[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]

สงคราม อาชญากรรม ความรุนแรง มองยังไงยังไงก็ดูเหมือนว่าอนาคตของมนุษยชาติจะสิ้นหวัง
แต่นี่เป็นธาตุแท้ของมนุษย์จริงๆหรือไม่ครับ?
ถ้าบอกว่าลึกๆแล้วธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นก็คงยากที่จะเชื่อ
ในบทความนี้ผมจะมาเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่อาจจะให้เรามีความหวังกับอนาคตนะครับ

หนังสือที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้นะครับชื่อว่า Humakind: A Hopeful History
เล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วนะครับชื่อว่า “ที่ผ่านมามนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ

ผู้เขียนมีนามว่า Rutger Bregman เป็นนักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวเนเธอร์แลนด์ที่เคยมีผลงานใน The Washington Post The Guardian BBC และยังเคยพูดในงาน TED talk ด้วยนะครับ

อย่างที่เกริ่นไปแล้วนะครับว่าหนังสือจะพูดเกี่ยวกับว่าธรรมชาติของมนุษย์เราจริงๆแล้วไม่ได้แย่อย่างที่เชื่อกัน
มาฟังกันเลยนะครับว่าผู้เขียนให้เหตุผลว่าอย่างไรบ้าง

พฤติกรรมมนุษย์ในยามวิกฤต

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นะครับมีนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อว่า Gustave Le Bon ได้สรุปว่าเมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับวิกฤต ธาตุแท้ของมนุษย์จะปรากฏขึ้น ก็คือคนแต่ละคนจะเห็นแก่ตัวและจะทำในสิ่งที่ทำให้ตัวเองรอดไว้ก่อน
ปัจจุบันความคิดนี้ก็กลายเป็นทฤษฎีที่เรียกว่า Veneer Theory

แต่หลักฐานที่เราเห็นในโลกแห่งความจริงมันขัดแย้งกับความคิดนี้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นะครับ อังกฤษและเยอรมันก็ได้ทิ้งระเบิดในฝั่งตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง
ประชาชนหลายหมื่นคนได้เสียชีวิตและบ้านช่องหลายแหล่งก็พังราบคราบ
จากคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ มันก็มีความโศกเศร้าให้เห็น แต่โดยรวมแล้วประชาชนก็ดำเนินชีวิตต่อไปและไม่ได้มีเหตุการณ์วุ่นวายอย่างที่ต่างฝ่ายต่างคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น
ทางรัฐบาลอังกฤษได้สืบสวนและพบว่าการทิ้งระเบิดไม่ได้ทำให้ประชาชนเสียขวัญแต่อย่างไร และฝั่งเยอรมันก็สามารถเพิ่มการผลิตอาวุธได้อีกด้วย

พฤติกรรมของคนเราในยามวิกฤติก็ได้มีการศึกษาและมีงานวิจัยเบื้องหลัง
ในปี 2008 ศูนย์วิจัยภัยพิบัติที่มหาวิทยาลัย University Of Delaware ได้ศึกษาเหตุการณ์ภัยพิบัติมากกว่า 700 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1963 และได้พบว่าในสถานการณ์ภัยพิบัติการอาชญากรรมนั้นลดลงโดยทั่วไป และน้ำใจระหว่างผู้คนนั้นเกิดขึ้นมากกว่าอย่างเทียบไม่ได้

มันไม่ใช่แค่วิกฤตขนาดใหญ่อย่างเดียวนะครับ วิกฤติที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มเล็กก็เช่นกัน
ผู้เขียนได้เปรียบเทียบนิยายที่ชื่อว่า Lord of the Flies ที่เล่าถึงกลุ่มเด็กชายที่ประสบภัยเรือล่มและได้ไปติดเกาะกันดาร และพวกเขาก็เกิดความขัดแย้งและการแย่งอำนาจกัน
แต่จริงๆแล้วเรื่องคล้ายกันก็เคยเกิดขึ้นจริงในปี 1965 ที่เด็กชาย 6 คนจากเกาะทองก้าได้ไปติดอยู่ในเกาะกันดารเป็นเวลา 15 เดือน
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตรงข้ามกับนิยายอย่างสิ้นเชิง เพราะเด็กทุกคนช่วยเหลือกันและกันจนอยู่รอดมาได้อย่างดี และถึงแม้บางครั้งจะทะเลาะกันบ้างแต่ต่างคนก็ให้อภัยกันและกัน
ทั้ง 6 คนก็ได้เป็นเพื่อนกันตลอดชีวิตและกัปตันเรือที่ได้ค้นพบพวกเขาก็กลายเป็นเพื่อนกับพวกเขาไปด้วย

ความเชื่อของคนเรานะครับมีความสำคัญอย่างมาก
มันมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า self-fulfilling prophecy ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราเชื่อกลายเป็นจริงเพราะเราเชื่อมัน

สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนย้ำนะครับคือเขาไม่ได้บอกว่าว่ามนุษย์เราดีไปหมดเพราะเรามีความซับซ้อนอยู่ในตัวซึ่งก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่โดยรวมแล้วเราไม่ได้แย่อย่างที่คิดเสมอไปและมันขึ้นอยู่กับเราว่าเราจะผลักดันความเชื่อไปด้านไหนให้มันออกมา


ทำไมเรามองมนุษย์ในด้านลบ?

