[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]
โลกเรามีความคิดและนวัตกรรมมากมายที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราอย่างสิ้นเชิง
ถ้าให้ลองคิดดูว่าความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หลายคนอาจจะจินตนาการว่า จะต้องมีบุคคลที่เป็นอัจฉริยะที่มุ่งมั่นคิดค้นความคิดเหล่านี้แน่ๆ
แต่ความเป็นจริงเบื้องหลัง มันไม่ใช่อย่างนั้นเลยนะครับ
บทความนี้ผมจะมาเล่าถึงรูปแบบการสร้างนวัตกรรม ที่อาจจะเพิ่มโอกาสที่คุณจะค้นพบความคิดใหม่ๆ มาฟังกันนะครับ
หนังสือจะสรุปให้ฟังวันนี้นะครับ Where Good Ideas Come From: The Seven Patterns Of Innovation ที่เขียนโดย Steven Johnson
ณ ตอนนี้เล่มนี้ยังไม่มีแปลนะครับ และชื่อหนังสือแปลว่า “ความคิดดีๆมาจากที่ไหน“
Steven Johnson เป็นนักเขียนด้านวิทยาศาสตร์ ที่เขียนบทความให้หลากหลายโดยสาร และเขียนหนังสือไปแล้ว 12 เล่ม
เขาจบการศึกษาจาก Brown University และ Columbia University

ในเล่มนี้นะครับ ผู้เขียนเห็นว่ามันมี 7 รูปแบบของแหล่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และถ้าเราสร้างความเข้าใจ ก็จะขยายความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมได้

มีสิ่งหนึ่งที่เขาต้องการให้สังคมเปลี่ยนความคิด คือความเข้าใจผิดที่ว่าการแข่งขันจะนำไปสู่นวัตกรรม เพราะความคิดที่ดีๆมันต้องการที่จะเชื่อมโยง รวมตัวกัน ผสมผสาน และให้เกิดการประดิษฐ์ในรูปแบบใหม่ และถ้าสร้างการปิดกั้นมันก็จะทำไม่ได้
เรามาฟังแต่ละข้อก็เลยนะครับ
The Adjacent Possible ความเป็นไปได้ข้างเคียง
ก่อนที่จะเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นนะครับ จักรวาลของเรามีส่วนประกอบต่างๆนาๆ ไม่ว่าจะเป็นโมเลกุลหรือสารเคมี
เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้เริ่มผสมผสานกันอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว สิ่งมีชีวิตขั้นพื้นฐานก็เกิดขึ้น และเมื่อผสมผสานกันไปเรื่อยๆ ความซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
นี่เป็นแหล่งนวัตกรรมรูปแบบที่เรียกว่า The Adjacent Possible หรือความเป็นไปได้ข้างเคียง
รูปแบบนี้นะครับ แสดงให้เห็นว่าในเวลาใดเวลาหนึ่ง สิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นได้ แต่มันก็มีข้อจำกัดด้วยองค์ประกอบที่มีอยู่ในตอนนั้น
และเมื่อการผสมผสานกันเกิดขึ้นแล้ว มันก็เปิดความเป็นไปได้ของการผสมผสานในรูปแบบใหม่ และก็ขยายความเป็นไปได้ข้างเคียง

นวัตกรรมก็เป็นแบบเดียวกันนะครับ คือน้อยครั้งมากที่ความคิดใหม่ๆจะเกิดขึ้นนอกขอบเขตความเป็นไปได้ในตอนๆนั้น
ลองคิดดูนะครับ นวัตกรรมแต่ละอย่างไม่ว่าจะเป็น AI หรือ หุ่นยนต์ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต
หลักฐานของความเป็นไปได้ข้างเคียง คือการที่มากกว่าคนหนึ่งคนค้นพบสิ่งเดียวกันในเวลาใกล้เคียงกัน เพราะมันมีองค์ประกอบที่รอให้ค้นพบอยู่แล้ว
อย่างเช่น การผมค้นพบออกซิเจนโดยสองนักวิทยาศาสตร์ Carl Wilhelm Scheele ในปี 1773 และ Joseph Priestley 1 ปีให้หลัง

ประวัติศาสตร์นวัตกรรมของมนุษย์ เป็นการสำรวจความเป็นไปได้ข้างเคียงและขยายมันออกไปอยู่เสมอ
สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด จะต้องอนุญาตให้ทุกๆองค์ประกอบมีการผสมผสานกันในรูปแบบใหม่ เพื่อผลักดันขอบเขตความเป็นไปได้ต่อไป

