[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]


ทำไมบางประเทศที่อยู่ติดกัน พูดภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน แต่หนึ่งประเทศล้มเหลวแต่อีกประเทศถึงร่ำรวย?

หนังสือที่จะรีวิววันนี้ Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity, and Poverty
กู้วิกฤติชาติ บทเรียนสะเทือนโลก

เล่มนี้เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ 2 ท่าน Daron Acemoglu ศาสตราจารย์ที่ MIT
และ James Robinson เป็นอดีตศาสตราจารย์ที่ Harvard และตอนนี้อยู่ที่ University of Chicago


1 เมือง 2 ระบบ

มีเมืองๆหนึ่งนะครับชื่อว่า Nogales ในตอนเหนือของเมือง ประชากรมีระดับความเป็นอยู่ที่สูง พวกเขาส่วนมากได้รับการศึกษา สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ และระบบกฎหมายก็มีความสม่ำเสมอ รายได้เฉลี่ยต่อปีของประชากรอยู่ที่ประมาณเก้าแสนกว่าบาทต่อปี
ในทางตรงข้าม ประชากรในตอนใต้มีระดับความเป็นอยู่ที่ต่ำลงมา รายได้ของประชากรคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของตอนเหนือ พวกเขาส่วนมากไม่ได้จบการศึกษา และก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และผู้เป็นเจ้าหน้าที่ก็มีการทุจริตสูง

ถึงแม้ว่าประชากรทั้ง 2 กลุ่มจะมีความแตกต่างในคุณภาพชีวิต แต่พวกเขามีวัฒนธรรมและบรรพบุรุษที่เหมือนกัน มีประวัติศาสตร์ที่คล้ายกัน และพูดภาษาเดียวกัน

ทุกคนคงสงสัยนะครับว่าทำไมพวกเขาอยู่ภายใต้ระบบที่แตกต่างกัน เหตุผลเป็นเพราะว่า เมือง Nogales อยู่ตรงชายแดนระหว่าง 2 ประเทศ ตอนเหนือของเมืองอยู่ในรัฐ Arizona ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ตอนใต้อยู่ในประเทศเม็กซิโก

ทั้งสองประเทศมีสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ระบบนึงกระจายผลประโยชน์และสนับสนุนการแข่งขันในการพัฒนาความคิดได้ดีกว่า ในขณะที่อีกระบบ ผลประโยชน์จะกระจุกอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำมากเกินไป

ผู้เขียนทั้งสองเห็นว่าสถาบันการเมืองและสถาบันเศรษฐกิจ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศ ซึ่งทั้งสองจะต้องมีความสอดคล้องเพื่อที่จะสร้างวัฏจักรการพัฒนาอย่างยั่งยืน


ทฤษฎีแบบเดิม

มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ แต่ผู้เขียนทั้งสองเห็นว่าทฤษฎีเหล่านี้ยังไม่สามารถอธิบายได้เพียงพอ

ทฤษฎีประเภทแรกจะเกี่ยวกับด้านภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ
ในศตวรรษที่ 18 นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสนามว่า Montesquieu ได้เสนอว่า ประเทศที่มีภูมิอากาศที่เย็น ส่วนมากจะร่ำรวยเพราะต้องใช้ไหวพริบในการอยู่รอด และประชากรที่อยู่ในเขตร้อนจะขี้เกียจมากกว่า
ปัจจุบันก็มีการเสนอว่าประชากรในเขตร้อนจะมีโรคระบาดได้ง่ายกว่าทำให้พัฒนาได้ยาก
และมีทฤษฎีของศาสตราจารย์ Jared Diamond ในหนังสือ ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า” ที่ว่าแต่ละทวีปมีพืชผักและสัตว์การเกษตรที่แตกต่าง ทำให้พัฒนาการเกษตรไม่เท่ากัน และความเจริญก็แตกต่างกัน
แต่คราวนี้ก็ต้องถามว่า ทำไมประเทศที่อยู่ติดกันอย่างเช่นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ กลับมีความเจริญไม่เท่ากัน หรืออย่างประเทศสิงคโปร์ที่อยู่ในเขตร้อนแต่มีความเจริญสูง