เชื่อว่าคนส่วนมากในวัยเด็กจะถูกสั่งสอนให้แบ่งปันและช่วยเหลือคนอื่นๆนะครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วความคิดนี้จะหยุดอยู่แค่คนใกล้ชิดเท่านั้นและคิดว่าคนแปลกหน้านั้นไม่น่าไว้ใจและเห็นแก่ตัว
ความคิดนี้ค่อนข้างจะสูงมากจนกระทั่งบางครั้งที่เห็นคนอื่นทำเรื่องดีๆหลายคนกลับคิดว่าคนๆนั้นมีแรงจูงใจที่อยากอวดหรืออยากทำให้ตัวเองดูดีซะมากกว่า

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีความคิดอย่างนี้คือสื่อและข่าวสาร
การรายงานข่าวสารบางรูปแบบก็ช่วยให้เราเข้าใจโลกเราได้มากขึ้น แต่รูปแบบที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือรายงานในเรื่องที่แปลกจากธรรมดา
ดูตอนนี้นะครับเรื่องที่ได้ยินบ่อยที่สุดก็คือสงคราม โรคระบาด อาชญากรรม หรืออุบัติเหตุร้ายแรง
ยิ่งเราได้ยินบ่อยเราก็นึกถึงมันได้ง่ายขึ้นเลยผลักให้ความคิดไปในทางลบ และเดี๋ยวนี้มี social media ที่ยิ่งกระตุ้นความรู้สึกของเราขึ้นไปอีก

แต่ถึงแม้ว่าเราอยากจะหยุดฟังสื่อแล้วอยากจะอ่านอะไรที่มีสาระก็ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงความคิดลบเกี่ยวกับมนุษย์ได้เสมอไปนะครับ
ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็มีการเสนอว่ามนุษย์เราวิวัฒนาการมาได้เพราะเรามีความเห็นแก่ตัวเพื่อความอยู่รอด
หรือทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็มีแนวคิดที่ว่ามนุษย์เราจะทำสิ่งที่ให้ประโยชน์สูงสุดกับตัวเองเท่านั้น
แม้กระทั่งคำสอนศาสนาบางศาสนาก็เชื่อว่าคนเรามีบาปตั้งแต่เกิด

การจะเปลี่ยนความคิดเหล่านี้มันมีความท้าทายอย่างมาก และอาจจะถูกมองว่าเป็นความคิดที่ไร้เดียงสา
แต่ในยามที่ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเลวร้ายไปหมด ความหวังอาจจะเป็นสิ่งที่มนุษยชาติต้องการมากที่สุดก็เป็นไปได้


2 แนวคิดนักปรัชญา

เรื่องราวของเด็กชาย 6 คนที่ติดเกาะนะครับ มันก็ฟังดูอบอุ่น
แต่คราวนี้ก็ต้องถามว่ามันเป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า หรืออีกแง่ก็คือธาตุแท้ของมนุษย์เอียงไปทางดีหรือร้ายกันแน่?

คำถามนี้นะครับก็มีการถกเถียงกันในแวดวงปรัชญามานานแสนนาน และมีนักปรัชญาโด่งดังสองคนที่เสนอความคิดตรงข้ามกัน

นักปรัชญาคนแรกเป็นชาวอังกฤษนามว่า Thomas Hobbes
เขาเสนอว่าถ้าเราต้องการจะรู้ธรรมชาติของมนุษย์ เราก็ต้องกลับไปดูบรรพบุรุษของเรา โดยเฉพาะต้องดูพฤติกรรมระหว่างกันและกันในตอนที่ยังไร้กฎหมายและคนเราทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ
เขาคิดว่าถ้าเราเข้าใจความกลัวและอารมณ์ของตัวเองเราก็จะเข้าใจความคิดของคนอื่นในสถานการณ์เดียวกัน
ในยุคที่มนุษย์ยังต้องล่าสัตว์นะครับ คุณภาพชีวิตมันโหดร้ายมาก และมนุษย์เราก็ถูกผลักดันด้วยความหวาดกลัวไม่ว่าจะมาจากสิ่งแวดล้อมหรือจากมนุษย์ด้วยกันเอง และสิ่งที่เราต้องการคือความปลอดภัย
ในเมื่อคนเรามีแต่ความกลัว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความขัดแย้งระหว่างกันและกันอย่างไม่หยุดไม่หย่อน
Hobbes เสนอว่าถ้าเราต้องการยับยั้งความขัดแย้งเราจำเป็นจะต้องยอมสละอิสรภาพของเราให้กับคนที่เป็นผู้นำเพื่อวางกฎเกณฑ์ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้
เขาได้เปรียบเทียบคนที่เป็นผู้นำเสมือนกับ Leviathan ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดยักษ์ในทะเล และก็เป็นชื่อของผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาที่ถูกพิมพ์ในปี 1651

ประมาณ 100 ปีให้หลังนักปรัชญาชาวสวิสนามว่า Jean-Jacques Rousseau กลับเห็นตรงข้า
เขาได้เสนอว่าในสมัยที่มนุษย์ยังอยู่กับธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์นั้นดีเป็นส่วนใหญ่ แต่สถาบันทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้มนุษย์เริ่มมีความชั่วร้ายมากขึ้น และการที่เรายอมเสียสละอิสรภาพเพื่อริเริ่มกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ทำให้นำไปสู่อารยธรรมและการกำเนิดของรัฐ มันเป็นข้อผิดพลาดอย่างมาก

300 ปีให้หลังนะครับ ความคิดของทั้งสองก็ยังมีอิทธิพลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ด้านเศรษฐศาสตร์ หรือด้านการศึกษา


กำเนิดของมนุษย์ลูกสุนัข

มนุษย์เราค่อนข้างจะอายุน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่น และมนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบัน Homo Sapiens เป็นเพียงหนึ่งในหลายสายพันธุ์ของมนุษย์ในอดีต และเราก็ไม่ได้มีความพิเศษกว่าสายพันธุ์อื่นๆแต่อย่างไร แต่ภายในพริบตาเดียวเรากลับครองโลกได้และยังได้เดินทางไปในอวกาศอีกด้วย แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ?

