[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]


การลงทุนนะครับ เป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนการเงิน แต่คนจำนวนมากก็ยังไม่แน่ใจในเรื่องนี้และคิดว่าจะต้องจ้างมืออาชีพอย่างเดียว
ในบทความนี้จะเล่าถึงแนวคิดการลงทุนและการวางแผนการเงินในระยะยาว ที่ทุกคนสามารถทำได้

หนังสือที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้นะครับ A Random Walk Down Wall Street
“เดินสุ่มในวอลสตรีท”

เล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี 1973 และฉบับล่าสุดคือปี 2019 นะครับ

ผู้เขียนคือ Burton Malkiel เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Princeton University และเคยเป็นกรรมการที่บริษัท Vanguard Group เป็นหนึ่งในบริษัทกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และตอนนี้เป็น Chief Investment Officer ที่บริษัท Wealthfront


เดินสุ่มในตลาดหุ้น

จากชื่อหนังสือนะครับ คำว่า “random walk” หรือ “การเดินสุ่ม” ในที่นี้มี 2 ความหมาย
(1) เป็นการที่หนังสือจะพูดถึงประวัติศาสตร์และหลักการการลงทุนโดยรวม
(2) เป็นทฤษฎีที่เสนอว่า ราคาของหลักทรัพย์ในอนาคต ไม่สามารถคาดการณ์ได้

แนวคิดหลักของหนังสือ คือถ้าต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้น มันจะดีกว่าสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่จะลงทุนในกองทุนดัชนี ซึ่งเป็นประเภทกองทุนที่ลงทุนในตลาดโดยรวม แทนที่จะเลือกหุ้นรายตัว หรือให้มืออาชีพลงทุนให้

แต่มีคนจำนวนมากคิดว่าเขาสามารถได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาด และก็เริ่มจะมีนักวิชาการบางคนที่เห็นว่าตลาดไม่ค่อยมีประสิทธิภาพสักเท่าไหร่ ซึ่งทำให้มีการถกเถียงในเรื่องนี้อย่างมาก

การมีส่วนร่วมในตลาดก็สามารถทำได้ใน 2 รูปแบบ
(1) การลงทุน เป็นการซื้อสินทรัพย์เพื่อให้ได้กำไรในรูปแบบกระแสเงินสดที่คาดเดาได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า เงินปันผล หรือดอกเบี้ย
(2) การเก็งกำไร เป็นการซื้อสินทรัพย์เพื่อที่จะขายออกไปในราคาที่สูงกว่า

ในหนังสือจะเน้นการลงทุนอย่างเดียว และไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์อะไร ผลตอบแทนของการลงทุน จะขึ้นอยู่กับมูลค่าที่เราซื้อสินทรัพย์นั้น ซึ่งมูลค่าที่เราให้ก็เป็นการคาดการณ์อนาคตอย่างหนึ่ง

แนวคิดการประเมินมูลค่าก็มาใน 2 รูปแบบด้วยกัน

(1) Firm-Foundation Theory หรือ “ทฤษฎีพื้นฐานบริษัท” ซึ่งเป็นการประเมิน intrinsic value หรือ “มูลค่าที่แท้จริง” ของบริษัท ไม่ว่าจะดูจากเงินปันผลปัจจุบัน หรือคาดการณ์เงินปันผลในอนาคต ซึ่งเมื่อประเมินมูลค่าได้แล้ว ก็จะตัดสินใจซื้อขายตามมูลค่านี้
ปัญหาของทฤษฎีนี้ คือต้องคาดการณ์อนาคต ซึ่งไม่แน่ว่าเงินปันผลของบริษัทอาจจะเปลี่ยนแปลง หรือไม่เติบโตอย่างที่คิด

(2) Castle-In-The-Air Theory หรือ “ทฤษฎีปราสาทในอากาศ” ซึ่งเป็นทฤษฎีเชิงจิตวิทยาหมู่ และเชื่อว่ามูลค่าของทรัพย์สินจะขึ้นอยู่กับมูลค่าที่คนอื่นจะยอมจ่ายให้กับมัน
ปัญหาของทฤษฎีนี้ คือจะต้องคาดเดาทิศทางของเศรษฐกิจ และจะต้องเข้าและออกจากตลาดในเวลาที่เหมาะสม เพราะไม่อย่างนั้นแล้วอาจจะถือทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากเกินไป

ในอดีตนะครับ จิตวิทยาหมู่ก็เคยทำให้เกิดฟองสบู่การลงทุนหลายครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นฟองสบู่ดอกทิวลิป (Tulip Mania) ในเนเธอร์แลนด์ในศตวรรษที่ 16
ฟองสบู่บริษัท South Sea (South Sea Bubble) ของประเทศอังกฤษในต้นศตวรรษที่ 18
หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ The Great Depression ในสหรัฐอเมริกาในปี 1929

วิกฤตที่พูดมา เกิดจากนักลงทุนรายย่อยซะส่วนใหญ่ แต่ก็ใช่ว่านักลงทุนสถาบันจะดีกว่าซักเท่าไหร่
ในยุค 60 ถึง 80 นักลงทุนสถาบันในสหรัฐ ก็ได้ลงทุนในบริษัทที่มีการควบรวมกิจการ (mergers and acquisitions) ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้มีมูลค่าสูงเกินไปด้วยเช่นกัน

ประวัติศาสตร์หลายร้อยปีของวิกฤตฟองสบู่ก็น่าจะเป็นบทเรียนให้เราได้แล้วนะครับ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นเลย เพราะก็ยังเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 เริ่มจาก Dotcom Bubble ระหว่างปลายยุค 90 จนถึงต้นยุค 2000 ที่บริษัทอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะมีกำไรหรือไม่ ก็จะถูกประเมินมูลค่าอย่างมหาศาลทันที
หรือวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ที่บริษัทลงทุนคิดว่าเขากำจัดความเสี่ยงไปได้โดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน จึงเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์
และในปัจจุบัน ผู้เขียนก็ยังเห็นว่านักลงทุนก็ยังมีความกระตือรือร้นในสิ่งที่แปลกใหม่ อย่างเช่น Bitcoin และ Cryptocurrency ซึ่งเขาคิดว่าก็เป็นฟองสบู่เช่นกัน แต่เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า Blockchain Technology อาจจะมีบทบาทในอนาคต


การวิเคราะห์ทางพื้นฐานและเทคนิค

จาก 2 รูปแบบแนวคิดการประเมินมูลค่าบริษัทที่พูดไปแล้ว ก็นํามาซึ่ง 2 กลยุทธ์ในการวิเคราะห์ และนักวิเคราะห์อาจจะใช้กลยุทธ์อย่างเดียวหรือผสมผสานกัน

(1) กลยุทธ์แรกนะครับ คือ Technical Analysis หรือ “การวิเคราะห์ทางเทคนิค” เป็นการวิเคราะห์ chart เพื่อคาดการณ์ราคาอนาคต
เขาเชื่อว่าราคาในอดีตจะสะท้อนถึงข้อมูล และจะพยายามหาเทรนด์ในการเข้าและออกจากตลาด
นักวิเคราะห์ด้านนี้
(1) จะพึ่งจิตวิทยาหมู่ของนักลงทุน
(2) จะตั้งข้อสมมติฐานว่าทุกคนมีข้อมูลไม่เท่ากัน
(3) และคิดว่านักลงทุนจะมีการตอบโต้ที่ล่าช้ากับข้อมูลใหม่

จากการวิจัย พบว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิค ไม่ได้มีผลตอบแทนที่สูงกว่ากลยุทธ์การถือหุ้นระยะยาว อย่างเช่นการลงทุนในกองทุนดัชนี
เขาพบว่าราคาในอดีต จะมาในรูปแบบที่เรียกว่า “random walk” ซึ่งเป็นการสุ่มของราคา ที่คาดการณ์ไม่ได้ จึงทำให้ไม่เป็นตัวชี้วัดที่ดีของราคาในอนาคต
นอกเหนือจากนั้นแล้ว การซื้อขายจำนวนมากโดยใช้เทคนิคนี้ อาจจะต้องเสียค่าคอมมิชชั่นเยอะเกินไป

