจะเล่าถึงประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ของความเหลื่อมล้ำเพื่อดูว่ามันกำลังไปทิศทางไหนนะครับ
หนังสือที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้นะครับชื่อว่า Capital In The Twenty-First Century หรือชื่อฉบับแปลไทย “ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21“
ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์ที่ London School of Economics ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า Thomas Piketty

หนังสือเล่มนี้ก็จะพยายามอธิบายความเหลื่อมล้ำโดยใช้ data ที่ครอบคลุมเป็นร้อยปีของหลายประเทศ และก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่มีการโต้เถียงกันอย่างมากในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบาย
เรามาเริ่มกันเลยครับ
ความคิดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ
ในช่วงยุค 50 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อว่า Simon Kuznets ได้กล่าวว่าระบบทุนนิยมนั้นจะสร้างความเหลื่อมล้ำในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นความก้าวหน้าและการพัฒนาจะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงมาด้วยตัวมันเองโดยที่ไม่ต้องมีการแทรกแซงทางนโยบาย ตัวเขาเองก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1971

ถึงแม้ว่าในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 สังคมดูเหมือนจะมีความเท่าเทียมมากขึ้นก็จริง แต่ตั้งแต่ยุค 1970 ความเหลื่อมล้ำกลับเริ่มจะแย่ลง
ปัจจุบันในหลายประเทศ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของประชากร มีทรัพย์สินมากกว่า 50% ของทั้งหมดในประเทศ
ผู้เขียนเห็นว่าถ้าจะให้ระบบเกิดผลประโยชน์สูงสุดอาจจะต้องมีการแทรกแซงทางนโยบาย
การศึกษาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันมีขั้นตอนการวิเคราะห์และรวบรวม data ได้ซับซ้อนขึ้น ซึ่งทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต
สิ่งที่เขาค้นพบจากการศึกษาคือ ความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ได้มาจากปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่ปัจจัยทางการเมืองก็สำคัญ
ผู้เขียนได้บ่งบอกถึงปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงและเพิ่มขึ้น
การแพร่กระจายของความรู้และทักษะเป็นปัจจัยสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ

ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นและเป็นจุดศูนย์กลางของหนังสือ คือการที่อัตราผลตอบแทนของทุนหรือทรัพย์สินนั้นสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมมาโดยตลอด ซึ่งผู้เขียนได้เสนอในรูปแบบ r > g (return of capital > growth rate of the economy)

ผลลัพธ์ที่ได้จากปรากฏการณ์นี้คือคนที่มีทรัพย์สินอยู่แล้วจะสามารถสะสมทรัพย์สินเพิ่มขึ้นได้เร็วกว่าคนทั่วไป และทรัพย์สินก็จะตกไปอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย
เขาเตือนว่าถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 จะหวนกลับไปเหมือนยุคที่สังคมถูกครอบครองโดยกลุ่มคนที่สะสมทรัพย์สินมาตั้งแต่ในอดีตและส่งต่อให้กับลูกหลานตัวเองต่อๆไปในรูปแบบมรดก ซึ่งจะทำให้มีโอกาสน้อยลงในการยกระดับชนชั้นสำหรับคนทั่วไป
โดยธรรมชาติแล้วความเหลื่อมล้ำในระดับหนึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะมันผลักดันให้คนมีความทะเยอทะยานและเกิดการแข่งขัน
แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อความเหลื่อมล้ำมันสุดโต่งเกินไปจนทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับระบบได้ และถ้าพูดถึงทางด้านจิตใจมันก็ทำให้พวกเขารู้สึกหมดความหวัง และอาจจะเปิดหนทางให้คนบางคนเข้ามาฉวยโอกาสในการปลุกระดมผู้คน และอาจทำให้ระบบประชาธิปไตยถูกกระทบ และนำไปสู่ความไม่สงบในสังคม

นิยามของ “ทุน” และ “รายได้“
ผู้เขียนได้ให้นิยามเกี่ยวกับแนวคิดสำคัญที่จะพูดถึง
Capital หรือว่า “ทุน” ที่หนังสือพูดถึงหมายถึงทรัพย์สินที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนและที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเจ้าของได้ ซึ่งรวมไปถึงสิ่งที่จับต้องได้อย่างเช่นเงินสด อสังหาริมทรัพย์ หรือโรงงาน หรือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างเช่นหุ้น พันธบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา และที่สำคัญคือทรัพย์สินในที่นี้จะไม่รวมถึงทรัพยากรมนุษย์
ผมจะใช้คำว่าทรัพย์สินหรือทุนเพื่อสื่อความหมายนี้ตลอดทั้งคลิปนะครับ

