[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]
ถ้าดูข่าวทุกวันนี้นะครับ ข่าวที่จะเห็นบ่อยก็คือความขัดแย้งระหว่างประเทศ
หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเพราะผู้นำบางประเทศชอบที่จะรุกรานประเทศอื่น
แต่มี 1 ปัจจัยที่อาจจะถูกมองข้าม คือภูมิศาสตร์ของประเทศและภูมิภาค
บทความนี้จะเล่าเกี่ยวกับความสำคัญของภูมิศาสตร์ ที่จะกระทบความเป็นอยู่และนโยบายของหลายๆประเทศนะครับ
หนังสือที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้นะครับ Prisoners Of Geography แปลตรงๆก็คือ “นักโทษทางภูมิศาสตร์” 10 แผนที่ที่อธิบายการเมืองโลก
ผู้เขียนคือ Tim Marshall เป็นนักข่าวชาวอังกฤษที่เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ภูมิศาสตร์และการเมือง
ดินแดนที่เราอยู่อาศัย เป็นตัวชี้วัดความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็นภูเขา แม่น้ำ ทะเลทราย ที่ราบ หรือลักษณะอะไรก็ตาม ทุกอย่างจะกระทบการพัฒนาของสังคม การเมือง และการทำสงคราม
ผู้เขียนได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้เดินทางกับกองกำลังทหารสหรัฐในตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ตอนที่กำลังเข้าไปบุกเมืองหลวงกรุงคาบูล
แต่การเดินทางก็ต้องหยุดชะงัก เพราะเจอพายุทะเลทรายที่รุนแรง ถึงขั้นที่การสื่อสารผ่านดาวเทียมก็ยังช่วยไม่ได้
นี่ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากขนาดไหน แต่ความเป็นจริงด้านภูมิศาสตร์ ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง และอาจจะสร้างข้อจำกัดในบางด้าน
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ความขัดแย้งในหลายๆภูมิภาค ยังเกิดขึ้นจากการแบ่งแยกดินแดนโดยอำนาจอาณานิคมในอดีต ทั้งๆที่มันขัดแย้งกับลักษณะภูมิศาสตร์
ฉะนั้น มันสำคัญที่เราจะต้องสร้างความเข้าใจในด้านนี้ เพื่อที่จะเข้าใจโลกปัจจุบันและอนาคตของเรา
รัสเซีย Russia
ประเทศแรกที่จะพูดถึงนะครับ ก็คือรัสเซีย
รัสเซียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความกว้างถึง 6 พันไมล์ ครอบคลุม 2 ทวีป และ 11 time zones (เขตเวลา)
เทือกเขา Ural (Ural Mountains) แบ่งกั้นรัสเซียฝั่งตะวันตกและตะวันออก
รัสเซียฝั่งตะวันตก ใกล้ชิดกับที่ราบยุโรปตอนเหนือ (North European Plains) ทำให้กองกำลังต่างชาติรุกรานเข้ามาได้ง่าย และในอดีตก็เกิดขึ้นหลายครั้ง
ในการป้องกันการรุกราน รัสเซียก็ต้องเป็นคนรุกรานก่อนเพื่อที่จะยึดพื้นที่ที่ปกป้องได้ง่าย โดยเฉพาะประเทศคือลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ที่รวมกันเรียกว่ารัฐบอลติก (Baltic States)
ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียได้ครอบครองหลายประเทศในยุโรปตะวันออก และรวมตัวเป็น Soviet Union
แต่หลังจากการล่มสลายของ Soviet พันธมิตรฝั่งตะวันตกอย่าง NATO ก็ดึงดูดบางประเทศเหล่านี้เข้าไปฝ่ายตัวเอง