(2) กลยุทธ์ที่ 2 นะครับ คือ Fundamental Analysis หรือ “การวิเคราะห์ทางพื้นฐาน” เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท โดยการวิเคราะห์งบการเงิน สินค้าของบริษัท หรืออุตสาหกรรม ในการคาดการณ์แนวโน้มการทำกำไรในอนาคต เพื่อที่จะหามูลค่าที่แท้จริง
นักวิเคราะห์ด้านนี้ จะให้มูลค่าหุ้นมากขึ้น
(1) ถ้าคาดว่าบริษัทมีโอกาสเติบโตเร็ว
(2) คาดว่าเงินปันผลจะเพิ่มขึ้น
(3) เป็นบริษัทมีความเสี่ยงต่ำ
(4) และอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ปัญหาก็คือ ปัจจัยทั้งหมดนี้มาจากอดีต จึงไม่ใช่เป็นตัววัดที่ดีสำหรับอนาคต
(1) เพราะการคาดการณ์สำหรับอนาคต ไม่สามารถดูจากปัจจุบันหรือในอดีตได้ โดยเฉพาะถ้าอาจจะมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง
(2) มันยากที่จะคำนวณตัวเลขที่แม่นยำ และก็ยังต้องใช้การคาดเดา
(3) ข้อสมมติฐานของการเจริญเติบโตอาจจะไม่คงที่ ทำให้ประเมินมูลค่าแพงเกิน
(4) นักวิเคราะห์ อาจจะได้ข้อมูลผิดหรืออาจจะถูกแต่งเติมมา หรืออาจจะวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง
(5) และท้ายสุด ถึงแม้ว่าจะวิเคราะห์อย่างถูกต้อง แต่ราคาหลักทรัพย์อาจจะไม่สะท้อนเสมอไป


Efficient Market Hypothesis สมมติฐานประสิทธิภาพของตลาด

ในสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้น 25 ปีระหว่าง 1992 ถึง 2017 พบว่ากองทุนดัชนีตลาด หรือ passive index fund ที่ลงทุนในดัชนี S&P 500 ได้ผลตอบแทน 9.69% ต่อปี เมื่อนำเงินปันผลมาลงทุนต่อ
ในขณะเดียวกัน เฉลี่ยผลตอบแทนของกองทุนที่มีการบริหารจัดการหรือ active fund อยู่ที่ 8.55% ต่อปี
ซึ่งถ้านับเป็นระยะเวลา 25 ปี ความแตกต่างของเงินตอบแทนทั้งหมดห่างกันเกือบ 33%

เหตุผลที่การลงทุนที่มีการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะใช้การวิเคราะห์ทางพื้นฐานหรือทางเทคนิค ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ มาจากข้อสมมติฐานที่เรียกว่า Efficient Market Hypothesis (EMH) หรือ “สมมติฐานประสิทธิภาพของตลาด”
มันเป็นการเสนอว่าตลาดการลงทุนมีประสิทธิภาพ และราคาหลักทรัพย์ได้สะท้อนข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว ถ้าปรับฐานความเสี่ยงให้เสมอกัน
นักวิชาการบางคนถึงกับบอกว่าถ้านำลิงปิดตามาเลือกหุ้น ก็ยังจะได้ผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างจากนักลงทุนมืออาชีพสักเท่าไหร่

สิ่งที่คนส่วนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับ สมมติฐานนี้ คือคิดว่าราคาของหลักทรัพย์จะถูกต้องอยู่ตลอด ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะมันแค่เสนอว่า ราคาของหลักทรัพย์จะสะท้อนถึงข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนั้น

ประสิทธิภาพของตลาดก็มีอยู่ 3 ระดับ

Weak form หรือ “แบบอ่อน” ซึ่งหมายถึง การวิเคราะห์ทางพื้นฐานอาจจะทำกำไรมากกว่าปกติได้ แต่การวิเคราะห์ทางเทคนิคทำไม่ได้

