[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]


ในการแข่งขันอะไรก็ตามนะครับ คนส่วนมากคิดว่าจะต้องเป็นคนที่มีลักษณะที่ได้เปรียบถึงจะเป็นคนชนะ
แต่ความเป็นจริงแล้ว คนที่ดูเหมือนจะเสียเปรียบกลับเป็นฝ่ายเอาชนะได้
วันนี้ผมจะมาเล่าถึงความเป็นรอง ที่อาจจะไม่ใช่เป็นอย่างที่เห็นเสมอไป

รีวิวหนังสือ David and Goliath: Underdogs, Misfits, and the Art of Battling Giants
กลยุทธ์ล้มยักษ์: วิธีเอาชนะ “จุดเเข็ง” ของคนที่เหนือกว่า ด้วย “จุดอ่อน” ที่คุณมี

เล่มนี้เขียนโดย Malcolm Gladwell ซึ่งเป็นนักเขียนที่โด่งดัง ผมก็เคยรีวิวหนังสือเขาไปแล้ว 2 เล่มนะครับ
เล่มแรกคือ Outliers เกี่ยวกับเบื้องหลังความสำเร็จ
เล่มที่ 2 คือ Talking To Strangers ซึ่งเกี่ยวกับความเข้าใจผิดระหว่างคนแปลกหน้า
ผมแนะนำให้ชมด้วยครับ

ผมได้แรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือเล่มนี้จากการแข่งขันโอลิมปิกที่ผ่านมานะครับ
นักปั่นจักรยานชาวออสเตรียชื่อว่า Anna Kiesenhofer เป็นศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ และเป็นเพียงมือสมัครเล่น
เธอไม่มีโค้ช ไม่มีทีม และต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองเพื่อมาแข่งขัน แต่เธอสามารถเอาชนะตัวเต็งจากเนเธอร์แลนด์และได้เหรียญทอง
เรื่องการแข่งขันของเธอค่อนข้างจะน่าสนใจนะครับ ผมแนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติมนะครับ


เดวิดและโกไลแอธ David and Goliath

หลายท่านอาจจะคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ David และ Goliath มาแล้วบ้างนะครับ

เรื่องราวนี้เกี่ยวกับสงครามระหว่างชาว Philistines และชาว Israelites ที่ถูกบันทึกในพระคัมภีร์ไบเบิล
ชาว Philistines ได้ส่งนักรบที่แข็งแกร่งที่สุดของพวกเขาชื่อว่า Goliath มาท้ารบ
Goliath มีลักษณะตัวใหญ่และสูงเกือบ 7 ฟุต จึงไม่มีนักรบชาว Israelites ที่กล้ารับคำท้า
มีแต่เด็กเลี้ยงแกะตัวเล็กๆที่ชื่อว่า David ที่กล้าเผชิญหน้ากับ Goliath
David ใช้สลิงเขวี้ยงหินไปที่หน้าผากของ Goliath และเอาชนะได้สำเร็จ

เรื่องราวนี้กลายเป็นตำนานและเป็นตัวอย่างของคนที่เป็นรองที่สามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่ได้
แต่ความเป็นจริงแล้วเราเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตลอด และเดวิดมีโอกาสชนะมากกว่าที่ทุกคนคาดการณ์ไว้

สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นข้อเสียเปรียบของ David กลับเป็นข้อได้เปรียบ
David มีลักษณะตัวเล็กกว่าและไม่ใส่ชุดเกราะ จึงทำให้มีความคล่องแคล่วว่องไว และเขามีความชำนาญในการใช้สลิงเขวี้ยงหินเพื่อปกป้องแกะจากสัตว์ร้าย ซึ่งอาวุธประเภทนี้จะใช้ได้ดีกับคนที่เคลื่อนไหวช้า

ในทางตรงข้าม สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นข้อได้เปรียบของ Goliath กลับเป็นข้อเสียเปรียบ
ตัวเขาคาดว่าจะต้องเผชิญหน้ากับนักรบที่มีลักษณะคล้ายๆกัน และจะเป็นการต่อสู้แบบปะทะกันตรงๆ และยิ่งเขาตัวใหญ่และใส่ชุดเกราะจึงเคลื่อนไหวได้ช้า จึงทำให้ไม่สามารถรับมือกับกลยุทธ์ของเดวิดได้

หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงการที่คนธรรมดาๆจะต้องรับมือกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการต่อกรกับบุคคลหรือองค์กรที่ทรงอำนาจ หรืออาจจะเป็นการที่ตัวเองมีลักษณะที่เสียเปรียบ ซึ่งเหมือนในเรื่องราวของ David และ Goliath ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเสมอไป


ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเสียเปรียบ

ในหนังสือจะเสนอ 2 แนวคิดหลักนะครับ
มาพูดถึงสิ่งแรกกันก่อนนะครับ ก็คือบ่อยครั้งอะไรที่ดูเหมือนเป็นการเสียเปรียบกลับเป็นการได้เปรียบ และสิ่งตรงข้ามก็เป็นจริงด้วยเช่นกัน


การเสียเปรียบที่ไม่ใช่

ข้อเสียเปรียบที่เห็นได้ชัด คือการมีทักษะหรือทรัพยากรที่น้อยกว่าฝ่ายตรงข้าม
เมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะใช้กลยุทธ์เดิมๆ และจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเผชิญหน้า ซึ่งอาจจะทำให้คู่ต่อสู้รับมือไม่ได้

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 นะครับ นักการทูตและนักโบราณคดีชาวอังกฤษนามว่า ผู้พัน Thomas Edward Lawrence หรือที่เรียกกันว่า Lawrence of Arabia ได้นำกบฏชาวอาหรับที่เร่ร่อนและไม่ค่อยมีประสบการณ์รบ ไปจู่โจมทหารของจักรวรรดิออตโตมัน ที่มีประสบการณ์สูงและมีอาวุธครบมือ
เขาทำได้สำเร็จและเสียนักรบเพียงไม่กี่คน
เหตุผลหลัก คือเขาใช้กลยุทธ์ที่ค่อนข้างจะบ้าบิ่นและคาดไม่ถึง และเน้นการใช้จุดแข็งของตัวเองและเจาะจงไปที่จุดอ่อนของศัตรู
พวกเขาต้องเดินข้ามทะเลทรายหลายร้อยไมล์ในช่วงฤดูร้อน และใช้ความคล่องแคล่วว่องไวในการจู่โจม ทำให้ทหารออตโตมันตั้งรับไม่ทัน

ในอดีตยังมีตัวอย่างอื่นๆที่ทำให้เห็นว่าการเป็นรองก็มีข้อได้เปรียบ
แต่ความเป็นจริงแล้วการใช้กลยุทธ์ที่แหวกแนวก็ไม่ได้เกิดขึ้นมากสักเท่าไหร่
เหตุผลเป็นเพราะมันทำได้ค่อนข้างยาก และคนอื่นอาจจะไม่ยอมรับ อย่างเช่นทหารอังกฤษคนอื่นๆเห็นว่ามันไม่สมศักดิ์ศรีที่จะต้องใช้ชาวอาหรับมาทำการรบแบบนี้

นี่ก็เป็นข้อดีอีกอย่างของการเป็นรอง เพราะตัวเองไม่ใช่เป็นคนใน อย่างเช่นผู้พัน Lawrence ถึงจะมียศแต่ก็ไม่ได้เป็นทหาร เขาจึงไม่ต้องใส่ใจว่าคนอื่นคิดอย่างไร ซึ่งก็เพิ่มอิสรภาพในการใช้กลยุทธ์อย่างที่ต้องการ


ทรัพยากรหรือความได้เปรียบเพิ่มเติมไม่เป็นประโยชน

บ่อยครั้งเราเข้าใจผิดว่าการมีลักษณะอะไรที่ทำให้ได้เปรียบ ยิ่งมีสิ่งๆนั้นเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งได้เปรียบเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างที่ดีคือเงินและความสุข เพราะการมีเงินเพิ่มขึ้นในตอนแรกจะให้ความสุขอย่างมาก แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งความสุขก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่าในโลกความเป็นจริง การมีสิ่งที่ทำให้ได้เปรียบเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้ความได้เปรียบลดลงด้วยซ้ำ ซึ่งเขาเรียกมันว่า Inverted U-Curve หรือเส้นโค้งตัวยูกลับหัว