National capital หรือว่า “ทรัพย์สินประเทศ” เป็นทรัพย์สินของราษฎรบวกกับทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินทั้งหมดภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรการผลิต และรวมไปถึงทรัพย์สินสุทธิที่อยู่ในต่างประเทศที่คนในประเทศและรัฐเป็นเจ้าของ

Capital income หรือว่า “รายได้จากทรัพย์สิน” คือรายได้ที่มาจากตัวทรัพย์สินโดยตรงอย่างเช่นดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือเงินปันผล

National income หรือว่า “รายได้ประเทศ” หมายถึงรายได้ทั้งหมดของราษฎรในประเทศในแต่ละปี
รายได้ประเทศก็แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมาจาก labour income หรือ “รายได้จากการทำงาน” และส่วนที่ 2 มาจาก capital income หรือ “รายได้จากทรัพย์สิน” ที่พูดไปแล้ว
รายได้ของประเทศแตกต่างจาก GDP ตรงที่ว่ามันจะนับค่าเสื่อมเสียของทรัพย์สินและรายได้สุทธิจากต่างประเทศเข้าไปด้วย

ถ้ามองง่ายๆนะครับ capital คือจำนวนทรัพย์สินที่ถูกสะสมมาจากอดีต และ national income เป็นสภาพคล่องที่เกิดขึ้นปัจจุบันในแต่ละปี
ถ้านำทั้งสองอย่างนี้มาหารกันก็จะได้ผลลัพธ์ที่สำคัญในการวิเคราะห์เรียกว่า Capital-To-Income Ratio หรือ “อัตราส่วนของทุนต่อรายได้ประเทศ” ก็คือเป็นการวัดว่าทรัพย์สินประเทศในตอนนั้นเป็นจำนวนกี่เท่าของรายได้ต่อปีของประเทศ
ตัววัดนี้เป็นการชี้ถึงความเหลื่อมล้ำในแต่ละประเทศ ถ้าอัตราส่วนยิ่งสูงก็แปลว่าทรัพย์สินที่สะสมมามีความสำคัญเกินกว่าผลผลิตและรายได้ในปัจจุบัน และความเหลื่อมล้ำก็เป็นปัญหา

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อัตราส่วนสูงถึง 7 เท่าของรายได้ประเทศ และก็ลดลงมาเหลือ 2-3 เท่าในกลางศตวรรษที่ 20 แต่ตอนนี้ก็กลับไปอยู่ที่ประมาณ 5-6 เท่า และดูเหมือนว่าอาจจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

โดยรวมแล้วการเติบโตของรายได้ประเทศจะมาจาก 2 สิ่ง และทั้งสองก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
สิ่งแรกคือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และสิ่งที่ 2 คือผลผลิตต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น

การที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะลดความสำคัญของทรัพย์สินที่สะสมมาในอดีต ยกตัวอย่างเช่นถ้าครอบครัวมีลูกเยอะ ลูกแต่ละคนก็จะได้มรดกจากพ่อแม่น้อยลง
ในยามที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วก็เช่นกัน ถ้าค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาชีวิตที่ทำงาน ทรัพย์สินที่ตกทอดมาจากอดีตก็จะมีความสำคัญน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงที่ได้ในช่วงนั้น
ในทางกลับกันตอนที่เศรษฐกิจเติบโตช้าโดยเฉพาะที่ต่ำกว่าอัตราตอบแทนของทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่สะสมจากอดีตของคนรุ่นก่อนๆจะมีความสำคัญอย่างมากเพราะมันจะเพิ่มพูนได้เร็วกว่าการเติบโตของรายได้จากการทำงาน และถ้าเป็นอย่างนี้ไปนานๆทรัพย์สินที่ส่งต่อให้รุ่นต่อไปก็จะทวีคูณไปเรื่อยๆทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง

ในไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมาประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลางศตวรรษที่ 20 และบวกกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ซึ่งมันก็ทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรโลกปรับปรุงอย่างมาก
แต่ตอนนี้การเติบโตของประชากรโลกเริ่มชะลอตัวและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ
เฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงจาก 3-4% ระหว่างยุค 1950-70 มาอยู่ที่ 1-1.5% ในปัจจุบัน และคาดว่าอาจจะต่ำกว่า 1% ในอนาคต
ในขณะที่ผลตอบแทนของทรัพย์สินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% อย่างสม่ำเสมอ ง่ายๆก็คือ r > g ซึ่งจะทำให้รายได้จากทรัพย์สินมีอิทธิพลมากขึ้นกว่ารายได้จากการทำงาน
ถึงแม้ว่าความแตกต่างระหว่าง r และ g อาจจะดูเล็กน้อย แต่ถ้ามันทบต้นเป็นเวลานานๆความแตกต่างของผลลัพธ์ก็จะมหาศาล