หนึ่งปัญหาใหญ่ของรัสเซีย คือการเข้าถึงท่าเรือน้ำอุ่น ทำให้แสดงอำนาจในแปซิฟิกตะวันตกได้ยาก
นี่เป็นเหตุผลที่ประเทศยูเครนมีความสำคัญต่อรัสเซียอย่างมาก เพราะมีท่าเรือน้ำอุ่นที่จะช่วยปกป้องการรุกรานจากยุโรปตะวันตก
สหรัฐและยุโรปพยายามดึงยูเครนมาอยู่ฝ่ายตัวเอง และหลังจากการขับไล่อดีตประธานาธิบดีที่เข้ากับรัสเซียได้สำเร็จ รัสเซียจึงต้องเข้าไปยึดคาบสมุทรไครเมีย (Crimea Peninsula) เพราะเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ
รัสเซียก็ยังให้การสนับสนุนกับกองกำลังเชื้อสายรัสเซียในยูเครน และอาจจะใช้ข้ออ้างว่าต้องการปกป้องคนเชื้อสายรัสเซียในประเทศรัฐบอลติก เพื่อที่จะยึดประเทศเหล่านี้ในการขยายพื้นที่ป้องกัน แต่นั่นอาจจะทำให้ NATO จำเป็นจะต้องตอบโต้ด้วยกำลัง
รัสเซียยังมีอาวุธสำคัญ คือแหล่งแก๊สธรรมชาติ
1 ใน 4 ของแก๊สธรรมชาติที่ใช้ในยุโรปมาจากรัสเซีย และรัสเซียสามารถกดดันอดีตประเทศร่วมโซเวียตไม่ให้เข้าร่วมกับสหรัฐหรือยุโรป
สหรัฐก็พยายามช่วยยุโรปให้ลดการพึ่งแก๊สธรรมชาติจากรัสเซีย แต่รัสเซียก็กำลังสร้างท่อขนส่งไปที่จีนเพื่อไม่ให้เสียรายได้มากเกินไป
จีน China
มาพูดถึงประเทศจีนกันต่อเลยนะครับ
แผ่นดินจีน ลูกล้อมรอบด้วยสิ่งกีดกั้นทางภูมิศาสตร์ คือทะเลทรายในตอนเหนือ ที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัยยาในตะวันตก และทะเลในตะวันออกและตอนใต้
ในอดีต จีนก็ใช้กลยุทธ์เดียวกับรัสเซีย คือรุกรานเพื่อปกป้อง และขยายการควบคุมไปที่พื้นที่ใกล้เคียง และได้สร้างคลองใหญ่ (Grand Canal) เพื่อเชื่อมโยงแม่น้ำหวงเหอ (Yellow River) และแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River)
ในศตวรรษที่ 18 จีนก็ได้ขยายไปฝั่งตะวันตก และได้ครอบครองมณฑลซินเจียง ที่เป็นพื้นที่กั้นระหว่างจีนและรัสเซีย
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนก็เกิดสงครามภายใน และช่วงแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์ควบคุม ก็เกิดภาวะความขาดแคลน และประเทศก็ยากจนอย่างมาก แต่หลังจากนั้นก็เริ่มจะเปิดรับระบบตลาดมากขึ้น
ปัจจุบันนี้ จีนสนับสนุนให้ประชากรย้ายไปอยู่ในตอนเหนือ เพื่อส่งเสริมการปกป้อง ในขณะที่ตอนใต้ที่ติดกับเวียดนาม ลาว และพม่า บางส่วนมีป่าที่หนาแน่นทำให้ปกป้องได้ง่ายกว่า
ในฝั่งตะวันตก จีนควบคุมทิเบตที่เป็นต้นทางของแม่น้ำสำคัญ และไม่ให้อินเดียรุกรานเข้ามาได้
มณฑลซินเจียงที่มีชายแดนติดกับ 8 ประเทศ ก็มีความสำคัญกับจีนอย่างมาก และจีนก็พยายามฟื้นฟูเส้นทางการค้าไปสู่ยุโรป
หลังจากการจลาจลในปี 2009 ในซินเจียง รัฐบาลจีนก็ตอบโต้อย่างรุนแรงกับผู้เกี่ยวข้อง ได้เร่งพัฒนาพื้นที่ และก็สนับสนุนให้ชาวจีนเชื้อสายฮั่นย้ายเข้าไปอยู่
แต่สิ่งที่จีนต้องการจริงๆ คือควบคุมทะเลตอนตะวันออกและตอนใต้เพื่อปกป้องชายฝั่ง โดยเฉพาะระหว่างฟิลิปปินส์ญี่ปุ่น และไต้หวัน เพราะมีความแคบที่สามารถโดนปิดกั้นได้ง่าย