ในยุค 50 นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียนามว่า Dmitri Belyayev สันนิษฐานว่าสัตว์ที่มีความเชื่องและถูกนำมาเลี้ยงมีลักษณะความน่ารักเพราะเป็นผลข้างเคียงของ “friendliness” หรือ “ความเป็นมิตร”
เขาทำการทดลองทำให้สัตว์ดุร้ายอย่างหมาจิ้งจอกให้เชื่องลงให้เร็วที่สุดโดยการเลือกที่จะเพาะพันธุ์ตัวที่มีความดุน้อยกว่าตัวอื่นๆ

ภายใน 20 ปีหมาจิ้งจอกที่ถูกเพาะพันธุ์แทบจะไม่มีความดุร้ายเลยและพวกมันก็เริ่มน่ารักขึ้นอีกด้วย
เขายังสันนิษฐานอีกว่าสิ่งเดียวกันก็เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้
จากการวิจัยเพิ่มเติมนะครับพบว่าลักษณะใบหน้าของมนุษย์ในปัจจุบันมีความดุน้อยลงและดูเด็กลงเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วมันก็เป็นลักษณะข้างเคียงของความเป็นมิตร นั่นหมายความว่ามนุษย์ที่เป็นมิตรได้ถูกกระบวนการวิวัฒนาการคัดเลือกให้เพาะพันธุ์ต่อไป และผู้เขียนก็ให้ชื่อเล่นมนุษย์ที่เป็นมิตรว่า Homo Puppy หรือ “มนุษย์ลูกสุนัข”

สิ่งที่มนุษย์เราทำได้ดีกว่าสัตว์ประเภทอื่นคือความสามารถร่วมมือกันและเรียนรู้จากผู้อื่น และคนเราก็ต้องการร่วมมือกับคนที่เป็นมิตรเลยทำให้ลักษณะนี้เป็นเรื่องได้เปรียบ
มันมีหลายลักษณะร่างกายที่ทำให้เราเป็นมิตรกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นความเขินที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ซึ่งมันทำให้สื่อสารความรู้สึกและอารมณ์และช่วยให้สร้างความไว้วางใจ
นอกจากนั้นแล้วตาของเรายังมีความขาวมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น ซึ่งทำให้เราสามารถมองตามตาของคนอื่นได้ และก็ทำให้เรารู้สึกถึงอารมณ์ของอีกฝ่ายและก็ช่วยให้ร่วมมือกันง่ายขึ้นอีก
ความเป็นมิตรที่ทำให้มนุษย์ร่วมมือกันได้ก็ทำให้เราครองโลกมาได้ทุกวันนี้

หนึ่งในปัจจัยของความอยู่รอดก็คือการแข่งขัน แต่ตอนนี้มีความเห็นในหมู่นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างจะตรงกันว่าการร่วมมือกันนั้นสำคัญกว่า
ความต้องการอยู่ใกล้เคียงกับผู้อื่นมันสำคัญอย่างมาก ถึงขั้นที่ความเหงาสามารถทำให้คนเราป่วยได้
แต่ในสังคมปัจจุบันก็ยังมีการเน้นการแข่งขันที่ให้คนต้องปะทะกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้เป็นเรื่องดีเสมอไป


ธรรมชาติมนุษย์ไม่ได้แย่

สิ่งที่ทำให้มนุษย์เรามีความเป็นมิตรก็เป็นดาบสองคมได้ เพราะมันก็ทำให้เราทำในสิ่งที่ชั่วร้ายได้เช่นกัน

การทดลองหมาจิ้งจอกที่พูดไปแล้วนะครับ เขาก็พบว่าหมาจิ้งจอกที่เชื่องลงก็มีฮอร์โมน serotonin และ oxytocin ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีความเป็นมิตรเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่ามนุษย์เราก็มีฮอร์โมนนี้
2 ฮอร์โมนนี้เพิ่มความเป็นมิตรก็จริง แต่มันก็จำกัดกับคนที่เรานับว่าเป็นพวกเดียวกับเราเท่านั้น และก็อาจจะยิ่งทำให้เราต่อต้านคนนอก

การวิจัยบางส่วนที่ถูกนำเสนอสรุปได้ว่าบรรพบุรุษของเรามีความดุดันและฆ่าฟันศัตรูกันอยู่ตลอด ซึ่งก็ดูเหมือนว่าความคิดของ Hobbes จะถูก
แต่เมื่อวิเคราะห์ฝลึกลงเขาเห็นว่ามันมีปัญหาหลายอย่าง อย่างเช่นบางเผ่ามนุษย์ที่ถูกศึกษานั้นได้สัมผัสกับอารยธรรมและได้ตั้งรกรากไปแล้ว
การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเผ่ามนุษย์ตอนที่ยังล่าสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ก่อนอารยธรรม พบว่าจริงๆแล้วมนุษย์พวกนี้ไม่ได้มีการฆ่าฟันกันอย่างที่คิดแถมยังมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ค่อนข้างกว้างขวางอีกด้วย