ทฤษฎีประเภทที่ 2 จะดูที่ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม
ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันชื่อว่า Max Weber กล่าวว่าการที่คนยุโรปได้เข้าสู่ปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เร็วกว่าที่อื่น เพราะมีจริยธรรมในการทำงาน ที่ได้มาจากความเชื่อศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์
แต่ในสมัยก่อนก็มีความเชื่อที่ว่าค่านิยมหลายๆอย่างของประเทศจีน ทำให้จีนพัฒนาได้ช้า แต่การพัฒนาที่รวดเร็วในประเทศที่มีประชากรเชื้อสายจีน ก็มาจากค่านิยมเหล่านี้ ซึ่งทำให้ทฤษฎีนี้ไม่สม่ำเสมอ

ทฤษฎีประเภทสุดท้าย คือการสันนิษฐานว่ากลุ่มชนชั้นนำในประเทศด้อยพัฒนาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อทำให้ประเทศเจริญขึ้น
แต่หลายประเทศได้รับการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นด้านคำแนะนำและเงินลงทุน แต่ก็ยังไม่พัฒนา
นี่อาจจะเป็นเพราะไม่ใช่ว่าผู้นำประเทศไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ประเทศพัฒนา แต่เป็นเพราะเขาไม่ต้องการทำต่างหาก เพราะพวกเขาอาจจะสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์

ทฤษฎีท้ายสุดนี้เป็นพื้นฐานของหลักการที่ผู้เขียนจะนำเสนอ


สถาบันเศรษฐกิจและการเมือง

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้นะครับ ผู้เขียนทั้งสองเห็นว่า สถาบันเศรษฐกิจและการเมือง เป็นตัวชี้วัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งจะรวมไปถึงพฤติกรรมและการควบคุมด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ความแข็งแรงด้านบริการสาธารณะ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจ

ประเทศที่เจริญรุ่งเรือง จะมีสถาบันเศรษฐกิจแบบ Inclusive Economic Institution ผมขอเรียกว่า “สถาบันเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม” นะครับ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้คนส่วนมากมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจ
โครงสร้างนี้จะเป็นแรงจูงใจธรรมชาติให้ประชากรมีความทะเยอทะยานและกล้าที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพราะพวกเขามั่นใจว่าเขาจะได้ผลประโยชน์จากการลงมือทำและความเสี่ยง และสิทธิทางทรัพย์สินและทางปัญญาจะได้รับการปกป้อง

ในทางกลับกันประเทศด้อยพัฒนาจะเป็นรูปแบบ Extractive Economic Institution ผมขอเรียกว่า “สถาบันเศรษฐกิจแบบแยกขาด” นะครับ ซึ่งเป็นการดึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากคนจำนวนมาก ไปให้คนจำนวนน้อยที่เป็นชนชั้นนำ ตัวอย่างที่ดีในปัจจุบันคือประเทศเกาหลีเหนือ ที่ประชากรส่วนใหญ่มีความยากจน แต่ผู้นำประเทศกลับอยู่อย่างสบาย


สถาบันการเมืองก็แบ่งเป็น 2 รูปแบบเช่นกัน

สถาบันการเมืองแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Political Institution) จะมีลักษณะแบบ “pluralism” หรือ “พหุนิยม” เป็นการที่หลายๆกลุ่มในสังคมมีบทบาทและแบ่งปันอำนาจทางด้านการเมือง
ในทางตรงข้าม สถาบันการเมืองแบบแยกขาด (Extractive Political Institution) ซึ่งเป็นรูปแบบ “absolutism” หรือ “อำนาจเด็ดขาด” เป็นการที่คนๆเดียวหรือคนกลุ่มน้อยมีอำนาจทั้งหมด
ถึงแม้ว่าการกระจายอำนาจจะเป็นผลที่ดีกว่า แต่ก็ไม่ควรมากเกินไปจนไร้อำนาจศูนย์กลาง เพราะไม่อย่างนั้นแล้วแต่ละฝ่ายอาจจะสร้างกฎเกณฑ์ของตัวเองและมีการแก่งแย่งชิงดีกัน เหมือนในประเทศโซมาเลีย

โดยรวมแล้วสถาบันการเมืองแบบไหน ก็จะนำไปสู่สถาบันเศรษฐกิจแบบนั้นด้วยเช่นกัน


จุดพลิกผันแยกทางการพัฒนา

คราวนี้ก็ต้องถามว่า ทำไมบางประเทศถึงได้พัฒนาสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองแบบมีส่วนร่วม และทำไมประเทศอื่นถึงไม่มี?