เราทุกคนก็เช่นกันนะครับ เพราะในทุกๆด้านที่เรามีส่วนร่วมด้วย จะเปิดโอกาสให้เราผสมผสานกับความคิดที่เรามีอยู่เพื่อสร้างความคิดใหม่ๆ
Liquid Networks เครือข่ายของเหลว
การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกนะครับ มี 2 ลักษณะสำคัญด้วยกัน
สิ่งแรกคือธาตุคาร์บอนที่เป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต และคุณสมบัติพิเศษของมัน คือมันเป็นตัวเชื่อมโยงให้กับธาตุอื่นๆให้รวมตัวกันได้ง่าย
สิ่งที่ 2 คือสภาพแวดล้อมที่อนุญาตให้หลากหลายธาตุรวมตัวกันอย่างคาดไม่ถึง จนทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดคือของเหลว

ในด้านนวัตกรรมปัจจุบันก็คล้ายๆกันนะครับ
ถ้าเราต้องการค้นพบความคิดใหม่ๆ เราก็ต้องเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราเชื่อมโยงกับความคิดและคนอื่นๆได้ง่าย ที่จะช่วยให้สำรวจความเป็นไปได้ข้างเคียงได้
นี่เป็นแหล่งนวัตกรรมรูปแบบที่ 2 ที่เรียกว่า Liquid Network หรือว่าเครือข่ายของเหลว
หลังจากการปฏิวัติการเกษตรนะครับ มนุษย์เราก็เริ่มจะมีถิ่นฐาน และที่อยู่อาศัยก็มีประชากรหนาแน่น ทำให้ความคิดมีความคล่องตัว และความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงของความคิดในรูปแบบใหม่ๆ ก็ทวีคูณด้วยเช่นกัน

นี่เป็นเหตุผลที่นวัตกรรมจะมาจากหัวเมืองใหญ่ๆซะเป็นส่วนมาก
ตัวอย่างที่ดีคือยุคเรอเนซองส์ ที่นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะจะมาจากอิตาลีตอนเหนือ เพราะเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยอยู่ในตัวเมืองเยอะที่สุดในยุโรปตอนนั้น

ถ้าคุณเป็นผู้นำองค์กรนะครับ คุณควรจะคำนึงถึงสภาพวาดล้อมภายใน และดูว่ามันอนุญาตให้ความคิดคล่องตัวมากพอหรือไม่ เพราะไม่แน่ว่าความคิดที่มีอยู่ อาจจะผสมผสานให้เกิดสิ่งใหม่ๆได้

The Slow Hunch ลางสังหรณ์ที่ล่าช้า
ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของนวัตกรรมนะครับ มันยากที่จะอดคิดว่าความคิดที่เปลี่ยนโลกได้สำเร็จ เป็นเพราะมันมีความยอดเยี่ยมด้วยตัวมันเอง หรือด้วยความอัจฉริยะของคนคิด

แต่นี้อาจทำให้เรามองข้ามปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เพราะอาจจะมีความคิดที่ยอดเยี่ยมแต่ก็ล้มเหลวเพราะไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
นี่เป็นแหล่งนวัตกรรมรูปแบบที่ 3 ที่เรียกว่า Slow Hunch หรือลางสังหรณ์ที่ล่าช้า

ที่หมายถึงนะครับ คือบ่อยครั้งเราจะนึกถึงการนวัตกรรมว่ามียอดอัจฉริยะบางคนที่เกิดความคิดได้ทันที
แต่จริงๆแล้วผู้คิดค้นเขามีลางสังหรณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับความคิดนั้น และใช้เวลาในการพัฒนาและพยุงให้มันอยู่รอด เพื่อที่มันจะได้เชื่อมต่อกับความคิดอื่นๆให้มีความสมบูรณ์
และถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เชื่อมต่อไม่ได้ มันก็จะล้มเหลว
ยกตัวอย่างเช่น Charles Darwin เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีการวิวัฒนาการเป็นเวลาสักพักหนึ่งแล้ว แต่เขาก็ยังติดชะงัก
จนกระทั่งเขาได้อ่านผลงานของนักเศรษฐศาสตร์ Thomas Malthus เกี่ยวกับการเติบโตของประชากร จึงทำให้เขาผสมผสานทั้งสองอย่างและร่างทฤษฎีได้สำเร็จ

ความท้าทายในด้านนี้ คือคุณจะต้องมีระบบในการจัดเก็บความคิดหลากหลายที่คุณมี เพื่อที่มันจะรอการเชื่อมโยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
Serendipity ค้นพบโดยบังเอิญ
บ่อยครั้งนะครับ คนเราจะเชื่อมโยงงานสร้างสรรค์หรือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์กับความฝัน
อย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย Dmitri Mendeleev เขากล่าวว่าเขาฝันที่จะเรียงลำดับธาตุตามน้ำหนักของอะตอมที่เป็นพื้นฐานของ Periodic Table หรือตารางธาตุ

