[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]


ว่าด้วยเรื่องการศึกษานะครับ ในสมัยก่อน การมีแค่ปริญญาก็อาจจะเพียงพอในการมีความสำเร็จในการงาน
แต่ในปัจจุบันนี้นะครับ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการที่จะมีความได้เปรียบ จะขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถเรียนรู้ได้เร็วขนาดไหน

หนังสือจะมาสรุปให้ฟังวันนี้นะครับ Ultralearning ที่แปลคร่าวคร่าวๆว่า “เรียนรู้อย่างสุดขีด”

ณ ตอนนี้เล่มนี้ยังไม่มีแปลนะครับ และผู้เขียนชื่อว่า Scott Young เขาได้รับความสนใจอย่างมากเพราะเขาได้ทดลองเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัย MIT ที่ธรรมดาแล้วต้องใช้เวลา 4 ปี แต่เขาเรียนได้ด้วยตัวเองภายใน 1 ปี

เรามาฟังกันนะครับว่าเขาใช้กลยุทธ์อะไร? มันจะเป็นประโยชน์ให้กับคุณยังไง? และคุณจะนำไปใช้ได้อย่างไร?


Ultralearning คืออะไร?

Ultralearning หรือการเรียนรู้อย่างสุดขีดนะครับ เป็นกลยุทธ์การเรียนรู้ด้วยตัวเองที่มีความเข้มข้น และเจาะจงไปที่เป้าหมายที่ชัดเจน และอย่างลึกซึ้งภายในเวลาที่รวดเร็ว

กลยุทธ์นี้จะช่วยคุณพัฒนาทักษะได้อย่างรวดเร็วเพื่อที่คุณจะมีความได้เปรียบ เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีเริ่มจะเข้ามาแทนที่งานหลายงาน และการแข่งขันที่สูงขึ้น เรายิ่งต้องมีความโดดเด่น
นอกเหนือจากนั้นแล้ว มันยังช่วยปิดช่องว่างในความรู้ ที่การศึกษาแบบทั่วไปอาจจะทำไม่ได้ และยิ่งเดี๋ยวนี้การศึกษาก็มีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นอีกด้วย
และข้อดีสุดท้าย คือมันมีความยืดหยุ่นทางด้านเวลา เพราะคุณสามารถเรียนรู้ได้ทุกเมื่อ

ผู้เขียนก็ได้ร่างหลักการไว้ 9 อย่าง ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับเปลี่ยนและนำไปประยุกต์ใช้ตามที่เหมาะสม


Metalearning วางแผนผังการเรียนรู้

หนึ่งในความท้าทายของการเรียนรู้ด้วยตัวเองนะครับ คือเราอาจจะใช้วิธีเรียนรู้ที่ผิด

ฉะนั้น หลักการแรกคือเราจะต้องเรียนรู้วิธีที่จะเรียนรู้ โดยการวางแผนเส้นทางการพัฒนาในด้านนั้นให้ได้อย่างถูกต้อง

คุณต้องพัฒนาเส้นทางโดยการตั้ง 3 คำถาม ทำไม อะไร และอย่างไร

สิ่งแรก คือคุณต้องการเรียนรู้หรือพัฒนาในด้านนั้นเพราะอะไร
คุณต้องการเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม หรือว่าต้องการทำเพราะเป็นความสนใจส่วนตัว

สิ่งที่ 2 คือคุณต้องรู้ว่าคุณต้องรู้อะไรบ้าง อย่างเช่นคุณต้องศึกษาข้อมูลประเภทไหน อาจจะเป็นการเรียนรู้วิธีทำ หรือว่าเรียนรู้ข้อเท็จจริง
คุณก็ควรไฮไลท์ส่วนที่คุณคิดว่าน่ามีความยากเป็นพิเศษเพื่อที่คุณจะวางแผนได้ล่วงหน้า