กฎพื้นฐานของระบบทุนนิยม
ผู้เขียนได้วางกฎพื้นฐานเกี่ยวกับทุนนิยมที่เรียกว่า Fundamental Law of Capitalism ที่จะช่วยมองเห็นภาพความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนขึ้น
First Fundamental Law of Capitalism กฎพื้นฐานแรกของทุนนิยม
α = r * β
α คือรายได้ประเทศที่มาจากตัวทรัพย์สิน
r คืออัตราผลตอบแทนของทรัพย์สิน
β คืออัตราส่วนของทุนต่อรายได้ประเทศที่ได้พูดไปก่อนหน้านี้
สมการนี้ทำให้เห็นว่ายิ่งผลตอบแทนจากทรัพย์สินเพิ่มขึ้น หรืออัตราส่วนของทุนต่อรายได้ประเทศเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้รายได้ของประเทศที่มาจากทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงคนทั่วไปก็จะสะสมทรัพย์สินได้ช้ากว่าคนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว

Second Fundamental Law of Capitalism กฎพื้นฐานที่ 2 ของทุนนิยม
β = s / g
β คืออัตราส่วนของทุนต่อรายได้ประเทศ
s คืออัตราการออม
g คืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ
ในเมื่ออัตราส่วนของทุนต่อรายได้ประเทศเป็นตัววัดค่าความเหลื่อมล้ำ จากสมการนี้จะเห็นได้ว่าถ้าอัตราการออมสูงแต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นต่ำ จะทำให้อัตราส่วนของทุนสูงขึ้นซึ่งหมายถึงความเหลื่อมล้ำแย่ลง

สมการนี้ทำให้เห็นความสำคัญของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะถ้าการเติบโตสูงขึ้นจะทำให้รายได้ปัจจุบันมีความสำคัญมากกว่าทรัพย์สินที่ถูกสะสมมาแล้ว และคนส่วนใหญ่ก็จะมีโอกาสเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัวเอง
กฎที่ 2 นี้สามารถอธิบายเหตุผลที่ความเหลื่อมล้ำเริ่มจะกลับไปสูงขึ้นเหมือนในอดีต เพราะตอนนี้การเติบโตของเศรษฐกิจต่ำลง อัตราการออมก็สูงขึ้น และท้ายสุดคือทรัพย์สินของรัฐจำนวนมากถูกโยกย้ายไปเป็นของเอกชน
ความเหลื่อมล้ำของค่าแรง
มันไม่ใช่แค่โครงสร้างการเป็นเจ้าของของทรัพย์สินอย่างเดียวที่จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้
แต่ความเหลื่อมล้ำก็เกิดจากความแตกต่างของค่าแรงได้ด้วยเช่นกัน
การที่คนบางคนมีรายได้สูงอาจจะเป็นเพราะเขามีทักษะที่สังคมให้คุณค่า อย่างเช่นคนที่เป็นแพทย์ก็สมควรที่จะได้รับรายได้สูง เพราะนั่นจะผลักดันให้พวกเขากล้าที่จะใช้เวลาในการศึกษาและเรียนรู้ในด้านนี้
ตั้งแต่ยุค 1980 นะครับ รายได้ของระดับผู้บริหารได้เพิ่มขึ้นอย่างสุดโต่งโดยเฉพาะใน sector การเงิน
จากการสำรวจ เฉลี่ยรายได้ของ CEO ในสหรัฐจากปลายยุค 70 จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000%

ผู้เขียนเห็นว่าค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นของผู้บริหารอาจจะไม่สมเหตุสมผลเพราะมันยากที่จะประเมินอย่างแน่ชัดว่าพวกเขาทำประโยชน์ให้กับองค์กรมากขนาดไหน และถึงแม้ว่าจะประเมินได้จริงๆ มันก็ยังไม่อธิบายว่าทำไมค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นถึงแตกต่างกันอย่างมากในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว
เหตุผลหลักที่ผู้บริหารได้ค่าตอบแทนมากขึ้นอาจจะเป็นเพราะพวกเขาเข้ามามีบทบาทในการกำหนดค่าตอบแทนให้กับตัวพวกเขาเอง
ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลที่ค่าแรงของพนักงานทั่วไปปรับขึ้นน้อยมากเป็นด้านการเมืองซะมากกว่า
นโยบายทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การให้สิทธิกับสหพันธ์แรงงาน การวางนโยบายภาษี การส่งเสริมสวัสดิการรัฐและการศึกษา ล้วนแล้วจะกระทบกับความเหลื่อมล้ำของค่าแรงทั้งหมด และในประเทศตะวันตกตั้งแต่ยุค 1980 นโยบายรัฐส่วนใหญ่ไม่ได้ช่วยคนทำงานทั่วไปเลย