ขอยกตัวอย่างนะครับ ความเชื่อที่ยอมรับในด้านการศึกษา คือยิ่งจำนวนนักเรียนในห้องน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้คุณครูใส่ใจได้มากขึ้นและจะเป็นผลดี ซึ่งการจะวางโครงสร้างอย่างนี้ได้จะต้องใช้ทรัพยากรอย่างมาก
แต่จากการสำรวจของผู้เขียนที่ได้พูดคุยกับคุณครู ความคิดนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป
นักเรียนที่อยู่ในห้องเรียนประมาณ 40 คน จะเรียนรู้ได้น้อยกว่านักเรียนที่อยู่ในห้องเรียนประมาณ 20 คน ซึ่งไม่น่าแปลกเพราะคุณครูใส่ใจได้มากขึ้น
แต่ที่น่าแปลกใจคือในห้องเรียนที่ต่ำกว่า 12 คน การเรียนรู้เริ่มจะแย่ลง
เหตุผลเบื้องหลังเป็นเพราะในห้องเรียนขนาดเล็กอาจจะมีนักเรียนบางคนที่บงการการปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่ม หรืออาจจะไม่มีความหลากหลายเพียงพอจึงทำให้ขาดความคิดเห็นที่แตกต่าง และทำให้การเรียนรู้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ฉะนั้น การได้เปรียบเพิ่มขึ้นอาจจะไม่ใช่เป็นประโยชน์เสมอไป


ปลาตัวใหญ่ในบ่อน้ำเล็ก

เราทุกคนนะครับจะชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และจะกระทบกับความรู้สึกของเรา
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่มีความสุขแต่คนอื่นมีความสุข ก็อาจจะทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก แต่ถ้าคนอื่นมีความทุกข์เท่าๆเรา ก็คงไม่รู้สึกแย่ขนาดนั้น

การเปรียบเทียบแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ในด้านการศึกษา
เขาได้ยกตัวอย่างนักเรียนคนหนึ่ง ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม และได้เข้ามหาวิทยาลัย Brown University ซึ่งอยู่ในระดับต้นๆของสหรัฐ
แต่เมื่อเขาเข้าไป เขากลับเริ่มเสียความมั่นใจเพราะเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นที่เก่งด้วยเช่นกัน
ก็เหมือนกับการเป็นปลาตัวเล็กในบ่อน้ำใหญ่
ท้ายสุดเขาก็ออกจากคณะวิทยาศาสตร์ที่เขาชอบ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอ และคิดว่าถ้าเขาเข้ามหาวิทยาลัยที่ชื่อเสียงลดลงมาหน่อย คือเขาจะกลายเป็นปลาตัวใหญ่ในบ่อน้ำเล็ก เขาก็อาจจะจบด้านวิทยาศาสตร์อย่างที่ต้องการ

ฉะนั้นเราต้องตัดสินใจว่าเราต้องการจะเป็นแบบไหน เพราะมันจะมีผลกระทบกับแรงจูงใจ


ความยากลำบากที่เหมาะสม

คราวนี้มาพูดถึงแนวคิดที่ 2 ของหนังสือนะครับ คือความยากลำบากที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ควรมี เพราะเมื่อเอาชนะมันได้ ก็จะช่วยให้พัฒนาค่านิยมที่สำคัญในสังคม


ลักษณะเสียเปรียบ

คนหลายคนนะครับเกิดมาพร้อมกับลักษณะที่มีความบกพร่องในบางด้าน ซึ่งทำให้การดำรงชีวิตยากขึ้น แต่บางคนก็สามารถประสบความสำเร็จได้
มันตีความได้ 2 อย่าง เขาก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ได้ หรือพวกเขาสำเร็จได้เพราะข้อบกพร่องพวกนั้น? ซึ่งอย่างที่ 2 อาจจะเปรียบเสมือนความได้เปรียบ

จากงานวิจัยพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง ประสบกับปัญหาที่เรียกว่า dyslexia ในตอนเด็ก ซึ่งทำให้พัฒนาการอ่านได้ยากและกระทบกับการเรียนรู้
ทนายที่โด่งดังในสหรัฐนามว่า David Boies ก็ประสบกับปัญหานี้ และเขาได้พัฒนาทักษะการย่อประเด็นให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งตอนที่เขามาเป็นทนายก็เป็นประโยชน์อย่างมาก
นี่เป็นประเภทการเรียนรู้ที่เรียกว่า compensation learning เป็นการพัฒนาทักษะอื่นๆเพื่อชดเชยทักษะที่ขาดหาย และในตัวอย่างนี้ทักษะชดเชยกลายเป็นข้อได้เปรียบ

ลักษณะที่ได้จาก dyslexia ที่น่าแปลกใจอีก 1 อย่างคือการที่ชอบเห็นต่างจากคนอื่น ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง

ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันและทำให้ชีวิตแย่ลง ฉะนั้นมันสำคัญอย่างมากที่จะต้องเรียนรู้วิธีรับมือกับข้อบกพร่องเพื่อให้ได้ประโยชน์จากมัน


ประสบการณ์โศกเศร้า

อีกหนึ่งความยากลำบากที่หลายคนอาจจะเจอในชีวิตคือเหตุการณ์โศกเศร้าหรือที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว
การก้าวข้ามเหตุการณ์นี้ไปได้จะช่วยให้แข็งแกร่งขึ้น
แต่ในบางครั้ง เหตุการณ์เดียวกันอาจจะมีผลกระทบไม่เหมือนกันกับคนแต่ละกลุ่ม

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันได้ทิ้งระเบิดในกรุงลอนดอนเป็นช่วงๆ
เขาพบว่าเหตุการณ์นี้มีผลกระทบกับประชากร 3 อย่าง

(1) คนที่ถูกระเบิดโดยตรงก็ไม่รอด

(2) คนที่อยู่ใกล้กับเหตุการณ์หรือถูกกระทบแต่รอดมาได้ ซึ่งประสบการณ์อาจจะมีผลกระทบในแง่ลบ เพราะชีวิตเขาอาจจะถูกกระทบอย่างรุนแรง

(3) คนที่อยู่ไกลจากเหตุการณ์ ซึ่งประสบการณ์จะมีผลกระทบในแง่บวก เพราะเหตุการณ์ที่เขากลัวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่เขาคิด จึงทำให้มีความกล้ามากขึ้น
ในเมื่อกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุด ทำให้จิตใจของประชากรเมืองโดยรวมไม่ได้ถูกกระทบอย่างที่ฝั่งเยอรมันคาดหวังไว้

ในด้านส่วนตัว การสูญเสียผู้ปกครองในวัยเด็กเป็นเหตุการณ์ที่น่าโศกเศร้า
แต่จริงๆแล้วในระยะยาว อาจจะไม่ได้มีผลกระทบด้านลบกับเด็กเสมอไป
จากการสำรวจในยุค 60 พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่ประสบความสำเร็จ เสียผู้ปกครองคนนึงก่อนอายุ 20
2 ส่วน 3 ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษตั้งแต่ปี 1800 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เสียผู้ปกครอง 1 คนก่อนอายุ 16

การที่บางคนสามารถก้าวข้ามประสบการณ์โศกเศร้านี้ได้ อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว จึงมีความมั่นใจและความกล้าหาญ


การแหกกฎ

ในสถานการณ์ที่เราต้องดิ้นรนในการต่อสู้ อาจจะให้อิสรภาพในการใช้กลยุทธ์อะไรก็ได้เพราะเราไม่มีอะไรต้องเสีย
และยิ่งถ้าเราเป็นคนนอก ก็ยิ่งไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นคิดอย่างไรถ้าไม่เล่นตามกฎเกณฑ์ที่ถูกวางไว้

