[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]


เราทุกคนนะครับคงอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างชีวิต
แต่บ่อยครั้งเราอาจจะทำไม่สำเร็จเพราะอาจจะมีแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง
ผมจะมาเล่าถึงหนังสือที่จะช่วยในการสร้างอุปนิสัยเล็กๆที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

รีวิวหนังสือ Tiny Habits: The Small Changes That Change Everything
เปลี่ยนน้อยนิด เพื่อพิชิตทุกเป้าหมาย

เล่มนี้เขียนโดย Dr Brian Jeffrey Fogg เป็นนักสังคมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรม และเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัย Behaviour Design Lab ที่ Stanford University

ผมเคยรีวิวหนังสือแนวการสร้างอุปนิสัยไปแล้ว 2 เล่มนะครับ The Power Of Habits และ Atomic Habits ผมแนะนำให้ไปชม 2 คลิปนี้ด้วยนะครับ

จริงๆแล้วทั้ง 3 เล่มก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง แต่เล่มนี้ก็มีข้อคิดที่มีประโยชน์และเป็นขั้นตอนที่ทุกคนน่าจะนำไปใช้ได้จริง


Tiny Habits พฤติกรรมเล็กๆ

บ่อยครั้งคนเราอาจจะเข้าใจผิดว่าต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และเมื่อทำไม่ได้ก็คิดว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ไม่มีความทะเยอทะยานหรือความสามารถเพียงพอ และทำให้ขาดแรงจูงใจเลยไม่ได้เปลี่ยนแปลงสักที

ผู้เขียนเห็นว่าเราไม่ควรโทษตัวเอง เพราะเราเข้าใจผิดในการออกแบบขั้นตอนที่ถูกต้อง และการเปลี่ยนแปลงระยะยาวมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น และแรงจูงใจไม่ใช่เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างเดียว


ข้อดีของพฤติกรรมเล็กๆ

ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดพฤติกรรมเล็กๆเรียกว่า Tiny Habits
แนวคิดหลักคือ:
(1) จะต้องหยุดโทษตัวเอง เพราะการเปลี่ยนแปลงจะมาจากความรู้สึกที่ดีไม่ใช่ความรู้สึกที่แย่
(2) หลังจากนั้นจะต้องย่อความใฝ่ฝันหรือผลลัพธ์ที่ต้องการให้เป็นพฤติกรรมเล็กๆ
(3) ควรมองความผิดพลาดให้เป็นการค้นพบเพื่อเดินหน้าต่อไป

Tiny Habits มีข้อดีหลายข้อ
(1) มันทำได้ทันทีและไม่ต้องใช้เวลานาน
(2) มันปลอดภัย เพราะคุณทำในพื้นที่ส่วนตัว และมันเป็นนิสัยที่แทบจะล้มเหลวไม่ได้
(3) มันต่อยอดให้เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆได้
(4) มันไม่ต้องพึ่งแรงจูงใจมาก เพราะมันเป็นพฤติกรรมที่เล็กและง่าย


ลักษณะพฤติกรรมเล็กๆ

ลักษณะของ Tiny Habits มีอยู่ 3 อย่างด้วยกันเรียกว่า ABC

Anchor Moment ผมขอแปลว่านาทียึดติด เป็นการกระทำที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว
New Tiny Behaviour พฤติกรรมเล็กๆที่ย่อส่วนจากพฤติกรรมที่ต้องการสร้าง ที่นำไปติดกับสิ่งที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว
Instant Celebration คือการสร้างความรู้สึกดีๆหลังจากทำพฤติกรรมเล็กๆได้สำเร็จ

ถ้าคุณต้องการสร้างพฤติกรรมใหม่ คุณจะต้องบอกตัวเองว่า
“หลังจากที่ฉัน_____ ฉันจะ_____ และฉันจะ____ เพื่อเป็นการฉลอง”
ขอยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าคุณต้องการจะสร้างพฤติกรรมใช้ไหมขัดฟัน คุณควรบอกตัวเองว่า “หลังจากที่ฉันแปรงฟัน ฉันจะใช้ไหมขัดฟันแค่ซี่เดียวพอ และจะยิ้มในกระจกเพื่อเป็นการฉลอง”

การทำพฤติกรรมเล็กๆมันทำได้ง่าย และจะสร้างความรู้สึกดีที่จะช่วยให้มีแรงจูงใจทำต่อไป