ผู้เขียนยังพบหลักฐานว่ามนุษย์เราไม่ได้มีความรุนแรงเป็นธรรมชาติและจะพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด
เขาได้ยกตัวอย่างการสำรวจความขัดแย้งและสงครามในอดีตตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ได้พบหลักฐานที่ดูเหมือนว่าในการปะทะกันอย่างซึ่งๆหน้าทหารส่วนใหญ่ไม่กล้าแม้จะทำร้ายคนที่เป็นศัตรู อย่างเช่นการค้นพบปืนจำนวนมากที่ยังมีกระสุนหลายนัดอยู่ในปืนเหมือนกับว่าทหารจงใจจะใช้เวลาเติมกระสุนเพื่อไม่ต้องยิงฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ตามนะครับภาพลักษณ์มนุษย์ในแง่ลบก็ยังถูกผลักดันอย่างกว้างขวางในสังคม


คำสาปของอารยธรรม

อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่า Rousseau เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์เริ่มจะแย่ลงหลังจากการกำเนิดของอารยธรรม
เผ่ามนุษย์บางเผ่าที่ไม่เคยสัมผัสกับอารยธรรมก็รู้สึกช็อกอย่างมากเมื่อได้เห็นพฤติกรรมของอารยชนที่พวกเขาได้พบปะ
แล้วอารยธรรมมันมีปัญหาอย่างไรครับ?

ก่อนอื่นนะครับอย่างที่บอกไปแล้วว่าผู้เขียนไม่ได้บอกว่ามนุษย์เราดีไปทั้งหมด และบรรพบุรุษมนุษย์ในอดีตก็มีการความรุนแรงเหมือนกัน ถ้าไม่อย่างนั้นก็คงไม่ได้ครองโลกจนถึงทุกวันนี้

ในยุคก่อนอารยธรรมนะครับ เผ่ามนุษย์ก็ไม่ได้มีโครงสร้างการเมืองที่ตายตัว ถ้าในเผ่าต้องตัดสินใจอะไรก็มีการพูดคุยกัน และถ้าจำเป็นต้องมีผู้นำชั่วคราวก็จะยอมรับเพราะคนคนนั้นมีความรู้หรือมีทักษะที่แก้ปัญหาได้ และถ้ามีใครออกนอกลู่นอกทางทั้งเผ่าก็อาจจะใช้ความรุนแรงในการหยุดยั้งพฤติกรรมหรือแม้กระทั่งกำจัดคนคนนั้น
ในปัจจุบันเราคิดว่าสังคมไม่สามารถเดินหน้าได้ถ้าไม่มีผู้นำ ซึ่งอาจจะฟังสมเหตุสมผล แต่ในอดีตมันก็มีตัวอย่างการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนมนุษย์จะเข้าสู่การปฏิวัติเกษตรกรรมและก็ไม่ได้มีโครงสร้างลำดับผู้นำที่ตายตัว

หลังจากที่มนุษย์เรียนรู้การทำเกษตรก็เริ่มอยู่กันเป็นที่เป็นทางและสังคมก็เริ่มจะขยายตัว
เมื่อเรามีหลักแหล่งก็เริ่มจะมีทรัพย์สินส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องสัตว์เลี้ยงหรือที่ดิน และก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำ
เมื่อมนุษย์มีทรัพย์สินก็ต้องการปกป้องมันซึ่งก็ทำให้มีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากนั้นนะครับการที่เราไม่ย้ายถิ่นฐานก็ไม่ค่อยจะพบปะกับคนแปลกหน้าเลยทำให้ลดความไว้วางใจกับคนนอก
ภัยพิบัติธรรมชาติและโรคระบาดก็ทำให้ชีวิตของคนเราแย่ลงไปอีก และตอนนั้นมนุษย์ยังไม่มีความรู้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไรก็เลยโทษคนนอก
หลังจากที่แนวคิดของรัฐและประเทศชาติได้กำเนิดขึ้นที่ดินก็นำมาซึ่งอำนาจและก็นำไปสู่การทำสงคราม

แน่นอนว่าอริยธรรมไม่ได้มีแต่ข้อเสียไปทั้งหมดนะครับและมันก็มีเรื่องดีหลายเรื่อง แต่ก่อนหน้านี้เป็นเวลานานอารยธรรมมันเต็มไปด้วยการที่คนบางกลุ่มเอาเปรียบคนบางกลุ่ม อย่างเช่นการค้าทาสหรือว่าการล่าอาณานิคมเป็นต้น
ความก้าวหน้าที่แท้จริงของอารยธรรมไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการแพทย์หรือความเท่าเทียมในสังคมก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง และมนุษย์เรายังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอีกหลายอย่างในอนาคต
ถ้าจะปลดปล่อยมนุษย์ออกจากคำสาปของอารยธรรม เราก็ผลักดันให้มันให้ผลประโยชน์กับมนุษย์เราทุกคนอย่างสม่ำเสมอ


มนุษย์ทำเรื่องชั่วร้ายได้อย่างไร?

คำถามใหญ่ที่หลายคนสงสัยนะครับ คือเรื่องชั่วร้ายอย่างเช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่คนบางกลุ่มได้ทำลงไปจะอธิบายได้อย่างไร? แล้วทำไมบางคนถึงยอมทำตามคำสั่งพวกนี้?