นี่จึงทำให้จีนเริ่มพัฒนากองทัพเรือ และสร้างฐานทัพบนเกาะในแถบนี้ ทำให้มีความขัดแย้งกับหลายประเทศ
นอกเหนือจากนั้นแล้ว จีนยังลงทุนในท่าเรือในประเทศบังกลาเทศ พม่า ศรีลังกา และปากีสถาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ส่งเสริมการค้า และให้กองทัพเรือได้มีแหล่งเสริมเสบียง
บนดิน จีนก็สร้างท่อขนส่งแก๊สและน้ำมันไปถึงพม่า และพัฒนาเส้นทางค้าทางบกไปถึงปากีสถาน และลงทุนในแอฟริกาเพื่อให้ได้แร่ธาตุและโลหะมีค่า
สหรัฐอเมริกา United States
ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในหลายๆภูมิภาคก็คงไม่พ้นสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ที่ราบในฝั่งตะวันออก บริเวณแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi River) ในช่วงกลาง และทะเลทรายและภูเขาในฝั่งตะวันตก
พื้นที่ตอนเหนือถูกปกป้องด้วยพื้นที่ที่เรียกว่า Canadian Shield (เขตหินเก่าแคนาดา) ที่มีประชากรน้อย ตะวันตกเฉียงใต้ปกป้องโดยทะเลทราย และตะวันออกและตะวันตกก็มีทะเล
ประชากรที่มาตั้งถิ่นฐานในอดีต ถูกล้อมรอบโดยเทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachian Mountains)
หลังจากสหรัฐได้อิสรภาพ ประชากร ก็เริ่มเคลื่อนไปฝั่งตะวันตกจนถึงแม่น้ำมิสซิสซิปปี
เลยจากแม่น้ำไปนั้น เป็นพื้นที่ของฝรั่งเศส และจากการเจรจาที่เรียกว่า Louisiana Purchase ในปี 1803 สหรัฐได้ซื้อพื้นที่นี้ ทำให้ฝั่งตะวันตกและตะวันออกเชื่อมโยงกัน
รัฐฟลอริดาและเท็กซัส ก็ได้มาจากประเทศสเปนและเม็กซิโก
ในกลางศตวรรษที่ 19 ได้ค้นพบทองในรัฐแคลิฟอร์เนีย และบวกกับกฎหมายที่เอื้ออำนวยประชากรจำนวนมากก็ย้ายเข้ามาในรัฐ
ปี 1867 สหรัฐก็ได้ซื้อรัฐอลาสก้าจากรัสเซีย และปลายศตวรรษที่ 19 ก็ได้ควบคุมแผ่นดินจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปถึงแอตแลนติก
แต่เส้นทางการค้าทางทะเลในแถบแคริบเบียนยังถูกควบคุมด้วยสเปน สหรัฐจึงทำสงครามและยึดคิวบาและ เปอร์โตริโก และยังได้ฟิลิปปินส์และกวมอีกด้วย ในปีเดียวกันก็ครอบครองฮาวาย ทำให้ฝั่งตะวันตกได้ปกป้องได้ง่ายขึ้น
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุโรปและญี่ปุ่นก็ทรุดโทรมอย่างมาก และเหลือแต่สหรัฐที่สามารถควบคุมมหาสมุทรและส่งเสริมการค้า และก็ได้สร้างฐานทัพหลายแห่งในแปซิฟิกและรอบโลก
หลังจากโซเวียตล่มสลาย และจีนผงาดขึ้นมา สหรัฐเกรงว่าประเทศรอบๆจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีนมากเกินไป และก็เริ่มหันมาใส่ใจภูมิภาคนี้มากขึ้น แต่สหรัฐจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรโดยไม่ยั่วยุจีนโดยตรง
ในทางตรงข้าม สหรัฐน่าจะต้องการลดบทบาทในตะวันออกกลาง เพราะแก๊สธรรมชาติและน้ำมันของตัวเองมีมากขึ้น และไม่ต้องการความล้มเหลวในการสร้างประเทศชาติเหมือนแบบอัฟกานิสถาน
ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องจับตามองคิวบา และไม่ให้คลองปานามา (Panama Canal) เกิดปัญหาและรบกวนการค้า และในทวีปแอฟริกา ก็ต้องแข่งขันกับจีนเพื่อให้ได้ทรัพยากรและอิทธิพลที่ต้องการ
ยุโรปตะวันตก Western Europe
อีกหนึ่งภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างมาก ก็คือยุโรปตะวันตก
ยุโรปมีภูมิอากาศที่ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และมีอากาศเย็นที่ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดอยู่ไม่ได้ รวมกับมีหลายแม่น้ำที่เดินเรือได้ง่าย ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศในยุโรปเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เร็ว
ภูมิประเทศของทวีป เป็นตัวกำหนดเส้นชายแดนของแต่ละประเทศ ทำให้มีวัฒนธรรมและการพัฒนาที่แตกต่าง
สเปนและโปรตุเกสถูกปิดกั้นด้วยเทือกเขาพิเรนีส (The Pyrenees) และฝรั่งเศสก็ล้อมรอบด้วยเทือกเขาพิเรนีส เทือกเขาแอลป์ (The Alps) และแม่น้ำไรน์ (The Rhine) ในขณะที่แม่น้ำดานูบ (Danube River) ก็เป็นเส้นชายแดนให้กับหลายประเทศ
ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสจะถูกล้อมรอบด้วยภูเขาและแม่น้ำ แต่ในตะวันออกเฉียงเหนือก็ติดกับที่ราบยุโรปตอนเหนือ (North European Plain) ที่เชื่อมโยงกับเยอรมัน และในอดีตเยอรมันก็กลัวการรุกรานจากฝรั่งเศสและรัสเซีย และเยอรมันเองก็บุกรุกฝรั่งเศส 3 ครั้งระหว่างปี 1870 ถึง 1940
นี่คือหนึ่งเหตุผลหลักของการก่อตั้ง European Union เพื่อหยุดยั้งสงครามระหว่าง 2 ประเทศ แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ทำให้ประเทศสมาชิกเกิดการโต้เถียงกันอย่างมาก และถ้า EU ล้มเหลว ความหวาดกลัวที่มีต่อเยอรมันก็จะฟื้นขึ้นมาเพราะเป็นประเทศที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป
ประเทศอังกฤษ อยู่ใกล้กับยุโรปพอที่จะค้าขาย และก็มีทะเลป้องกัน
ความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพของอังกฤษ อาจจะมาจากความปลอดภัยที่ห่างจากยุโรปจึงทดลองการปกครองได้ และกองทัพเรือที่แข็งแกร่งและการพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้ปกครองอาณาจักรได้เป็นเวลานาน
ปัจจุบันอังกฤษก็ยังได้เปรียบเพราะมีบทบาทในการดูแลการขนส่งระหว่างยุโรปเหนือและมหาสมุทรแอตแลนติก
แต่อังกฤษก็ไม่พอใจนโยบายของยุโรปที่อนุญาตให้คนลี้ภัยจำนวนมากย้ายถิ่นฐานเข้ามา โดยเฉพาะจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งอังกฤษก็ได้ออกจาก EU เป็นที่เรียบร้อย
หลายๆประเทศที่เคยร่วมกับโซเวียตและยูโกสลาเวีย ก็ได้เข้ามาร่วมกับ EU หรือ NATO แต่ถ้าทั้ง 2 พันธมิตรนี้ล้มเหลว แต่ละประเทศที่ต้องคอยหาความสมดุลทางอำนาจให้กับตัวเอง
ตะวันออกกลาง Middle East
ภูมิภาคที่มีความขัดแย้งอย่างมากก็คือตะวันออกกลาง