เรื่องนี้ก็ไม่แปลกนะครับ เพราะว่าตอนที่เราฝัน มันมีปฏิกิริยาทางประสาทที่เชื่อมต่อหลากหลายความทรงจำที่มีอยู่แล้วให้เข้าหากัน และบางครั้งก็กลายเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมได้

นี่เป็นแหล่งนวัตกรรมรูปแบบที่ 4 ที่เรียกว่า Serendipity หรือความบังเอิญ
การพัฒนาที่สำคัญที่สุดที่เชื่อมต่อหลากหลายความคิดก็คือโลกอินเทอร์เน็ต
แต่ในสังคมก็ยังมีความพยายามจะปิดกั้นการแบ่งปันข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร หรือว่าทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผิวเผินแล้วมันดูเหมือนว่าเป็นการให้รางวัลกับผู้ที่คิดค้นความคิดนั้นได้
แต่ผู้เขียนเห็นว่าถ้ามองภาพรวมแล้ว มันจะกระทบการคิดค้นที่ยิ่งใหญ่ซะมากกว่า
ระบบที่ดีกว่าจะต้องเชื่อมโยงความคิดของตัวบุคคลเข้ากับความคิดของกลุ่มให้ได้ เพราะจะทำให้ความคิดที่ดีมีโอกาสเชื่อมโยงกับความคิดอื่นๆโดยบังเอิญเพื่อให้มันพัฒนาต่อไปจนสมบูรณ์ และวิธีเดียวที่ทำได้ก็คือจะต้องให้มีความโปร่งใสและไม่ปิดบัง

Error ความผิดพลาด
ประวัติศาสตร์ของการค้นพบนะครับ เต็มไปด้วยหลากหลายความสำเร็จที่น่ามหัศจรรย์
แต่บางครั้งความล้มเหลวก็ทำให้เกิดการค้นพบที่ยอดเยี่ยมได้ด้วยเช่นกัน
แหล่งนวัตกรรมรูปแบบที่ 5 นะครับ ก็คือ Error หรือความผิดพลาด
ยกตัวอย่างนะครับ นักเคมี Joseph Priestley เขาใส่พืชเข้าไปในโถเพื่อไม่ให้มันรับออกซิเจน และคิดว่ามันน่าจะตายเหมือนกับหนูและแมงมุมที่เขาเคยทดลอง แต่เขาคาดการณ์ผิดเพราะมันกลับรอด จึงทำให้เขาพบว่าพืชมีการปล่อยออกซิเจนออกมา และได้วางพื้นฐานการค้นพบ photosysthesis หรือการสังเคราะห์ด้วยแสง

จากการสำรวจนะครับ คนที่สร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ ส่วนมากจะทำความผิดพลาดบ่อยกว่าคนทั่วไป เพราะเขาสร้างความคิดมากกว่าคนอื่นไม่ว่าจะดีหรือไม่

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่จะต้องก้าวข้ามเพื่อไปสู่ความเป็นเลิศ เพราะมันบังคับให้เราต้องออกจากขอบเขตที่คุณเคย และต้องสำรวจความเป็นไปได้ต่อไป
ปัญหาก็คือ บ่อยครั้งความผิดพลาดถูกมองข้ามเพราะอาจคิดว่ามันไม่ได้มีความสำคัญ
สภาพแวดล้อมที่ดีคือจะต้องเปิดรับมุมมองภายนอกในการพิจารณาความผิดพลาด เพราะคนอื่นอาจจะไม่มองข้ามมัน
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ก็ไม่ควรมีระบบการบริหารที่ควบคุมมากเกินไปเพื่อกำจัดความผิดพลาดทั้งหมด เพราะการเรียนรู้จากความผิดพลาดที่สร้างสรรค์ จะนำไปสู่นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ได้

Exaptation การเปลี่ยนหน้าที่ของโครงสร้าง
ความบังเอิญ การเชื่อมโยง และความผิดพลาดนะครับ จะช่วยให้สำรวจความเป็นไปได้ข้างเคียง
แต่เมื่อค้นพบความเป็นไปได้แล้ว เราก็ต้องสำรวจต่อไปว่ามันจะไปได้ไกลขนาดไหน
แหล่งนวัตกรรมรูปแบบที่ 6 นะครับ Exaptation ถ้าแปลตรงๆ ก็คือการเปลี่ยนหน้าที่ของโครงสร้าง
ตัวอย่างที่ดีคือ Johannes Gutenberg ผู้คิดค้น printing press หรือแท่นตีพิมพ์ ที่แต่ละชิ้นส่วนได้ถูกประดิษฐ์มานานแล้วเพื่อจุดประสงค์อื่น และด้วยความชำนาญด้านโลหะ เขารวบรวมแต่ละชิ้นส่วนและนำมาประยุกต์จนสร้างเป็นแท่นตีพิมพ์ได้