เหตุผลหลักมาจากเหตุการณ์ที่เรียกว่า “critical juncture” หรือ “จุดพลิกผัน” ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในทางบวกหรือลบก็ตาม

ในยุคกลางของทวีปยุโรป โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองเป็นรูปแบบ feudalism หรือ “ระบบศักดินา” ซึ่งการควบคุมและผลประโยชน์จะไปกระจุกอยู่ที่ระดับขุนนางอย่างเดียว และชนชั้นแรงงานก็ไม่มีสิทธิ์อะไร
แต่ในกลางศตวรรษที่ 14 ได้เกิดโรคระบาด black plague หรือกาฬโรค ทำให้ประชากรเกือบครึ่งต้องเสียชีวิต และเศรษฐกิจก็พังพินาศ
หลังจากเหตุการณ์นี้ ก็มีการขาดแคลนคนงานอย่างมาก ทำให้ชนชั้นแรงงานเรียกร้องสิทธิ์ให้กับตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่โครงสร้างแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น

แต่เหตุการณ์เดียวกันกลับมีผลตรงข้ามในฝั่งยุโรปตะวันออก
ชนชั้นแรงงานในแถบนี้รวมตัวกันไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ ขุนนางจริงสามารถเพิ่มการควบคุมได้มากขึ้นอีก
นี่จึงทำให้การพัฒนาในยุโรปตะวันตกและตะวันออกเริ่มแยกทางกัน

ในอนาคตก็อาจจะมีจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้โครงสร้างปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลง และทำให้คนบางกลุ่มเรียกร้องการมีบทบาทในด้านการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น หรือในทางกลับกันอาจทำให้ชนชั้นนำรวบรวมอำนาจและผลประโยชน์ได้มากขึ้น
ฉะนั้นมันสำคัญมากที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก เพราะกว่าจะเห็นผลกระทบจากจุดพลิกผัน จะต้องใช้เวลานาน และถ้าเปลี่ยนแปลงผิดอาจจะต้องใช้เวลานานอีกเพื่อแก้ไข


2 วัฏจักรการพัฒนา

วัฏจักรความเจริญ

ประเทศที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วก็คงไม่พ้นประเทศอังกฤษ

สถาบันการเมืองของประเทศอังกฤษเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นแบบมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 13 โดยการลงนามข้อตกลงที่เรียกว่า Magna Carta หรือ “มหากฎบัตร” ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญที่สุดในประเทศอังกฤษ ระหว่าง King John และกลุ่มขุนนางที่รวมตัวกัน ข้อตกลงนี้เพิ่มสิทธิ์ให้กับขุนนาง และปูทางให้เกิดการก่อตั้งของรัฐสภาและรัฐธรรมนูญแบบปัจจุบัน

ในปี 1688 ได้เกิดการปฏิวัติที่เรียกว่า Glorious Revolution หรือ “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับสมาชิกรัฐสภาที่ถูกเลือกตั้งขึ้นมา และเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมในด้านการเมือง ถึงแม้ว่าในตอนแรกคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเป็นเจ้าของที่ดินอย่างเดียวก็ตาม

การปรับเปลี่ยนสถาบันเศรษฐกิจที่ตามมาก็ทำให้มีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครอง หรือการเปลี่ยนระบบการเงินและภาษี

ผลลัพธ์ที่ตามมา คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกกระตุ้น โครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ถูกพัฒนา ทำให้อังกฤษได้เข้าสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว และภายในศตวรรษที่ 19 ก็กลายเป็นประเทศมหาอำนาจ

นี่เป็นตัวอย่างของสถาบันการเมืองที่ผลักดันสถาบันเศรษฐกิจให้เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และถ้าเป็นโครงสร้างแบบมีส่วนร่วมก็จะเข้าสู่วัฏจักรความเจริญ

ในประเทศอังกฤษ เมื่ออำนาจเริ่มกระจายอย่างเหมาะสมแล้ว แต่ละฝ่ายก็ต้องคอยสังเกตการณ์ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป และอยู่ภายใต้กฎหมาย

ระหว่างศตวรรษที่ 19-20 การมีส่วนร่วมก็เพิ่มขึ้นทีละนิดทีละน้อย และท้ายสุดประชากรทุกคนก็มีส่วนร่วมในด้านการเมือง