ตะวันออกกลางมีพื้นที่จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) จากฝั่งตะวันตก ไปถึงภูเขาประเทศอิหร่านในตะวันออก และทะเลดำ (Black Sea) จากตอนเหนือ ถึงทะเลอาหรับ (Arabian Sea) ในตอนใต้
ในระหว่างกลางก็จะมีทะเลทราย โอเอซิส แม่น้ำ และที่ราบชายฝั่ง และภายใต้แผ่นดินเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ ก็คือแก๊สและน้ำมัน
ทะเลทรายอาหรับ (Arabian Desert) เป็นทะเลทรายต่อเนื่องที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีประชากรจำนวนน้อย และในอดีตก็ไม่เคยมีการแบ่งเส้นชายแดนอย่างชัดเจน
หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) อำนาจอาณานิคมจากยุโรปก็เป็นคนขีดเส้นชายแดนขึ้นมาตามจุดประสงค์ของตัวเอง
อย่างเช่น ข้อตกลงไซคส์-พิโกท์ (Sykes-Picot Agreement) เป็นการแบ่งเขตการควบคุมอำนาจระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส
แต่การแบ่งเส้นชายแดนที่ไม่เป็นธรรมชาติและไม่คำนึงถึงภูมิศาสตร์ ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นเวลานาน และมีกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการแบ่งเขตใหม่
อีกหนึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คือการแบ่งแยกระหว่างมุสลิมชาวซุนนีที่เป็นส่วนมาก และมุสลิมชาวชีอะฮ์ที่เป็นส่วนน้อย และภายในกลุ่มก็ยังแบ่งแยกเป็นกลุ่มย่อยอีก
ปัญหาในตะวันออกกลางนะครับ มีเยอะมากเกินกว่าที่จะสรุปได้ง่าย และนอกจากการแบ่งแยกพื้นที่และกลุ่มคนที่ไม่ลงรอยกันแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญคือความล้มเหลวในการปกครอง และเป็นสิ่งผลักดันให้ประชากรบางส่วนหันเข้าไปหากลุ่มก่อการร้าย
และก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรที่ทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น
ผู้เขียนเห็นว่า ประเทศตะวันตกจะต้องเปลี่ยนแนวคิดการสร้างความสัมพันธ์ เพราะประชากรตะวันออกกลางให้ความสำคัญกับศาสนา ธรรมเนียมทางสังคม และความสัมพันธ์ทางชนเผ่า เป็นปัจจัยที่ทรงพลังมากกว่าความคิดและค่านิยมด้านตะวันตก เพราะตราบใดที่ประชาชนยังมีความหวาดกลัวและยังหิวโหยอยู่ ค่านิยมตะวันตกอาจจะยังไม่มีประโยชน์สักเท่าไหร่
เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น North Korea South Korea Japan
เรากลับมาที่ฝั่งเอเชียอีกรอบนะครับ
ประเด็นสำคัญในแถบเอเชียก็คือเกาหลีเหนือ
เกาหลีเหนืออยู่ติดกับประเทศจีนและมีแม่น้ำยาลู่ (Yalu River) แบ่งกั้น
ประเทศก็มีการปกครองแบบเผด็จการโดยตระกูลคิม และก็สร้างปัญหาให้กับประเทศรอบข้าง
ก่อนที่เกาหลีจะแบ่งแยก ก็เคยถูกรุกรานจากอาณาจักรมองโกล จีน และญี่ปุ่น และหลังจากถูกแบ่งแยกที่เส้นขนาน 38 องศาเหนือ (38th parallel north) เกาหลีเหนือก็บุกเกาหลีใต้ และเกือบครอบครองได้ทั้งประเทศ จนสหรัฐเข้ามาช่วยเพราะไม่ต้องการให้อำนาจคอมมิวนิสต์มีมากเกินไปในภูมิภาค