ในช่วงยุค 50 ถึง 60 American Civil Rights Movement หรือการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้กับคนผิวสีในสหรัฐ ที่นำโดย Dr Martin Luther King ในช่วงแรกพวกเขาใช้การประท้วงทั่วไปแต่ก็ไม่สำเร็จ
คนผิวสีเป็นกลุ่มที่ถูกกดขี่มาตั้งแต่อดีตและไม่มีอะไรต้องเสีย ในเมื่อกลยุทธ์ทั่วไปไม่เวิร์ค พวกเขาจึงต้องใช้กลยุทธ์อื่นๆที่แหวกแนว
พวกเขารู้ว่าฝ่ายตรงข้ามคือตำรวจที่พร้อมที่จะปะทะ เขาจึงพยายามสร้างสถานการณ์ให้ตำรวจจู่โจมผู้ประท้วงเพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจจากทั้งประเทศ
พวกเขาชักชวนให้เด็กนักเรียนมัธยมมาร่วมประท้วงด้วย และตำรวจก็จับเด็กนักเรียนจำนวนมากเข้าคุก และทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจดูไม่ดี
แต่มีรูปๆหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือรูปเด็กนักเรียนที่ยืนเฉยๆให้สุนัขตำรวจเข้าไปกัด ซึ่งรูปนี้สร้างความเห็นอกเห็นใจอย่างสูงและเป็นเหมือนจุดเปลี่ยน
1 ปีให้หลังก็ได้มีการออกกฎหมายสิทธิเท่าเทียมให้กับคนผิวสี

คนหลายคนตำหนิกลยุทธ์ที่ใช้เด็กนักเรียนเป็นเครื่องมือ แต่แกนนำเห็นว่า กฎหมายที่ผิดศีลธรรม กดดันให้พวกเขาต้องใช้กลยุทธ์อะไรก็ได้ในการต่อสู้

ที่น่าสนใจนะครับ รูปที่สุนัขตำรวจกัดเด็กนักเรียน จริงๆแล้วไม่ใช่เป็นอย่างที่เห็น เพราะเด็กนักเรียนไม่ได้เป็นคนประท้วง และเขายกเข่าขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง และตำรวจก็พยายามควบคุมสุนัข
แต่ในเมื่อรูปออกมาอย่างนั้น แกนนำก็เลยนำไปใช้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด


ข้อจำกัดของอำนาจ

หัวข้อทั้งหมดที่ผ่านมานะครับเป็นการเน้นไปที่กลุ่มที่ดูเหมือนจะเสียเปรียบ
คราวนี้มาพูดถึงกลุ่มที่ทรงอำนาจกันบ้างนะครับ

ความชอบธรรมของอำนาจ

มันมีความเข้าใจผิดสำหรับคนหรือกลุ่มที่ทรงอำนาจ ว่าการที่พวกเขามีทรัพยากรและอำนาจ พวกเขาจะไม่เสียเปรียบและจะทำอะไรก็ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วอำนาจก็มีข้อจำกัดของมัน

มีหลักการที่เรียกว่า The Principle Of Legitimacy หรือหลักการความชอบธรรม เป็นการเสนอว่าอำนาจจะถูกจำกัดถ้าคนอื่นๆเห็นว่าผู้มีอำนาจขาดความชอบธรรม ซึ่งอยู่บน 3 พื้นฐาน

(1) คนภายใต้อำนาจต้องรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการรับฟัง

(2) กฎที่ผู้มีอำนาจตั้งไว้จะต้องมีความสม่ำเสมอและคาดเดาได้

(3) ท้ายสุดคือกฎจะต้องมีความยุติธรรมและใช้อย่างเท่าเทียมกันกับทุกๆฝ่าย

ถ้าไม่คำนึงถึงหลักการเหล่านี้ ผู้อยู่ใต้อำนาจอาจจะเกิดการต่อต้านและจะมีปัญหาตามมา

ในยุค 60 ประเทศไอร์แลนด์เหนือเริ่มมีความตึงเครียดระหว่างชาวคริสต์กลุ่มคาทอลิกและกลุ่มโปรเตสแตนต์
ทหารจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโปรเตสแตนต์ซะส่วนใหญ่ ก็ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์
นายพลใหญ่ของทหารอังกฤษจะเน้นการใช้กำลัง แต่นี่กลับทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
ในปี 1969 มีคนตาย 13 คน แต่ 3 ปีให้หลังมีคนตายเกือบ 500 คน