รูปแบบ Fogg Behaviour Model

ผู้เขียนได้ร่าง framework ที่เรียกว่า Behaviour Design คือการออกแบบพฤติกรรม ซึ่งจะแบ่งเป็น:
(1) Model รูปแบบ และ
(2) Methods วิธีการ

รูปแบบจะพูดถึงองค์ประกอบที่นำไปสู่พฤติกรรม ซึ่งจะเป็นโครงสร้างให้กับวิธีการ

มาพูดถึงรูปแบบก่อนนะครับ ผู้เขียนเสนอรูปแบบที่เรียกว่า Fogg Behaviour Model
B = M A P

Behaviour พฤติกรรมที่เป็นอยู่หรือที่ต้องการให้เกิดขึ้น
Motivation แรงจูงใจที่จะทำพฤติกรรมนั้น ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้มีความสำคัญเท่าที่คิดเพราะมันพึ่งไม่ค่อยได้ ยากที่จะเปลี่ยน และเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ตัวและอาจจะขัดแย้งกับแรงจูงใจอื่น
Ability คือความยากหรือง่ายที่จะทำพฤติกรรมนั้น ซึ่งมี 2 มิติความสามารถของตัวเองและลักษณะของพฤติกรรม
Prompt คือการแจ้งเตือนให้ทำพฤติกรรม

ถ้าจะให้เกิดพฤติกรรม จะต้องมีแรงจูงใจ ความสามารถ และการแจ้งเตือนพร้อมกัน ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เกิดขึ้น
รูปแบบพฤติกรรมนี้ใช้ได้กับพฤติกรรมทุกๆประเภทไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี
แต่ละคนก็จะมี 3 ปัจจัยนี้แตกต่างกัน และในแต่ละสถานการณ์ก็จะแตกต่างกันอีกด้วย

รูปแบบนี้สามารถแสดงออกมาเป็นภาพเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
อย่างที่เห็นจากกราฟนี้นะครับ แนวตั้งเป็นแรงจูงใจ และแนวราบเป็นความสามารถ เส้นโค้งตรงกลางเรียกว่า Action Line เป็นขอบเขตที่จะเป็นตัวชี้ว่าพฤติกรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่
จะเห็นได้ว่าจุดเขียวและจุดแดงมีแรงจูงใจที่ใกล้เคียงกัน แต่จุดเขียวทำได้ง่ายกว่าและอยู่เหนือเส้น ซึ่งพฤติกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแจ้งเตือน แต่พฤติกรรมจุดแดงที่อยู่ใต้เส้นจะไม่เกิดขึ้นเพราะมันยากเกินไปถึงแม้ว่ามีการแจ้งเตือนก็ตาม

ถ้าพฤติกรรมอยู่ใต้เส้น Action Line ควรดูว่า
(1) มีแรงจูงใจมากพอหรือเปล่า?
(2) มีความสามารถมากพอหรือเปล่า?
(3) มีการแจ้งเตือนหรือไม่?

เราสามารถผลักดันองค์ประกอบทั้ง 3 โดยการเปลี่ยนแปลง (1) ตัวเอง (2) การกระทำ (3) หรือสิ่งแวดล้อม

แรงจูงใจและความสามารถมีความเชื่อมโยงกัน ถ้าแรงจูงใจสูงก็สามารถทำในสิ่งที่ยากได้ แต่ถ้าแรงจูงใจต่ำก็จะทำแต่สิ่งที่ง่าย
ฉะนั้นควรย่อลักษณะของพฤติกรรมให้ทำได้ง่ายจะได้ไม่ต้องมีแรงจูงใจสูงเกินไป

รูปแบบนี้จะไม่เจาะจงไปที่ตัวบุคคล แต่เป็นการดูการออกแบบพฤติกรรมมากกว่า


วิธีการออกแบบพฤติกรรม Behaviour Design Process

ในเมื่อเราเข้าใจองค์ประกอบของพฤติกรรม คราวนี้มาพูดถึงวิธีการออกแบบพฤติกรรมที่เรียกว่า Behaviour Design Process ซึ่งเป็นการนำ Fogg Behaviour Model มาเป็นขั้นตอนที่ทำตามได้

ทั้งหมดมี 7 ขั้นตอนซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน
Selection การเลือก
Design การออกแบบ
Implementation การปฏิบัติ


Selection การเลือกพฤติกรรม

มาเริ่มกันที่การเลือกพฤติกรรมนะครับ ซึ่งจะโฟกัสกับแรงจูงใจ

(1) สิ่งแรก คุณจะต้องสร้างความชัดเจนให้กับความใฝ่ฝันหรือผลลัพธ์

คุณต้องถามตัวเองอย่างแน่ชัดว่า
อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการ?
ความใฝ่ฝันคุณคืออะไร?
หรือผลลัพธ์ที่คุณต้องการคืออะไร?