เกาหลีมีที่ราบฝั่งตะวันตกและภูเขาฝั่งตะวันออก ครึ่งนึงของประชากรเกาหลีใต้อยู่ใกล้กับเมืองหลวงกรุงโซล ที่อยู่ห่างจากชายแดนเพียง 35 ไมล์ และเกาหลีเหนือก็ยิงปืนใหญ่เข้ามาฝั่งใต้ได้ทุกเมื่อ
เกาหลีเหนือมีทรัพยากรทางธรรมชาติเยอะกว่าตอนใต้ และถ้าทั้ง 2 รวมเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้ง ญี่ปุ่นก็อาจจะเห็นเป็นเรื่องดีถึงแม้ว่าจะเคยเป็นศัตรูกันมาก่อน เพราะจะช่วยถ่วงดุลอำนาจของจีน
ญี่ปุ่นอยู่ห่างจากแผ่นดินเอเชียจึงทำให้ไม่เคยถูกครอบครอง
ภูมิประเทศมีภูเขาเยอะ ทำให้ประชากรกระจุกอยู่ใกล้ชายฝั่งที่แคบ และประเทศไม่ค่อยมีแร่ธาตุสักเท่าไหร่ จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าแก๊สและน้ำมันมากที่สุดในโลก
ในอดีตตอนที่ญี่ปุ่นแสวงหาทรัพยากร ก็ได้รุกรานเข้าไปในหลายประเทศ และหลังจากที่จู่โจมกองทัพเรือของสหรัฐที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbour) ญี่ปุ่นก็ได้ครอบครองหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สหรัฐได้จู่โจมญี่ปุ่นกลับทีละนิดจนถึงเกาะโอกินาว่า และเห็นว่าถ้าจู่โจมทางบกอาจจะเกิดการสูญเสียเยอะเกินไป จึงทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนากาซากิ
สหรัฐช่วยญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศ เพราะต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจกับประเทศจีน
จากข้อตกลงระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นมีกำลังทหารเพื่อป้องกันเท่านั้น แต่การที่อำนาจของจีนเริ่มเพิ่มขึ้น สหรัฐอาจจะเปิดทางให้ญี่ปุ่นขยายกำลังทหารของตัวเอง
ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งกันมาก่อน แต่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จำเป็นต้องพึ่งกันและกัน และจะต้องพึ่งประเทศอย่างสหรัฐ จึงทำให้สหรัฐมีบทบาทในแถบนี้ต่อไปในอนาคต
ท้ายสุด
ในหนังสือยังพูดถึงแอฟริกา ลาตินอเมริกา อินเดียและปากีสถาน และแถบอาร์กติก ที่ผมไม่ได้พูดถึงนะครับ
ที่น่าสนใจคือแถบอาร์กติก ที่คาดว่ามีแหล่งแก๊สธรรมชาติและน้ำมันอย่างมหาศาล อาจจะทำให้แถบนี้สร้างความขัดแย้งในอนาคตให้กับหลายประเทศในอนาคต
ท้ายสุดนะครับ มันปฏิเสธไม่ได้ที่ภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความเป็นอยู่ของคนเรา มันอาจจะให้ทั้งความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรือง หรือทำให้ผู้คนต้องดิ้นรน
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากแล้ว แต่ภูมิศาสตร์ก็เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเข้าใจทำไมหลายประเทศถึงเป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
ผมขอแนะนำให้ชมคลิปรีวิวหนังสือ “ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า” เพิ่มเติมด้วยนะครับ
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ
Pop (ป๊อป) BooksDD
—