อีก 1 ลักษณะสำคัญของสถาบันแบบมีส่วนร่วม คือการมีองค์กรสื่อที่เสรี ซึ่งเป็นการตรวจสอบอำนาจของทุกๆฝ่าย และรายงานให้กับประชาชน
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐในต้นศตวรรษที่ 20 คือบางบริษัท อย่างเช่นบริษัทน้ำมัน Standard Oil ของ John Rockefeller เริ่มมีลักษณะผูกขาด และสื่อก็เป็นคนรายงานจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อระงับอำนาจทางเศรษฐกิจที่มากเกินไป


วัฏจักรการด้อยพัฒนา

ในทางตรงข้ามนะครับ สถาบันการเมืองและเศรษฐกิจแบบแยกขาด ก็จะนำไปสู่วัฏจักรการด้อยพัฒนา

อย่างที่อธิบายในตอนต้นนะครับ ผู้นำประเทศที่ด้อยพัฒนา อาจจะไม่ต้องการให้ประเทศพัฒนา เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะเสียอำนาจและผลประโยชน์

ตัวอย่างที่ดีคือนวัตกรรมการพิมพ์ที่ถูกคิดค้นในกลางศตวรรษที่ 15 ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป
แต่ในจักรวรรดิออตโตมัน การพิมพ์ไม่ถูกอนุญาต เพราะการเผยแพร่ความรู้อาจจะมาท้าทายอำนาจได้ และเกือบ 300 ปีให้หลัง ประชากรน้อยมากที่จะเขียนและอ่านได้ เปรียบเทียบกับในยุโรปที่มีประชากรที่รู้หนังสือเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์

ผู้มีอำนาจในสถาบันรูปแบบแยกขาด ไม่ต้องการสิ่งที่เรียกว่า “creative destruction” หรือ “การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในบางด้านของระบบเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาอาจจะสูญเสียการควบคุมและผลประโยชน์
ยกตัวอย่างเช่น จักรพรรดิ Francis I ของออสเตรีย ต่อต้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่นการใช้เครื่องจักร หรือการสร้างรางรถไฟ เพราะเขากลัวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป
ผลลัพธ์ที่ได้คือประเทศออสเตรียเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมช้ากว่าที่อื่นในยุโรป

โครงสร้างแบบแยกขาด ก็สามารถสืบทอดไปที่กลุ่มคนที่ไม่ได้ริเริ่มมันขึ้นมา
ยกตัวอย่างเช่น การล่าอาณานิคมในทวีปแอฟริกาโดยชาวยุโรป ก็เป็นโครงสร้างแบบแยกขาดเพราะพวกเขายึดอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากคนท้องถิ่น
แต่หลังจากหลายประเทศได้ประกาศเสรีภาพแล้ว โครงสร้างนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่ แต่คนที่ควบคุมอำนาจและผลประโยชน์ก็เป็นคนแอฟริกากันเองที่กดขี่คนแอฟริกากลุ่มอื่น และก็เป็นวงจรความยากจนต่อไปเรื่อยๆ

จุดประสงค์ของโครงสร้างสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจแบบแยกขาด คือการให้กลุ่มที่มีอำนาจสืบทอดอำนาจและได้ผลประโยชน์ต่อไป โดยไม่คำนึงถึงประชากรส่วนรวม จึงทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างล่าช้า


อำนาจนิยมไม่ยั่งยืน

ใช่ว่าภายใต้สถาบันการเมืองและเศรษฐกิจแบบแยกขาดจะเติบโตไม่ได้นะครับ เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่เติบโตเลยแล้วผู้ถืออำนาจจะดึงดูดผลประโยชน์ได้อย่างไรล่ะครับ

ตัวอย่างที่ดีในอดีตคือประเทศโซเวียต
โดยนิยามแล้ว ประเทศโซเวียตมีสถาบันการเมืองแบบแยกขาดเพราะมีกฎหมายแบบเผด็จการ แต่เศรษฐกิจของประเทศก็เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วระหว่างยุค 30 ถึง 70 และเป็นประเทศแรกที่ส่งมนุษย์เข้าไปในอวกาศ
หนึ่งในเหตุผลที่เศรษฐกิจโตเร็ว เป็นเพราะบางประเทศที่เข้าร่วมกับโซเวียต มีระบบเศรษฐกิจที่เน้นการเกษตร และการเปลี่ยนมาทางด้านอุตสาหกรรมทำให้โตเร็วอย่างมาก
แต่การเติบโตแบบนี้อาจจะไม่ยั่งยืน เพราะการเติบโตอย่างต่อเนื่องจะต้องมีการนวัตกรรม และมีแรงจูงใจให้ประชากรกล้าลงทุนและคิดต่าง ซึ่งโครงสร้างแบบแยกขาดไม่ผลักดันในด้านนี้