ผู้เขียนเห็นว่าการขาดความชอบธรรมเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหานี้
ประชากรคาทอลิกไม่รู้สึกเหมือนถูกรับฟัง อย่างเช่นพวกเขาถูกกักบริเวณและไม่มีอะไรจะกิน แต่ทหารอังกฤษก็ไม่สนใจ
ทหารอังกฤษที่ถูกสั่งมาคุมสถานการณ์ ก็เป็นกลุ่มโปรเตสแตนต์ ทำให้กลุ่มคาทอลิกคิดว่าไม่น่าจะมีความยุติธรรม ซึ่งก็เป็นอย่างที่พวกเขาคิด เพราะกฎหมายไม่ได้ถูกใช้อย่างเท่าเทียมกัน
ในเมื่อเป็นอย่างนี้กลุ่มคาทอลิกก็ไม่ต้องการทำตามกฎหมาย และทำให้ความขัดแย้งลามปามไปเกือบ 30 ปี


ยิ่งมากยิ่งไร้ประสิทธิภาพ

ตัวอย่างของประเทศไอร์แลนด์เหนือ ก็เป็นอีกตัวอย่างของเส้นโค้งตัวยูกลับหัวที่พูดไปแล้ว คือการทำอะไรมากเกินไปอาจจะได้ผลตรงข้าม
ในสังคมเราก็มีการเข้าใจผิดคล้ายๆกัน คือถ้าจะลดอัตราอาชญากรรม ก็ควรเพิ่มการลงโทษ
แต่ความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ได้ผลอย่างที่คิด

มีผู้ชายนามว่า Mike Reynolds ได้สูญเสียลูกสาวอายุ 18 ปีจากการฆาตกรรม
หลังจากนั้นเขาได้ผลักดันให้รัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่มการลงโทษ และก็ทำได้สำเร็จ
กฎหมายใหม่ที่ออกมาจะทำโทษใครที่ก่ออาชญากรรมครั้งที่ 2 เพิ่มเป็นเท่าตัว และถ้าเป็นครั้งที่ 3 จะต้องจำคุกอย่างต่ำ 25 ปี
4 ปีหลังจากกฎหมายนี้ออกมา อาชญากรรมลดลงมากถึง 40% ในบางกรณี ซึ่งดูเหมือนเป็นความสำเร็จ แต่ความเป็นจริงแล้วอัตราก็ลดลงทั่วประเทศและไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมายนี้

การวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่ากฎหมายนี้สร้างปัญหาข้างเคียงมากกว่าประโยชน์
(1) เด็กที่มีผู้ปกครองอยู่ในคุกเป็นเวลานานมีแนวโน้มที่จะทำให้เขาเป็นอาชญากรเพิ่มขึ้นหลายเท่า
(2) คนที่อยู่ในคุกเป็นเวลานานทำให้หางานได้ยาก และจะกลายเป็นปัญหาของสังคม

ในปี 2012 ก็ได้มีการเปลี่ยนกฎหมายเพื่อที่การลงโทษจะไม่มากเกินควร

ผู้เขียนเห็นว่าใน 2 ตัวอย่างที่พูดถึงนี้ บางครั้งการให้อภัยและใช้ความเมตตาอาจจะเป็นผลดี
และที่สำคัญคือต้องไม่แข็งและไม่อ่อนเกินไปเพื่อจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด


ท้ายสุด

ท้ายสุดนะครับ ลักษณะที่คิดว่าเป็นการเสียเปรียบ ถ้าใช้การปรับเปลี่ยนและก้าวข้ามมันได้ ก็อาจจะกลายเป็นจุดแข็ง และลักษณะที่ดูเหมือนจะได้เปรียบ ถ้ามีมากเกินไป ก็อาจจะกลายเป็นจุดอ่อน
ฉะนั้นมันสำคัญมากที่เราจะต้องเข้าใจตัวเราเองและหาจุดสมดุล เพื่อที่เราจะสามารถฝ่าฟันความท้าทายของชีวิตไปได้


สำหรับท่านใดที่อยากจะอ่านเวอร์ชั่นเต็ม ก็สามารถสั่งซื้อได้ตามลิงค์ด้านล่างเลยนะครับ


ผมขอถามทุกคนนะครับ คุณมีข้อเสียเปรียบที่กลายเป็นข้อได้เปรียบ หรือข้อได้เปรียบที่กลายเป็นข้อเสียเปรียบไหมครับ? มันเป็นลักษณะอะไรครับ?


ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ


ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ


Pop (ป๊อป) BooksDD