การสำรวจนะครับ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าการอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่จะมีผลกระทบในด้านลบกับความสัมพันธ์ทางสังคม
แต่จากงานวิจัยของนักสังคมวิทยา ความคิดนี้อาจจะไม่ถูกต้อง
เหตุผลคือคนเรามีโอกาสมากกว่าที่จะพบปะและรวมตัวกับคนที่มีความคิดและความสนใจคล้ายๆกัน
เมื่อมีหลายกลุ่มที่มีความคิดแตกต่าง และถ้าแบ่งปันพื้นที่ที่ใกล้ชิดกัน ความคิดของแต่ละกลุ่มก็อาจจะรั่วไหลไปกลุ่มที่ใกล้เคียง และอาจจะเกิดการผสมผสานที่นำไปสู่ความคิดใหม่ๆ
ในอดีตที่ยุโรปนะครับ นักคิดค้นที่มีชื่อเสียงหลายคน ชอบที่จะไปพูดคุยกันที่ร้านกาแฟ เพราะเขาจะได้พบปะกับคนหลากหลายที่มีความคิดแตกต่าง

ฉะนั้นนะครับ ถ้าคุณต้องการได้ความคิดใหม่ๆ คุณก็ต้องเข้าไปสัมผัสกับความคิดหลากหลายในด้านที่คุณอาจจะไม่ชำนาญหรือสนใจ เพราะอาจจะเกิดความเชื่อมโยงและความบังเอิญที่คาดไม่ถึง

Platforms แพลตฟอร์ม
ในด้านนิเวศวิทยานะครับ มีสิ่งมีชีวิตประเภทที่เรียกว่า ecosystem engineers แปลก็คือวิศวกรระบบนิเวศ ซึ่งเป็นสัตว์ที่สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรวม ตัวอย่างที่ดีคือตัวบีเวอร์ เพราะมันเปลี่ยนสภาพป่าให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สนับสนุนความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลาย

การสร้างนวัตกรรมก็เหมือนกันนะครับ คือการวางพื้นฐานที่ดีจะช่วยให้ความคิดดีๆจำนวนมากงอกเงยได้ง่าย และนี้ก็เป็นแหล่งนวัตกรรมรูปแบบสุดท้าย ก็คือ Platform
ตัวอย่างนะครับก็คือระบบ GPS ที่ตอนแรกถูกพัฒนาเพื่อใช้ในด้านการทหาร และตอนนี้ก็เป็นประโยชน์ทางด้านขนส่งและอีกมากมาย

แพลตฟอร์มที่ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์มากที่สุดจะต้องมีลักษณะที่เกิดการทับซ้อนกันได้
อินเตอร์เน็ตเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เพราะมันอนุญาตให้ใครก็ได้สร้างแพลตฟอร์มเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นอีก
ดูอย่าง social media สิครับ มันอยู่บนแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ต และมันก็กลายเป็นแพลตฟอร์มด้วยตัวมันเองที่ทำให้คนเราเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้ง่าย
แพลตฟอร์มก็อาจจะเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ข้อมูลและความคิด ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ ให้สามารถผสมผสานกันได้ อย่างเช่นศูนย์วิจัยหรือว่าสถาบันการศึกษา และที่สำคัญคือต้องไม่ปิดกั้นและต้องสามารถแบ่งปันได้
ท้ายสุด
จากที่อธิบายไปทั้งหมดนะครับ ผู้เขียนเห็นว่าแก่นแท้ของนวัตกรรม คือการเชื่อมโยงทางความคิดที่ต้องเกิดขึ้นอย่างอิสระและไม่ถูกปิดกั้น และการแข่งขันด้านธุรกิจก็ไม่ได้เป็นตัวผลักดันเสมอไป
รูปแบบนวัตกรรมที่พูดไปแล้วก็สามารถเกิดขึ้นในชีวิตเราได้
ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึกความคิดที่คุณมี การพูดคุยกับบุคคลหลากหลาย การเรียนรู้จากความผิดพลาด หรือการเปิดรับความบังเอิญและโอกาสที่เกิดขึ้น
ทั้งหมดจะช่วยให้ความคิดของคุณมีความสมบูรณ์ขึ้น หรือคนอื่นอาจจะต่อยอดความคิดของคุณ ซึ่งคุณก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความคิดที่ยิ่งใหญ่ได้
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ
Pop (ป๊อป) BooksDD
—