ผู้เขียนเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนก็ไม่น่าจะยั่งยืนเพราะมีโครงสร้างแบบแยกขาดและรัฐก็เปลี่ยนกฎได้ทุกเมื่อ ซึ่งอาจจะลดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ และไม่แน่ว่าประเทศจีนอาจจะต้องปฏิรูปให้มีการแบ่งปันอำนาจเพิ่มขึ้น


หลุดพ้นวงจรด้อยพัฒนา

คำถามที่สำคัญนะครับ ประเทศจะหลุดพ้นจากวัฏจักรด้อยพัฒนาได้อย่างไร?

ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีการช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะในรูปแบบ foreign aid หรือเงินช่วยเหลือต่างชาติ
แต่ผู้เขียนทั้งสองเห็นว่า การช่วยเหลือแบบนี้ไม่ค่อยเป็นประโยชน์เท่าไหร่ เพราะถ้าประเทศมีสถาบันการเมืองที่แยกขาด เงินพวกนี้อาจจะถูกนำไปใช้เพื่อจู่โจมศัตรูทางการเมือง หรือเกิดการคอรัปชั่น
ตัวอย่างที่ดีคือประเทศอัฟกานิสถานที่เพิ่งเป็นข่าว เงินช่วยเหลือจากต่างชาติถูกหักค่าใช้จ่ายและค่าบริหารเยอะมากจนเหลือแค่ 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่นำไปใช้อย่างที่ตั้งใจไว้ และตราบใดที่โครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจยังไม่ถูกพัฒนาให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ใช้เงินมากเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์

ประเทศทุกประเทศเปลี่ยนแปลงได้ ถึงแม้ว่าจะติดอยู่ในวัฏจักรด้อยพัฒนาที่มีสถาบันการเมืองแบบแยกขาด
มันมีปัจจัยหลายอย่างที่มีความจำเป็นเพื่อให้เกิดการปฏิรูป อย่างเช่นกลุ่มคนที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลง และรวมไปถึงเหตุการณ์ที่ต้องไปในทิศทางที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ด้วย

ตัวอย่างที่ดีคือประเทศในยุโรปตะวันตก ซึ่งในอดีตก็มีโครงสร้างแบบแยกขาด แต่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นทีละนิดทีละหน่อยจนกลายเป็นวัฏจักรการพัฒนา
ตัวอย่างในปัจจุบันคือการเปลี่ยนแปลงในรัฐตอนใต้ของสหรัฐ ที่สมัยก่อนมีกฎหมายที่แบ่งแยกคนผิวสี แต่สมัยนี้ก็ลดลงอย่างมากแต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป

ในทางกลับกันก็ต้องคอยระวังไม่ให้การมีส่วนร่วมในด้านการเมืองและเศรษฐกิจลดลง เพราะอาจจะเข้าไปสู่วัฏจักรตรงข้ามได้


ท้ายสุด

ไม่มีประเทศไหนที่มีชะตากรรมว่าจะต้องจนหรือรวย ไม่ว่าจะมาจากภูมิประเทศ หรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง และปัจจัยที่สำคัญกว่าคือโครงสร้างของสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่ถูกปั้นมาตั้งแต่อดีต
ทุกๆประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของตัวเองโดยการผลักดันระบบให้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อที่ประชากรจะได้มีแรงจูงใจและขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

เล่มนี้ก็มีนักวิชาการหลายคนที่ตำหนิอยู่บ้างนะครับ อย่างเช่นหนังสือไม่ค่อยได้พูดถึงด้านเทคโนโลยี หรือการอธิบายระดับการควบคุมของรัฐบาลที่ไม่สม่ำเสมอ
แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือก็ให้ข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่คำนึงถึงบทบาทและผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

สำหรับท่านใดที่อยากจะอ่านเวอร์ชั่นเต็ม ก็สามารถสั่งซื้อได้ตามลิงค์ใต้คลิปได้เลยนะครับ

ผมขอถามทุกคนนะครับ คุณคิดว่าสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดความเจริญหรือไม่ครับ? มีวิธีไหนที่ทำให้มีโครงสร้างแบบมีส่วนร่วมมากขึ้นครับ?

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ

Pop (ป๊อป) BooksDD