Semi-strong form หรือ “แบบกลาง” ซึ่งหมายถึง ราคาหลักทรัพย์จะสะท้อนถึงข้อมูลสาธารณะทั้งหมด ฉะนั้นการวิเคราะห์ทางเทคนิคและพื้นฐานจึงไม่สามารถทำกำไรได้มากกว่าปกติ แต่ข้อมูลภายในที่ไม่เป็นสาธารณะอาจจะทำได้

Strong form หรือ “แบบเข้ม” ซึ่งหมายถึง ไม่มีข้อมูลหรือการวิเคราะห์ประเภทไหน ที่จะนำไปสู่กำไรที่มากกว่าตลาดได้

จากทั้งหมดนี้นะครับ นักลงทุนทั่วไปถึงควรจะลงทุนในกองทุนดัชนีที่ได้ผลตอบแทนตามตลาด

แต่ผู้เขียนก็ยอมรับนะครับว่าเขามีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะบริษัท Vanguard ที่เขาเคยจะเป็นกรรมการ เป็นบริษัทที่เน้นกองทุนดัชนี


Modern Portfolio Theory ทฤษฎีพอร์ตโฟลิโอสมัยใหม่

ในเมื่อทั้ง 2 แนววิเคราะห์ ไม่สามารถได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ก็ได้มีการเสนอวิธีที่เรียกว่า Modern Portfolio Theory หรือ “ทฤษฎีพอร์ตโฟลิโอสมัยใหม่”

โดยพื้นฐานแล้ว ทฤษฎีนี้เป็นการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อให้ได้ความเสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับผลตอบแทนนั้น

วิธีที่จะลดความเสี่ยงได้ คือจะต้องกระจายการลงทุนไปในหลากหลายหลักทรัพย์ ประเภทสินทรัพย์ อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งในหลายประเทศ เพราะการลงทุนในแต่ละอย่าง จะมีปัจจัยความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกัน และจะชดเชยกัน
ยกตัวอย่างนะครับ ในสถานการณ์ covid บริษัทที่ถูกกระทบก็จะเป็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่บริษัทที่ได้ประโยชน์อาจจะเป็นบริษัทส่งอาหาร ซึ่งถ้ามีหุ้นของทั้ง 2 บริษัทอยู่ในพอร์ตลงทุนก็จะไม่ถูกกระทบมากเกินไป

แต่ถึงแม้ว่าจะกระจายการลงทุนได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็ใช่ว่าความเสี่ยงจะหายไปทั้งหมดนะครับ

ความเสี่ยงแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

(1) Unsystematic risk หรือ “ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ” เป็นความเสี่ยงที่เจาะจงกับสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์นั้นโดยเฉพาะ ซึ่งการกระจายการลงทุนจะสามารถลดความเสี่ยงประเภทนี้ได้ จากที่ให้ตัวอย่างในสถานการณ์ covid ไปแล้วนะครับ

(2) Systematic risk หรือ “ความเสี่ยงที่เป็นระบบ” เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ beta เป็นความเสี่ยงที่มีกับตลาดโดยรวม
ถ้าพูดถึงสินทรัพย์ประเภทหุ้นนะครับ หุ้นแต่ละตัวจะมีความอ่อนไหวต่อตลาดโดยรวม
บางตัวมีความอ่อนไหวสูง ซึ่งถ้าตลาดโดยรวมเคลื่อนไหว หุ้นนี้ก็จะเคลื่อนไหวมากกว่า
ในขณะที่หุ้นบางตัว มีความอ่อนไหวต่ำลงมา ซึ่งก็จะไม่เคลื่อนไหวตามตลาดมากขนาดนั้น
ความเสี่ยงประเภทนี้ ไม่สามารถลดลงจากการกระจายการลงทุนได้

การคำนวณความเสี่ยงจากระบบค่อนข้างจะซับซ้อนและยากที่จะทำได้อย่างแม่นยำ และก็เริ่มมีการพัฒนาทฤษฎีอื่นๆในการวัดความเสี่ยงและผลตอบแทน

แต่โดยรวมแล้ว มันก็ทำให้เห็นว่า ผลตอบแทนที่มากขึ้น ไม่ได้มาจากการวิเคราะห์หรือมีข้อมูลที่ดีกว่า แต่เป็นเพราะยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า