ผู้เขียนก็ได้พูดถึง 2 การทดลองที่โด่งดังและจะมาวิเคราะห์ข้อบกพร่องที่เขาเห็นนะครับ

การทดลองอันแรกเกิดขึ้นในปี 1971 ที่มหาวิทยาลัย Stanford นะครับ โดยนักจิตวิทยานามว่า Philip Zimbardo
การทดลองนี้โด่งดังมากและก็ทำเป็นหนังชื่อว่า The Stanford Prison Experiment

ง่ายๆนะครับคือเขาทำชั้นใต้ดินของคณะจิตวิทยาให้กลายเป็นคุกจำลอง และก็จ้างนักศึกษาให้เข้ามาร่วมการทดลอง นักศึกษาก็จะถูกสุ่มเลือกว่าจะได้เป็นนักโทษหรือเป็นผู้คุม
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือนักศึกษาที่ได้เป็นผู้คุมเริ่มกดขี่ข่มเหงนักศึกษาที่เป็นนักโทษ มันถึงขั้นที่แย่มากจนการทดลองต้องยุติลงหลังจากเพียงแค่ 6 วัน
การทดลองนี้ทำให้ดูเหมือนว่าคนธรรมดาธรรมดาถ้าอยู่ในสภาวะบางสภาวะก็อาจจะทำในสิ่งที่เลวร้ายได้
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีก็มีการสำรวจและศึกษาการทดลองมากขึ้นจนทำให้เห็นข้อบกพร่องหลายอย่าง
ผู้เขียนได้อ่านหนังสือของนักจิตวิทยาท่านนี้ และพบว่าการกระทำแย่ๆหลายอย่างของนักศึกษาที่เป็นผู้คุมไม่ได้เกิดขึ้นจากพวกเขาเอง แต่ศาสตราจารย์เป็นคนผลักดันให้ทำ และนักศึกษาเองก็รู้สึกถูกกดดันว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้การทดลองดูน่าเบื่อ

และที่น่าสนใจนะครับก็คือนักศึกษาที่เล่นบทเป็นผู้คุม 2 ใน 3 ปฏิเสธที่จะทำสิ่งที่โหดร้ายเกินไปและหลายคนก็ปฏิบัติดีกับนักศึกษาที่เล่นเป็นนักโทษ
อย่างไรก็ตามนะครับนักจิตวิทยาและการทดลองนี้ก็ได้ชื่อเสียงโด่งดัง และคนจำนวนมากก็ยังเชื่อการสรุปที่เขาให้มา
ในปี 2002 นะครับก็ได้มีการจำลองการทดลองแบบเดียวกันในรูปแบบรายการทีวีและมีชื่อว่า The Experiment
สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นตรงข้ามกับการทดลองที่ Stanford คือทุกคนเข้ากันได้ดีและแทบจะไม่มีดราม่าอะไร ขนาดคนที่ได้รับบทเป็นผู้คุมยังอยากจะเปลี่ยนไปเล่นเป็นบทนักโทษแทนด้วยซ้ำ
นี่อาจจะทำให้เห็นว่าถ้าปล่อยให้คนธรรมดาจัดการตัวพวกเขาเอง มันก็ไม่ได้มีอะไรแย่อย่างที่คาดกัน

อีกหนึ่งการทดลองที่โด่งดังไม่แพ้กันนะครับเกิดขึ้นในปี 1961 ที่มหาวิทยาลัย Yale โดยนักจิตวิทยานามว่า Stanley Milgram

ผมเคยเล่าการทดลองนี้ไปแล้วนะครับในคลิปก่อนๆ ง่ายๆก็คือคนที่เข้ามาทดลองจะต้องกดปุ่มช็อตไฟฟ้ากับคนที่อยู่อีกห้องหนึ่งถ้าคนนั้นตอบคำถามผิดและแรงไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นทุกครั้ง แต่เขาไม่รู้ว่าคนที่ตอบคำถามนั้นเป็นหนึ่งในผู้ทำการทดลอง และเพียงแค่แกล้งทำเสียงว่าเจ็บเท่านั้น

ผลลัพธ์ที่ได้คือ 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เข้ามาทดลองได้กดกระแสไฟฟ้าสูงสุด แม้กระทั่งอีกคนนึงแกล้งสลบไปแล้ว
ผลสรุปของการทดลองก็คือคนเรามักจะทำตามคำสั่งคนที่มีอำนาจ ซึ่งก็อธิบายการกระทำของหลายคนที่ทำเรื่องโหดร้ายเพราะเขาคิดว่าเขาเพียงแค่ทำตามคำสั่ง
แต่เมื่อวิเคราะห์การทดลองนี้นะครับ เขาพบว่าจริงๆแล้วมีประมาณเกือบครึ่งของคนที่เข้ามาทดลองคิดว่าการทดลองนั้นไม่ได้เป็นเรื่องจริง และคนส่วนมากจะหยุดทันทีเมื่อคิดว่ากำลังช๊อตไฟฟ้าคนอื่นอยู่จริงๆ
มันก็ไม่น่าแปลกนะครับเพราะว่าหลายคนคงคิดว่ามหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Yale คงไม่น่าที่จะสนับสนุนให้ทรมานมนุษย์
ขนาดเจ้าของการทดลองเองยังยอมรับในการบันทึกส่วนตัวว่าผลสรุปอาจจะไม่ใช่อย่างที่เขาคิด
ถ้าดูจากผิวเผินนะครับก็คิดว่าคนเราส่วนมากจะทำตามคำสั่ง แต่ความจริงแล้วคนเราชอบที่จะต่อต้านคำสั่งซะมากกว่าและก็ไม่ได้ทำตามอย่างไร้เหตุผล ในการทดลองนี้หลายคนยอมทำตามเพราะถูกเกลี้ยกล่อมและเข้าใจว่าเขากำลังช่วยในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์