การเปลี่ยนแปลงของทุนและทรัพย์สิน
โครงสร้างของทุนและทรัพย์สินก็ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากจากอดีตมาถึงปัจจุบัน
ทรัพย์สินที่สำคัญในอดีตคือที่ดินการเกษตร แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ทรัพย์สินอุตสาหกรรม ทรัพย์สินการเงินในธุรกิจและในภาครัฐมีความสำคัญเข้ามาแทนที่

อย่างที่บอกไปแล้วว่าทรัพย์สินในประเทศแบ่งได้เป็นของภาครัฐและเอกชน และในปัจจุบันทรัพย์สินภายในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นของเอกชนซะส่วนใหญ่
เหตุผลหลักเป็นเพราะว่าภาครัฐมีทรัพย์สินเยอะก็จริงแต่ก็มีหนี้สินเยอะด้วยเช่นกัน ทำให้ทรัพย์สินสุทธิน้อยมากๆ ในบางกรณีเท่ากับศูนย์หรือติดลบด้วยซ้ำ
ในอดีตประเทศอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสมีการทำสงครามอยู่บ่อยครั้ง ทางรัฐบาลเลือกที่จะกู้เงินจากภาคเอกชนในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาลและต้องจ่ายดอกเบี้ย และกลุ่มคนที่สามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ก็เป็นคนที่มีทรัพย์สินเยอะอยู่แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือรัฐบาลต้องใช้เงินภาษีไปจ่ายดอกเบี้ยให้กับคนที่ร่ำรวย ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำงานและรับรายได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียว
ในช่วงที่ทั้ง 2 ประเทศล่าอาณานิคม ก็ยิ่งทำให้ผู้ที่มีทรัพย์สินเพิ่มความร่ำรวยขึ้นไปอีก ในขณะที่คุณภาพชีวิตของประชาชนของประเทศเมืองขึ้นแทบไม่ปรับปรุงเลย
ในอดีตประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสเคยมีอัตราส่วนของทรัพย์สินอยู่ที่ประมาณ 7 เท่าของรายได้ประเทศ
แต่ระหว่างยุค 1910-1950 อัตราส่วนลดลงเป็น 3 เท่า เหตุผลหลักเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 The Great Depression และสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งทำให้ทรัพย์สินจำนวนมหาศาลถูกทำลาย

นอกเหนือจากนั้นแล้วช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หลายประเทศเมืองขึ้นเริ่มจะประกาศเอกราช ทำให้ทรัพย์สินต่างประเทศสูญสิ้นไปเกือบทั้งหมด
เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากช่วงสงครามโลกทำให้พันธบัตรรัฐบาลแทบจะไร้ค่า และการที่จะได้รายได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียวอาจจะทำไม่ได้อีกต่อไป
แต่หลังจากยุค 1970 อัตราส่วนของทรัพย์สินต่อรายได้ประเทศก็เพิ่มขึ้นเกือบถึงระดับเดียวกับยุค 1910 และถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราอาจจะเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างที่ไม่เห็นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19

วิธีแก้ไขความเหลื่อมล้ำ
ผู้เขียนเห็นว่ามันจำเป็นที่เราจะต้องมีการแทรกแซงทางนโยบาย เพราะไม่อย่างนั้นมันอาจจะสร้างความไม่มั่นคงในสังคม
ถ้าไม่เกิดการควบคุม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือบทบาทของทุนที่ถูกสะสมมาจากรุ่นก่อนๆและกลายเป็นมรดกตกทอดจะมีบทบาทมากเกินกว่าความสามารถและความพยายามของตัวบุคคล และคนที่โชคดีเกิดมาในครอบครัวที่มีทรัพย์สินเยอะก็จะสามารถสะสมทรัพย์สินได้เพิ่มขึ้นต่อไปโดยที่อาจจะไม่ต้องทำอะไรมากมาย
ตอนนี้เราก็เห็นการโยกย้ายทรัพย์สินจำนวนมหาศาลจากคนรุ่นก่อนไปสู่รุ่นต่อไปแล้วและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ผลกระทบคือมันจะผลักดันการแบ่งชนชั้นไปเรื่อยๆในอนาคต และเมื่อคนทั่วไปไม่เห็นว่าชีวิตเขาจะก้าวหน้าจากการทำงานเขาก็อาจจะปฏิเสธที่จะมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ
อีกหนึ่งอย่างที่จะเกิดขึ้นคือคนที่มีทรัพย์สินก็จะมีอิทธิพลด้านการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆแล้วก็เห็นอยู่ในปัจจุบัน และถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปประชาชนทั่วไปอาจจะเกิดความไม่พอใจและความไม่แน่นอนด้านการเมืองก็อาจจะเกิดขึ้นได้