ให้คุณเขียนรายการสิ่งเหล่านี้ลงไปทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากลดความเครียด คุณอยากทำเพราะมันกระทบความสัมพันธ์กับครอบครัว หรือมันเกี่ยวกับด้านสุขภาพ หรืออย่างอื่น

ความชัดเจนจะช่วยให้ออกแบบพฤติกรรมอย่างเจาะจงได้มากขึ้น


(2) ขั้นตอนที่ 2 การสำรวจทางเลือกของพฤติกรรม

เมื่อคุณมีความชัดเจนกับความใฝ่ฝันหรือผลลัพธ์ที่ต้องการจากขั้นตอนที่ 1 แล้ว คุณควรสร้างรายการพฤติกรรมเจาะจงที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้

ในช่วงแรกคุณไม่ต้องคำนึงว่าจะทำได้หรือไม่ได้ หรือสนใจเรื่องรายละเอียดนะครับ และควรจะมองว่าทุกอย่างเป็นไปได้ และใช้การมองโลกในแง่ดีและความคิดสร้างสรรค์

ให้ถามตัวเองว่า ถ้าสามารถใช้เวทมนต์ให้ตัวเองทำพฤติกรรมอะไรก็ได้ที่จะให้ถึงความใฝ่ฝันและผลลัพธ์ คุณจะทำพฤติกรรมอะไร?

เป้าหมายคือสร้างรายการพฤติกรรมให้มากที่สุด ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า Swarm of Behaviours หรือฝูงพฤติกรรม

ผู้เขียนแนะนำให้เขียนประมาณ 10 พฤติกรรมขึ้นไปกำลังดี และอาจจะเป็น (1) พฤติกรรมที่ทำครั้งเดียว (2) พฤติกรรมใหม่ที่ต้องการทำ (3) หรือพฤติกรรมที่ต้องการหยุด

ยกตัวอย่างเรื่องการลดความเครียดนะครับ รายการพฤติกรรมที่คุณคิดว่าจะช่วยลดความเครียดได้อาจจะเป็น download app นั่งสมาธิ หยุดดู content ที่สร้างความเครียด เล่นกีต้าร์วันละ 10 นาที ออกไปวิ่งตอนเย็นครึ่งชั่วโมง อ่านหนังสือวันละ 20 หน้า หรืออะไรก็ตาม

ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะสร้างความชัดเจนว่าเป็นการกระทำอะไรและจะเกิดขึ้นตอนไหน


(3) ขั้นตอนที่ 3 จับคู่กับพฤติกรรมที่เจาะจง

หลังจากที่สร้างรายการพฤติกรรมมาจำนวนหนึ่งแล้วนะครับ เราก็ต้องมาวิเคราะห์เชิงปฏิบัติ และดูว่าพฤติกรรมไหนควรจับคู่ด้วยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ซึ่งผู้เขียนเรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่า Golden Behaviour หรือพฤติกรรมทอง

พฤติกรรมทองจะมี 3 ลักษณะ
(1) มีผลกระทบสูงที่จะทำให้ไปถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ
(2) คุณมีแรงจูงใจที่ทำสิ่งนั้น
(3) และคุณสามารถทำได้

เราจะใช้กลยุทธ์ Focus Mapping หรือสร้างแผนจุดโฟกัส เพื่อค้นหาพฤติกรรมทองเหล่านี้

ตามรูปนี้นะครับ จะเห็นเส้น 2 เส้น แนวตั้งคือผลกระทบของพฤติกรรมจากสูงมาต่ำ เส้นแนวราบตรงกลางคือคุณคิดว่าคุณจะทำพฤติกรรมนี้ได้หรือไม่