สิ่งที่ 3 คือหาวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับด้านนั้น
วิธีที่ดีคือไปถามคนที่เขามีทักษะในด้านนั้นแล้วว่าเขาเริ่มต้นอย่างไร
คุณอาจจะไม่ได้ต้องการเรียนรู้ทุกอย่างในด้านนั้นก็เป็นได้ คุณก็แค่เจาะจงสิ่งที่คุณต้องการก็เพียงพอ

สิ่งที่ควรระวัง คืออย่าใช้เวลาวางแผนนานเกินไป เพราะอาจจะไม่ได้เริ่มทำสักที


Focus จดจ่อกับการเรียนรู้

เมื่อคุณเริ่มจะลงมือเรียนรู้แล้วนะครับ ความท้าทายต่อไปคือสิ่งรบกวน และหลักการที่ 2 นี้คือจะต้องสร้างการจดจ่อในการเรียนรู้ให้มากที่สุด

มี 3 อุปสรรคในการโฟกัสนะครับ

(1) สิ่งแรก คือการผัดวันประกันพรุ่ง
ข้อนี้คุณจะต้องฝึกฝนการมีวินัยโดยการเริ่มทีละนิดจนกว่าคุณจะสามารถเริ่มต้นได้อย่างสม่ำเสมอ

(2) สิ่งที่ 2 คือถึงแม้ว่าคุณจะเริ่มต้นได้แล้วแต่ก็จะมีสิ่งรบกวนเข้ามา
คุณควรหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และคิดถึงระดับความยากของวิธีการเรียนรู้
จากงานวิจัยนะครับ การโฟกัสประมาณ 50 ถึง 1 ชั่วโมงเป็นเวลาที่ดี แล้วก็พักประมาณ 10 นาทีหลังจากนั้น

(3) สิ่งที่ 3 คือการใช้วิธีโฟกัสผิดรูปแบบ
การโฟกัสจะขึ้นอยู่กับพลังงานและความตื่นตัว และมันสามารถถูกกระตุ้นได้
การเรียนรู้บางอย่างอาจจะต้องใช้การตื่นตัวที่สูง อย่างเช่นในด้านกีฬา ในขณะที่บางอย่างก็ควรใช้การตื่นตัวที่ต่ำ อย่างเช่นการอ่านหนังสือ
มันขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบการโฟกัสในรูปแบบไหน และก็สร้างสิ่งกระตุ้นแบบที่เหมาะสม เพราะไม่แน่ว่าบางคนอาจจะชอบอ่านหนังสือในที่ที่มีคนเยอะๆก็เป็นไปได้

ทั้งหมดนะครับ คือคุณจะต้องหาแนวทางที่เหมาะสมกับตัวคุณเองมากที่สุดในการสร้างการโฟกัส


Directness เจาะจงไปที่ทักษะที่ต้องการ

ปัญหาของการศึกษาในรูปแบบปัจจุบันนะครับ คือมันกว้างเกินไป และมีการเข้าใจผิดว่าสิ่งที่เรียนรู้จะสามารถนำไปใช้ในรูปแบบอื่นได้ แต่จากงานวิจัยมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยอย่างที่คิด

หลักการที่ 3 คือเราจะต้องเจาะจงไปในสิ่งที่ต้องการพัฒนา
ที่หมายถึงนะครับ วิธีที่ดีที่สุดคือการฝึกฝนทักษะนั้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต้องการจะใช้จริงๆ
อย่างเช่นถ้าอยากพัฒนาการพูดในที่สาธารณะ ก็ควรหาโอกาสฝึกฝนจะดีกว่า แทนที่จะไปหาหนังสือมาอ่าน

ถึงแม้ว่าการกระทำจริงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ แต่หลายคนก็หลีกเลี่ยงเพราะไม่ต้องการออกจากขอบเขตที่คุ้นเคย ขาดแรงบันดาลใจ หรือไม่มีเวลา