สรุปการวิจัยนะครับก็คือมนุษย์เราอาจจะถูกผลักดันให้ทำเรื่องชั่วร้ายได้ แต่มันต้องใช้พละกำลังและหลากหลายวิธีกว่าจะดึงด้านนั้นออกมาได้ และเมื่อดึงออกมาได้คนที่ทำเรื่องร้ายๆจะเข้าใจว่าตัวเองกำลังทำเพราะมีจุดประสงค์ที่ดีอยู่เบื้องหลัง
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยทหารนาซี ทหารพวกนี้นะครับคิดว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องและทำเพื่อประเทศชาติ แต่ที่พวกเขาคิดอย่างนั้นเป็นเพราะเขาถูกล้างสมองและถูกปลูกฝังความเชื่อเป็นเวลานานจนทำให้ทำในสิ่งที่โหดร้ายได้


บทบาทของผู้นำ

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้นะครับ ว่าสิ่งที่ทำให้เราผูกพันกับคนใกล้ชิด ก็ทำให้เราต่อต้านคนนอกด้วยเช่นกัน และบางครั้งก็ผลักดันให้เราทำในเรื่องเลวร้ายได้
ในการสัมภาษณ์ทหารเยอรมันที่โดนจับเป็นนักโทษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาพบว่าทหารเหล่านี้ไม่ได้สนใจอะไรเกี่ยวกับอุดมการณ์ของพรรคนาซีเลย เขาแค่ต้องการจะสู้เพื่อเพื่อนๆทหารด้วยกันเอง และบางคนยังยอมเสียสละเพื่อให้เพื่อนรอดไปได้

ในสังคมปัจจุบันที่เราต้องเจอคนจำนวนมากที่เราไม่คุ้นเคยอาจจะทำให้เราไม่ไว้ใจคนเหล่านี้
ลักษณะมนุษย์ยังมี empathy ก็คือความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งก็น่าจะให้เข้าใจคนแปลกหน้าได้ แต่ปัญหาของ empathy มันจำกัดอยู่กับคนที่ใกล้ชิดกับเราเท่านั้น เพราะถ้าบอกว่าให้เราสร้างความเข้าใจให้กับคนอีกร้อยๆคนก็คงทำได้ยาก

เมื่อนำมารวมกันนะครับ คนเราทำในเรื่องเลวร้ายได้ไม่ใช่เพราะเรามีความเชื่อในอะไรบางอย่างหรือเพราะมีความโหดร้ายโดยธรรมชาติ แต่เป็นเพราะมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกับคนรอบข้างมากกว่า

อีกหนึ่งอย่างที่ทำให้คนเราทำเรื่องเลวร้ายได้นะครับ คือรูปแบบของการทำสงครามหรือการปะทะกันมันเปลี่ยนไป
จากสถิติสงครามโลกครั้งที่ 2 นะครับ ทหารอังกฤษมากกว่า 80% เสียชีวิตเพราะโดนยิงหรือโดนระเบิดจากทางไกล น้อยมากๆที่จะเสียชีวิตจากการสู้กันอย่างกระชั้นชิด
นอกเหนือจากการเว้นระยะห่างของการทำร้ายกันแล้ว ยังมีการเพิ่มระยะห่างทางจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของศัตรู หรือการฝึกสภาวะจิตให้กล้าทำความรุนแรง

ยังมีคนอีกกลุ่มนึงนะครับที่แตกต่างจากคนทั่วไป ก็คือคนที่เป็นผู้นำ
คนที่เป็นผู้นำนะครับมีมิติด้านจิตวิทยาที่แตกต่าง และความเห็นอกเห็นใจที่มีให้กับคนที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันก็น้อยกว่าคนอื่น
แต่คราวนี้ก็ต้องถามนะครับว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงได้มาเป็นผู้นำ ทั้งๆที่ความเป็นมิตรน่าจะได้เปรียบ

ผู้นำด้านความคิดเกี่ยวกับอำนาจก็คงไม่พ้นนักการทูตชาวอิตาลีในศตวรรษที่ 16 Niccolo Machiavelli
ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ The Prince ซึ่งเป็นการแนะนำเกี่ยวกับการสร้างอำนาจ

เขาแนะนำว่าถ้าต้องการอำนาจ การกระทำไม่จำเป็นจะต้องถูกจำกัดโดยหลักศีลธรรมหรือหลักการ แต่ควรทำทุกวิถีทางและไม่ต้องคำนึงถึงผู้อื่น
แต่จากการศึกษาเบื้องลึกนะครับวิธีนี้ไม่ได้ทำให้ได้อำนาจเพราะคนอื่นๆไม่ต้องการอยู่ใกล้
จริงๆแล้วคนส่วนมากสนับสนุนให้คนที่เป็นมิตรเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจซะมากกว่า แต่ปัญหามันเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้อำนาจแล้ว
จากงานวิจัยนะครับ เขาพบว่าคนที่เป็นผู้นำส่วนมากจะมีความเชื่อมโยงกับคนอื่นน้อยลงจึงเชื่อใจคนอื่นน้อยลง เชื่อว่าหลายคนคงมีหัวหน้าที่ไม่ค่อยจะไว้ใจลูกน้องสักเท่าไหร่นะครับ