ความท้าทายคือมีนักเศรษฐศาสตร์และผู้วางนโยบายจำนวนมากที่ต่อต้านการแทรกแซงเพราะคิดว่าระบบจะหาความสมดุลของมันเอง แต่ความเป็นจริงที่เห็นก็ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น
ไม่ใช่ว่าระบบไม่เคยถูกแทรกแซงนะครับ
ถ้ากลับไปดูช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรัพย์สินจำนวนมากถูกทำลายจึงทำให้อัตราส่วนของทรัพย์สินลดลง
หลังจากสงคราม หลายประเทศได้ใช้อัตราภาษีก้าวหน้าที่อัตราจะเพิ่มขึ้นพร้อมกับรายได้ ในบางกรณีรายได้สูงสุดต้องเสียภาษีมากกว่า 90%
ทางรัฐก็ได้เสนอนโยบายหลากหลายที่ช่วยคนทำงานเพื่อผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ที่ได้คือเศรษฐกิจโตเร็ว ทรัพย์สินถูกกระจายอย่างทั่วถึง และความเหลื่อมล้ำก็ลดลง
ผู้เขียนเห็นว่ามันอาจจำเป็นจะต้องมีการเสนอ Progressive Global Tax หรือว่า “ภาษีอัตราก้าวหน้าทั่วโลก” ที่ทรัพย์สินทุกประเภทจะต้องถูกจ่ายภาษี

ถ้าจะให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้มันจำเป็นที่จะต้องมีความโปร่งใสในด้านการเงิน และแต่ละประเทศก็จะต้องร่วมมือกันและแบ่งปันข้อมูล และจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมาย
จุดประสงค์ของนโยบายภาษีนี้มีอยู่ 2 อย่าง
อย่างแรกคือการสร้างความยุติธรรม เพราะคนร่ำรวยมีหลากหลายวิธีในการหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้จำนวนภาษีที่เขาจ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินที่เขามีมันน้อยมาก ภาษีที่ผู้เขียนเสนอจะต้องรวมไปถึงรายได้และตัวทรัพย์สินเองด้วยเพื่อที่จะให้ยุติธรรม

อย่างที่ 2 คือจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินต้องการหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี แทนที่จะลงทุนในทรัพย์สินปลอดภัยอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพขึ้น

ผู้เขียนยอมรับนะครับว่าเรื่องนี้อาจจะฝันหวานเกินไปเพราะมันจะมีแรงต่อต้านด้านการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ และจะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศที่อาจจะเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตามมันก็เป็นสิ่งที่แต่ละประเทศควรจะตั้งเป็นเป้าหมายแทนที่จะสร้างมาตรการปกป้องทางการค้าหรือกีดกั้นตัวทุนไม่ให้มีความคล่องตัว เพราะนั่นจะลดประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ท้ายสุดนะครับ ในเกือบทุกๆประเทศประชาชนจำนวนมากมีความฝันว่าอยากจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัว แต่พวกเขาก็เริ่มจะเห็นว่ามันเป็นไปได้ยากขึ้น
เราไม่จำเป็นจะต้องพึ่งทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เราแค่มองในสังคมและข่าวสารก็อาจจะเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติ
ฉะนั้นนะครับมันอาจจำเป็นจะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงสักอย่างเพื่อที่จะให้ระบบทำงานและให้ประโยชน์กับทุกๆคนและให้สังคมก้าวหน้าต่อไป
ยังมีอีกบางส่วนของหนังสือที่ผมไม่ได้พูดถึงนะครับเพราะเล่มนี้มีความหนาและอ่านยากพอสมควรเลยนะครับ ถ้ามีโอกาสก็แนะนำให้ทุกท่านไปอ่านกันด้วยนะครับ
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากคลิปนี้นะครับ ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ
ถ้าคุณชอบการสรุปหนังสือของผม ก็ฝากกด like subscribe กดกระดิ่ง กดแชร์ และสนับสนุนช่องเพื่อให้ได้เดินหน้าต่อไปด้วยนะครับ
แล้วพบกันใหม่คลิปหน้าครับขอบคุณและสวัสดีครับ
Pop BooksDD
—