วิธีที่จะเจาะจงการเรียนรู้ได้ คือการสร้างโปรเจคที่จะต้องสร้างผลิตผลมาเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างเช่นถ้าเรียนกีต้าร์ ก็ควรสร้างเป้าหมายว่าจะเล่นเพลงนึงให้ได้
การนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อม และสร้างแบบจำลองที่ฝึกหัดได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
และคุณไม่ควรกลัวที่จะตั้งเป้าหมายที่สูงเพื่อที่จะผลักดันตัวเองให้ก้าวข้ามมันไปให้ได้ เพราะมันจะเป็นประโยชน์ในภายหลัง


Drill ฝึกซ้ำๆตรงที่จุดอ่อน

เมื่อเราเริ่มต้นเรียนรู้หรือฝึกฝนอะไรสักอย่างนะครับ เราอาจจะเจอบางส่วนของทักษะนั้นที่ยากที่จะก้าวข้ามและทำให้เราหยุดชะงัก และไปต่อไม่ได้

นี่ก็เป็นหลักการที่ 4 นะครับ คือจะต้องหาจุดอ่อนและแยกมันออกมาเพื่อฝึกซ้ำๆ

ความท้าทายคือคุณจะต้องหาส่วนของทักษะที่เมื่อฝึกฝนซ้ำๆแล้วจะปรับปรุงภาพรวมของทักษะได้ดี หลังจากนั้นก็ออกแบบการฝึกฝนที่เหมาะสม

ตัวอย่างที่ดีคือการฝึกภาษา
บางคนอาจจะมีปัญหาในการออกเสียง คุณก็ควรแยกส่วนที่พูดผิดออกมาและฝึกซ้ำๆ หลังจากที่พูดได้แล้วก็ลองฝึกพูดทั้งหมดอีกครั้ง

การฝึกฝนซ้ำๆในที่นี้นะครับ มันอาจจะดูยากและน่าเบื่อหน่าย แต่สิ่งที่ยาก จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้มากกว่าสิ่งที่ง่าย


Retrieval ทบทวนเพื่อดึงออกมาใช้

สิ่งที่เราเรียนรู้นะครับ จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราสามารถดึงออกมาใช้ตอนที่เราต้องการ

หลักการที่ 5 คือสร้างการทบทวนเพื่อดึงข้อมูลออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทบทวนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการดูผ่านๆนะครับ แต่เป็นการทดสอบตัวเองในระดับความยากที่เหมาะสม และจากงานวิจัยนี้เป็นวิธีทบทวนที่ดีที่สุด เพราะคุณสามารถตั้งคำถามและตรวจสอบคำตอบเพื่อได้ feedback ทันที

ปัจจัยสำคัญในการทบทวนคือต้องเว้นระยะที่ไม่สั้นหรือนานเกินไป เพราะมันจะกระทบกับการจดจำ

การทดสอบตัวเองก็ทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แฟลชการ์ด การเปลี่ยนคำตอบให้กลายเป็นรูปแบบคำถาม หรือการเขียนสิ่งที่เรียนรู้ออกมาทันที และคุณก็ควรท้าทายตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้


Feedback ดูผลตอบรับเพื่อพัฒนาต่อไป

ไม่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรก็ตามนะครับ มันสำคัญที่เราต้องรู้ว่าเราพัฒนาไปถึงไหนแล้ว

หลักการที่ 6 วิธีเดียวที่จะรับรู้ความคืบหน้าได้ คือการได้รับ feedback เพื่อที่จะพัฒนาต่อไป

คนที่ต้องการพัฒนาอย่างรวดเร็วจะแสวงหา feedback อยู่ตลอด ในขณะที่หลายคนอาจหลีกเลี่ยงเพราะไม่ต้องการรู้สึกอึดอัด
แต่บ่อยครั้ง ความคาดหวังต่อการได้รับ feedback มันแย่กว่าความเป็นจริง