การเงินเชิงพฤติกรรม

ทุกอย่างทั้งหมดที่พูดมานะครับ เป็นการตั้งข้อสมมติฐาน ที่ว่านักลงทุนมีความสมเหตุสมผล
แต่ก็เริ่มจะมีแนวคิดใหม่ที่มาท้าทายความคิดนี้ ที่เรียกว่า behavioural finance หรือ “การเงินเชิงพฤติกรรม”

ผู้บุกเบิกในด้านนี้คือศาสตราจารย์ Daniel Kahneman ซึ่งผมเคยรีวิวหนังสือเข้าไปแล้ว 2 เล่มนะครับ (Thinking, Fast And Slow และ Noise) ผมแนะนำให้ไปชมด้วยนะครับ

โดยรวมแล้วนะครับ มันมี 5 ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนไม่มีความสมเหตุสมผล
(1) มีความมั่นใจมากเกินไป
(2) ความอคติทางความคิดและตัดสิน
(3) พฤติกรรมหมู่
(4) การหลีกเลี่ยงการสูญเสีย
(5) ความภูมิใจและความเสียใจ

ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ จะชี้ว่าราคาในตลาดและข้อมูลไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไปและมีโอกาสทำกำไร
แต่ผู้สนับสนุนแนวคิดประสิทธิภาพตลาด ก็เสนอว่ามันมีกลไกที่ทำให้ตลาดปรับตัวอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การเงินเชิงพฤติกรรม ทำให้เห็นว่าบ่อยครั้ง ศัตรูที่สำคัญที่สุดในการลงทุน คือตัวของผู้ลงทุนเอง


คำแนะนำการวางแผนการลงทุน

ผู้เขียนก็ได้ให้คำแนะนำพื้นฐานในการวางแผนการลงทุนนะครับ

ในด้านนี้ผมจะขอพูดถึงหลักการเท่านั้น และนี่ไม่ใช่เป็นการแนะนำจากตัวผม และทุกคนควรศึกษาเพิ่มเติม เพราะบางอย่างอาจจะแตกต่างกันในประเทศไทยนะครับ

(1) เริ่มเก็บเงินและลงทุนให้เร็วที่สุด

(2) ปกป้องตัวเองจากสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะด้วยเงินสดหรือประกัน

(3) พยายามทำให้เงินสดที่มีอยู่ได้ผลตอบแทนเท่ากับเงินเฟ้อ อาจจะเป็นประเภทบัญชี หรือกองทุนเงินสด

(4) บริหารและจัดการด้านภาษีให้ถูกต้อง ถ้ามีแนวทางไหนลดหย่อนได้ก็ควรทำ

(5) เข้าใจตัวเองว่าเป้าหมายของการลงทุนคืออะไร และต้องการเสี่ยงมากขนาดไหน

(6) ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนอสังหา เพื่อปกป้องจากเงินเฟ้อ และอาจจะได้ประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี

(7) ศึกษาตราสารหนี้ เพราะเป็นตัวกระจายการลงทุนที่ดีในพอร์ตลงทุน

(8) ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนในทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ หรือของสะสม

(9) คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุน และควรให้มันต่ำที่สุด

(10) กระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นภายในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน หรือประเภทสินทรัพย์ที่หลากหลาย

โดยทั่วไปแล้วนะครับ สินทรัพย์สำคัญในพอร์ตการลงทุน คือหุ้นและตราสารหนี้
หุ้นจะมีความเสี่ยงสูงกว่าและจะได้ผลตอบแทนมากกว่าในระยะยาว เฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 7-10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ในขณะที่ตราสารหนี้ จะมีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนก็ต่ำ คิดเป็นประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ยังมีสินทรัพย์ประเภทอื่นอย่างเช่นเงินสดและอสังหา ที่ควรจะพิจารณาด้วย

ปัจจัยสำคัญในการวางแผนการลงทุนคืออายุ ซึ่งมันจะมีผลต่อการจัดสรรประเภทสินทรัพย์

มี 5 ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง

(1) โดยรวมแล้ว ความเสี่ยงจะสอดคล้องกับผลตอบแทน ถ้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ก็ควรจะได้ผลตอบแทนที่สูงด้วยเช่นกัน