มนุษย์เราก็ไม่ได้จะไม่ยอมรับการมีผู้นำนะครับ ถ้าคนใดมีความสามารถพิเศษก็นำผู้อื่นได้ และมันก็ไม่ใช่ปัญหาถ้าทุกคนถูกปฏิบัติอย่างยุติธรรม
แต่การกำเนิดของอารยธรรมทำให้คนที่เป็นผู้นำปกป้องตัวเองได้มากขึ้นจึงยากที่จะจัดการกับพวกเขาถ้าเกิดความไม่ยุติธรรม และพวกเขาต้องสร้างเรื่องราวที่ว่าพวกเขาสมควรได้อำนาจ และยิ่งพวกเขามีอำนาจนานเท่าไหร่ความละอายใจในการทำเรื่องไม่ดีก็จะลดลง
นอกเหนือจากนั้นแล้วมันยังเป็นประโยชน์กับพวกเขาที่คนทั่วไปจะไม่ไว้ใจกันและกันเพราะจะได้ไม่สามารถรวมตัวกันต่อต้านได้

ในโลกปัจจุบันนี้นะครับ มันไม่ใช่คนที่เป็นมิตรและเข้าใจผู้อื่นที่จะได้เป็นผู้นำ แต่เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความละอายใจซะมากกว่าที่จะได้เป็น


ไปสู่โลกใหม่

คราวนี้ก็ต้องถามนะครับว่าเราสามารถสร้างสถาบันสังคมที่มีมุมมองใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ได้หรือไม่?

ตอนนี้คนส่วนมากกำลังติดกับอยู่ในวงจรเลวร้ายไปแล้ว เพราะการคิดลบเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ ก็ยิ่งเห็นภาพลบและก็ยิ่งคิดเพิ่มขึ้นอีก
แต่ก็มีคนบางกลุ่มในหลายๆด้านที่ยังมีความศรัทธาในมนุษย์ และดำเนินการตามความเชื่อนั้น

หนึ่งในด้านการศึกษาจิตวิทยานะครับคือการสร้างแรงจูงใจ
สิ่งที่ถูกยอมรับในสังคมคือคนเราจะมีแรงจูงใจจากสิ่งภายนอกไม่ว่าจะเป็นการได้รางวัลอย่างเช่นเงินทองหรือการหลีกเลี่ยงการทำโทษ ซึ่งหมายถึงเราไม่ไว้ใจคนอื่นว่าจะมีแรงจูงใจจากภายใน
ด้านบริหารธุรกิจก็ใช้หลักการนี้เพื่อสร้างการควบคุมบุคลากร
แต่การใช้เงินทองไม่ได้สร้างแรงจูงใจเสมอไป และบางครั้งยังผลักดันให้ทำทุจริตอีกด้วย
มีบริษัทดูแลสุขภาพที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ชื่อว่า Buurtzorg ที่มีการบริหารที่แตกต่างจากองค์กรทั่วไป คือจะไร้การควบคุมและการวางแผนที่องค์กรดั้งเดิมจะทำกัน
ผู้ก่อตั้งชื่อว่า Jos de Blok เขาเชื่อว่าทุกคนมีแรงจูงใจภายในและปล่อยให้ทีมพยาบาลจัดการและดูแลท้องถิ่นของตัวเองอย่างที่เห็นว่าควร

บริษัทก่อตั้งในปี 2006 และปัจจุบันมีทีมพยาบาล 800 ทีม และบริษัทก็ยังได้รางวัลจำนวนมาก
ก็ยังมีบริษัทอื่นๆอย่างเช่น FAVI บริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์จากฝรั่งเศสที่เน้นลดการควบคุมและให้ความไว้วางใจกับบุคลากร และเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตชิ้นส่วนในยุโรปที่ยังเหลืออยู่ทั้งๆที่คู่แข่งย้ายฐานผลิตไปประเทศค่าแรงต่ำกันหมดแล้ว

มันไม่ใช่แค่องค์กรอย่างเดียวนะครับ สังคมเราก็สามารถเดินไปข้างหน้าด้วยความไว้ใจกันได้ และผู้เขียนเห็นว่าเราควรจะเริ่มต้นจากเด็ก
จากการสำรวจนะครับเด็กสมัยนี้รู้สึกว่าตัวเองขาดการควบคุมชีวิตของตัวเอง เพราะผู้ปกครองวางแผนแต่ละวันให้ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือกิจกรรม ทำให้เด็กแทบไม่มีเวลากับการเล่น
การเล่นในที่นี้หมายถึงการที่เด็กมีอิสรภาพในการเรียนรู้และค้นพบเรื่องที่ตัวเองอยากรู้อยากเห็น
หลายคนอาจจะมองเห็นว่าการเล่นนั้นสิ่งที่ไร้สาระ แต่การเล่นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันอนุญาตให้เด็กคิดและทดลองทำได้ด้วยตัวเองซึ่งก็จะฝึกการจินตนาการ การคิดและแรงจูงใจ และถ้าเล่นกับเด็กคนอื่นก็ยังเป็นการฝึกฝนด้านสังคมอีกด้วย
ในปี 2014 มีโรงเรียนรูปแบบใหม่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ชื่อว่า Agora ก่อตั้งโดยนักศิลปะ Sjef Drummen