Feedback ก็อาจจะมาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าเกี่ยวกับผลลัพธ์ว่าดีหรือไม่ การให้ข้อมูล หรือการให้วิธีการแก้ไข

วิธีที่จะให้ feedback มีประสิทธิภาพสำหรับคุณ คือต้องดูว่ามันมีความสร้างสรรค์ หรือเป็นแค่คำติชมลอยๆ
คุณจะต้องดูด้วยว่า feedback ที่ได้เป็นอย่างที่คุณคาดหวังไว้หรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่าคุณกำลังทำสิ่งที่ง่ายเกินไป เพราะ feedback ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นสิ่งที่คุณคาดไม่ถึง ฉะนั้นคุณควรปรับการเรียนรู้ให้มีความยากที่เหมาะสม
อีกหนึ่ง feedback ที่ควรแสวงหา คือเกี่ยวกับวิธีที่คุณกำลังใช้ในการเรียนรู้ด้วย เพราะไม่แน่ว่าอาจจะมีวิธีที่ดีกว่าที่ให้คุณพัฒนาได้เร็วขึ้น
บางคนก็อาจชอบที่จะได้ feedback ที่รวดเร็วและจริงจัง และถ้าได้รับบ่อยๆ ก็จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น


Retention สร้างการจดจำระยะยาว

ก่อนที่เราจะดึงข้อมูลออกมาใช้ได้นะครับ เราก็ต้องจำมันให้ได้ซะก่อน

หลักการที่ 7 คือจะต้องสร้างวิธีที่จะจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ในระยะยาว

เหตุผลที่เราลืมสิ่งที่เรียนรู้
(1) อาจจะเป็นระยะเวลา
(2) อาจจะเป็นเพราะเราเรียนรู้สิ่งใหม่จึงกระทบกับข้อมูลเก่าๆ
(3) หรือไม่ก็เพราะเราลืมสัญญาณที่จะดึงข้อมูลนั้นออกมาได้

มี 4 กลยุทธ์ที่จะช่วยให้จดจำได้ดีขึ้นนะครับ

(1) กลยุทธ์แรกคือการเพิ่มระยะการเรียนรู้
อย่างเช่นถ้าคุณต้องใช้เวลา 10 ชั่วโมงเพื่อเรียนรู้อะไรสักอย่าง ถ้าใช้เวลา 5 วันวันละ 2 ชั่วโมง จะดีกว่า 2 วันวันละ 5 ชั่วโมง

(2) กลยุทธ์ที่ 2 ถ้าเป็นไปได้ ให้เน้นการเรียนรู้ที่เจาะจงไปที่ขั้นตอนและการฝึกฝน แทนที่จะเรียนรู้ข้อมูลหรือท่องจำจะดีกว่า

(3) กลยุทธ์ที่ 3 ควรจะเรียนรู้หรือฝึกฝนมากกว่าที่วางแผนไว้ เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการจดจำ

(4) กลยุทธ์สุดท้ายนะครับ ใช้เทคนิคการจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รูปภาพ ใช้เสียง หรือการเชื่อมโยงแนวคิดหลักๆ
ในข้อนี้ ผมแนะนำให้ไปชมคลิป Unlimited Memory สร้างสมองให้อัจฉริยะนะครับ


Intuition เจาะลึกเพื่อสร้างสัญชาตญาณ

แน่นอนว่าการสร้างความจดจำที่ดีจะเป็นประโยชน์ แต่ในโลกความจริง เราก็ต้องเชื่อมโยงความรู้ไปกับสิ่งอื่นๆได้ด้วย

หลักการที่ 8 นะครับ คือจะต้องเจาะลึกในการสร้างความเข้าใจอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสร้างสัญชาตญาณในความรู้ด้านนั้น

กฎเบื้องต้นที่จะเจาะลึกความรู้ได้ คือ (1) อย่ายอมแพ้เร็วเกินไป (2) สร้างข้อพิสูจน์ในการเรียนรู้ (3) เน้นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม (4) อย่าหลอกตัวเองว่ารู้ทุกอย่างแล้ว