(2) ความเสี่ยงก็มีความสัมพันธ์กับเวลา ถ้าสามารถถือหลักทรัพย์ได้นาน ความเสี่ยงโดยเฉลี่ยก็จะลดลง
ฉะนั้นถ้ายังอายุไม่เยอะและยังทำงานอยู่ ก็ควรลงทุนกับหุ้นในระยะยาว แต่ถ้าอยู่ในวัยเกษียณก็ควรลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้น

(3) ใช้กลยุทธ์ dollar-cost averaging (DCA) เป็นการเพิ่มเงินลงทุนจำนวนเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่คำนึงว่าตลาดจะขึ้นหรือลง
ยกตัวอย่างเช่น อาจจะซื้อกองทุนดัชนีจำนวนเดียวกันทุกๆเดือน ซึ่งในระยะยาว ต้นทุนของการลงทุนจะอยู่ที่ค่าเฉลี่ย และผลตอบแทนก็น่าจะเหมาะสม

(4) เมื่อเวลาผ่านไปสักพักนึงแล้ว ก็ควรปรับเปลี่ยนสัดส่วนของสินทรัพย์ภายในพอร์ต เพื่อที่จะเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ต้องการ

(5) จะต้องแยกแยะระหว่างความต้องการจะเสี่ยง และความสามารถในการเสี่ยง
ถึงแม้ว่าอาจจะต้องการเสี่ยงมาก แต่ถ้าอยู่ในวัยเกษียณก็ไม่ควรทำ
นอกเหนือจากนั้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ควรคำนึงถึง คือดูว่ารายได้และผลตอบแทนการลงทุนมาจากแหล่งเดียวกันหรือเปล่า อย่างเช่นบางคนลงทุนในบริษัทที่ตัวเองทำงานอย่างเดียว ซึ่งถ้าบริษัทมีปัญหา ก็อาจจะเสียทั้งรายได้และเงินลงทุน ฉะนั้นควรกระจายอย่างเหมาะสมจะดีกว่า

อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่าผู้เขียนแนะนำว่า ในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้น วิธีที่ดีที่สุดคือลงทุนในกองทุนดัชนี

แต่นักลงทุนบางคนก็อยากจะทำมากกว่านั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามันก็โอเคที่จะใช้เงินส่วนน้อยในการเลือกหุ้นด้วยตัวเอง และก็ให้คำแนะนำ

(1) ลงทุนในบริษัทที่คาดว่าจะมีการเติบโตมากกว่าเฉลี่ย 5 ปีขึ้นไป

(2) อย่าให้มูลค่าสูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับกำไร และควรดูมูลค่าของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน

(3) หาบริษัทที่มีเรื่องราวที่จะน่าจะทำให้การคาดการณ์ของการเติบโตปรับตัวขึ้น

(4) อย่าซื้อขายบ่อยเกินไป


ท้ายสุด

ท้ายสุดนะครับ การลงทุนนั้นไม่ได้มีความซับซ้อนมากอย่างที่คิด และด้วยลักษณะความไม่แน่นอนของตลาด ผู้ที่เป็นมืออาชีพ ก็ไม่ได้ทำได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป
ฉะนั้นถ้าคุณศึกษาและมีวินัย คุณก็จะสามารถออกแบบการลงทุนเพื่อให้ถึงเป้าหมายของคุณได้

มันก็ยังมีบางอย่างที่ผมไม่ได้พูดถึงจากหนังสือนะครับ และผมแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมด้วยนะครับ
สำหรับท่านใดที่อยากจะอ่านเวอร์ชั่นเต็ม ก็สามารถสั่งซื้อได้ตามลิงค์ด้านล่างคลิปเลยนะครับ

ผมขอถามทุกคนนะครับ คุณคิดว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพมากขนาดไหนครับ? มันเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำกำไรได้มากกว่าตลาดอย่างสม่ำเสมอในระยะยาวครับ?

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ


ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ


Pop (ป๊อป) BooksDD