โรงเรียนนี้นะครับไม่มีห้องเรียนไม่มีการบ้าน ไม่มีเกรด คุณครูที่อยู่ในโรงเรียนก็ไม่ใช่เป็นคุณครูแบบทั่วไปแต่เป็นแบบโคชมากกว่า เด็กนักเรียนทุกคนก็สามารถวางแผนว่าตัวเองต้องการเรียนรู้อะไร
มีตัวอย่างเด็กนักเรียนที่เรียนภาษา เรียน programming หรือแม้กระทั่งวางแผนธุรกิจ
นอกเหนือจากเด็กนักเรียนจะมีจุดประสงค์ของตัวเองแล้วก็ยังมีความรู้สึกเป็นชุมชน และไม่มีเด็กถูก bully หรือรู้สึกเป็นคนนอก
มันไม่ใช่ว่าเด็กนักเรียนจะทำอะไรก็ได้นะครับเพราะโรงเรียนก็ยังมีโครงสร้างอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญคือโรงเรียนเจาะจงที่จะสนับสนุน ท้าทายและทะนุถนอมเด็กๆให้พวกเขาเป็นอย่างที่เขาต้องการจะเป็น แทนที่จะบอกว่าพวกเขาควรจะเป็นอย่างไรตามที่สังคมต้องการ

ตอนนี้ได้พูดถึงด้านธุรกิจและด้านการศึกษาไปแล้วนะครับ คราวนี้มาดูด้านปกครองกันบ้างนะครับ
ในปี 2004 การเลือกตั้งเทศบาลเมือง Torres ประเทศ Venezuela ผู้ชนะนามว่า Julio Chavez เขาสัญญาว่าเขาจะคืนอำนาจให้กับประชาชนและเขาก็ทำตามนั้น
ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปโต้เถียงและตัดสินใจนโยบายทุกอย่างในเขตเทศบาลและรวมถึงการใช้งบทั้งหมด
จริงๆมันไม่ใช่แค่ที่นี่ที่เดียวที่ให้ประชาชนตัดสินใจเรื่องการใช้งบนะครับ มันยังมีอีกในหลายประเทศที่ทำเช่นนี้ในระดับใดระดับหนึ่ง
การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมก็มีผลลัพธ์ที่ดี เพราะเริ่มจะมีความไว้ใจ ความโปร่งใส ความเท่าเทียมและความรู้สึกว่ากลุ่มเดียวกัน

ระบบการปกครองที่ถูกมองในทางลบมากก็คงไม่พ้นระบบคอมมิวนิสต์
หนึ่งในหลักการสำคัญของคอมมิวนิสต์นะครับก็คือการแบ่งปันทรัพยากรส่วนรวม
ชีวิตคนเราใช้หลักการคอมมิวนิสต์เยอะพอสมควร อย่างเช่นพ่อแม่ก็ต้องแบ่งปันทรัพยากรของตัวเองในการเลี้ยงลูกจนกว่าลูกจะโตและสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง
ความเชื่อที่ว่าจะมีคนที่เอาเปรียบทรัพยากรส่วนรวมก็เป็นข้อเสียของระบบนี้
แต่ถ้าวางโครงสร้างที่ถูกต้องการเอาเปรียบก็อาจจะลดลงได้
หนึ่งในระบบที่ทำได้คือการแบ่งเงินปันผลจากทรัพยากรส่วนรวม
ในรัฐอลาสก้าประเทศสหรัฐได้ค้นพบแหล่งน้ำมันมหาศาลในยุค 60
รัฐอลาสก้าเป็นรัฐที่มีความอนุรักษ์นิยมค่อนข้างจะสูงมาก แต่สิ่งที่เขาทำคือก่อตั้งกองทุนเพื่อแบ่งปันรายได้จากน้ำมันให้กับประชาชนของรัฐ ทุกๆปีประชาชนจะมีสิทธิ์ได้เงินปันผลโดยไม่มีเงื่อนไข

ประชากรส่วนใหญ่ก็นำเงินปันผลไปใช้ในด้านการศึกษาหรือลงทุน และทำให้ความยากจนในรัฐลดลง
ถ้ารายได้จากทรัพยากรส่วนรวมของประเทศสามารถนำมาแบ่งให้ประชาชนทุกคนได้ มันก็เปรียบเสมือนการไว้ใจประชาชนและให้อิสรภาพในการเลือกเส้นทางชีวิต และอาจจะนำไปสู่ความรู้สึกมีส่วนร่วมสำหรับประชาชน


ท้ายสุดนะครับผู้เขียนแนะนำว่าวิธีที่เราจะเพิ่มความไว้ใจกับคนอื่นๆคือการเข้าไปสัมผัสกับกลุ่มคนที่แตกต่างจากเราไม่ว่าจะคนละศาสนา คนละสัญชาติ หรือมีความคิดอะไรที่แตกต่างกัน เพราะถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นแต่มันก็ทำให้เราเห็นว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน
ถ้าเราเริ่มมีความเข้าใจกันและกัน มุมมองของคนส่วนมากที่มีต่อมนุษยชาติก็อาจจะเปลี่ยนไปในทางบวก อาจจะทำให้เรามีความหวังในอนาคตของมนุษยชาติก็เป็นได้

ยังมีอีกบางส่วนของหนังสือที่ผมไม่ได้พูดถึงนะครับ ถ้ามีโอกาสก็แนะนำให้ทุกท่านไปอ่านกันด้วยนะครับ

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ

Pop (ป๊อป) BooksDD