นักฟิสิกส์ที่โด่งดังชื่อว่า Richard Feynman ได้ร่างเทคนิคการเรียนรู้ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

(1) ขั้นตอนแรกคือเขียนปัญหาหรือสิ่งที่คุณต้องการจะสร้างความเข้าใจและเรียนรู้

(2) ขั้นตอนที่ 2 คือให้คิดว่าคุณกำลังสอนสิ่งนั้นให้กับคนอื่นอยู่
ถ้าเป็นรูปแบบแนวคิด ก็ควรสร้างการอธิบายเหมือนว่าอีกฝ่ายไม่รู้เรื่องนี้เลย
ถ้าเป็นรูปแบบปัญหา ก็อธิบายขั้นตอนการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

(3) คุณรู้สึกว่าการอธิบายยังเข้าใจยาก ก็ควรกลับไปเรียนรู้เพิ่มเติม

เทคนิคนี้จะเปิดเผยช่องโหว่ในความรู้ให้ชัดเจน เพื่อที่คุณจะสร้างความเข้าใจได้มากขึ้นอีก


Experimentation ทดลองในขอบเขตที่ไม่คุ้นเคย

ตอนนี้ก็มาถึงหลักการสุดท้ายนะครับ คือถ้าคุณต้องการจะยกระดับการเรียนรู้ให้ถึงขั้นสูงสุด คุณก็ต้องกล้าทดลองในขอบเขตที่ไม่คุ้นเคย

เหตุผลที่การทดลองจะทำให้พัฒนาได้อย่างดีเยี่ยม (1) คือคุณจะได้พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่เจาะจงกับตัวคุณ (2) มันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น (3) และมันจะสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับผลงานของคุณ

การทดลองก็แบ่งเป็น 3 ระดับ
(1) ทดลองกับทรัพยากรในการเรียนรู้
(2) ทดลองกับเทคนิคของทักษะที่ต้องการพัฒนา
(3) และสิ่งสุดท้ายคือทดลองกับแต่ละสไตล์

บุคคลที่เป็นตัวอย่างที่ดีคือ Vincent Van Gogh ที่ได้ทดลองหลากหลายด้านของการวาดภาพ จนได้พัฒนารูปแบบของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์

การทดลองก็จะมีหลายรูปแบบ

(1) เลียนแบบสิ่งที่มีอยู่แล้วสร้างใหม่

(2) ทำการเปรียบเทียบเพื่อดูว่าสิ่งไหนเหมาะสมกว่า

(3) สร้างข้อจำกัดในการทดลอง

(4) ขยายความหลากหลายโดยการเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะอาจจะนำมาผสมผสานให้ออกมาเป็นรูปแบบใหม่

(5) สำรวจความสุดโต่งในสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้
อย่างเช่นถ้าคุณฝึกวาดภาพ ก็ลองใช้สีที่แปลกใหม่ เพราะไม่แน่ว่าคุณอาจจะค้นพบสิ่งที่คาดไม่ถึง

การเรียนรู้นะครับ มีความไม่แน่นอน และตราบใดที่ยังอยู่ในขอบเขตที่คุ้นเคย คุณก็จะพัฒนาได้ยาก
ที่สำคัญอย่างมาก คือก่อนที่จะเริ่มทดลองและเรียนรู้ คุณจะต้องมี mindset ที่ว่าคุณจะสามารถพัฒนาให้ได้ซะก่อน


ท้ายสุดนะครับ ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว คือความสามารถในการเรียนรู้จะแข็งแกร่งขึ้น และคุณจะใช้มันได้ตลอดชีวิต และความเป็นไปได้ที่คุณจะไปถึงศักยภาพของคุณ ก็จะไม่มีขีดจำกัด

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ

Pop (ป๊อป) BooksDD