รอบแรกนะครับให้นำรายการพฤติกรรมที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ แล้วถามว่าพฤติกรรมนั้นจะมีผลกระทบให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการมากน้อยขนาดไหน? แล้วก็วางตามที่คุณรู้สึกว่าอยู่ระดับที่ถูกต้อง
ถ้าทำผิดพลาดก็ไม่เป็นไรนะครับ เพราะถ้าคุณทำแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดก็กลับมาเปลี่ยนทีหลังก็ได้ เพราะท้ายสุดแล้วนี่เป็นการทดลองอยู่เรื่อยๆ
ในตอนนี้ทุกๆพฤติกรรมควรอยู่ตรงเส้นกลางขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดว่ามันจะมีผลกระทบสูงหรือต่ำ

รอบ 2 นะครับให้มองอีกมิติว่าคุณเห็นตัวเองทำพฤติกรรมนั้นหรือไม่? ให้ลองจินตนาการว่าคุณทำพฤติกรรมนั้นอยู่แล้วมันจะให้ความรู้สึกกับคุณอย่างไร? คุณผลักดันให้ตัวเองทำได้หรือเปล่า? หรือคุณต้องการทำมันจริงหรือเปล่า? แล้วคุณทำได้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่?
อย่าลืมนะครับว่าแนวคิดหลักของ Tiny Habits คือจะต้องมีความรู้สึกดีกับพฤติกรรมนั้น ถ้าคิดว่าคุณอาจจะรู้สึกไม่ดีก็ไม่ควรทำ
คุณก็โยกย้ายแต่ละพฤติกรรมไปซ้ายหรือขวาตามที่เห็นว่าควร

คราวนี้มาดูภาพรวมกันนะครับ พฤติกรรมที่อยู่ในแถบบนขวาจะเป็นสิ่งที่คุณคิดว่ามีผลกระทบที่สูงและคุณสามารถทำได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นพฤติกรรมทองสำหรับคุณ
ถ้ายังไม่มีพฤติกรรมอยู่ในแถบนี้ ก็กลับไปสร้างรายการพฤติกรรมเพิ่มเติมแล้วมาเรียงใหม่อีกที

พฤติกรรมทองเป็นส่วนสำคัญในทำให้นิสัยเริ่มเติบโต เพราะมันมีความชัดเจนและอาจจะช่วยให้คุณมีแรงบันดาลใจในการลงมือทำ
สิ่งที่สำคัญในการจับคู่พฤติกรรมนะครับ คือคุณควรมีความจงใจในการพิจารณาและไม่ใช้การเดา และอย่าไปคำนึงถึงสิ่งที่ได้ผลกับคนอื่น


Design การออกแบบพฤติกรรม

คราวนี้มาพูดถึงส่วนการออกแบบพฤติกรรมกันนะครับ ซึ่งจะโฟกัสกับความสามารถ


(4) ขั้นตอนที่ 4 เริ่มจากสิ่งเล็กๆ

ตอนนี้เรามีพฤติกรรมที่คิดว่าจะมีผลกระทบสูงและสามารถทำได้แล้วนะครับ ก็ต้องออกแบบให้มันเล็กลงมากพอเพื่อที่จะลงมือทำได้ง่ายและสม่ำเสมอ

ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณเริ่มทำพฤติกรรมไม่ได้ คุณควรถามว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้พฤติกรรมนี้ทำได้ยาก?

ผู้เขียนเห็นว่ามันมี 5 ปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมทำได้ยาก เขาเรียกว่า Ability Chain หรือลูกโซ่ความสามารถ
(1) คุณมีเวลามากพอที่จะทำหรือเปล่า?
(2) คุณขาดเงินหรือทรัพยากรที่จะทำหรือเปล่า?
(3) คุณมีพละกำลังมากพอที่จะทำหรือเปล่า?
(4) คุณมีพลังงานด้านจิตใจมากพอที่จะทำหรือเปล่า?
(5) พฤติกรรมใหม่สามารถรวมกับกิจวัตรประจำวันหรือเปล่า หรือต้องเปลี่ยนแปลง?

เมื่อค้นพบปัญหาแล้ว ให้ลองคิดว่าคุณปรับปรุงความสามารถตัวเองให้ทำพฤติกรรมนั้นได้ไหม? คุณเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้ไหม? หรือคุณย่อการกระทำนั้นให้มันทำได้ง่ายที่สุดได้หรือไม่? สิ่งสุดท้ายนี้เป็นจุดโฟกัสของ Tiny Habits

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากวิดพื้นวันละ 100 ครั้ง ให้คุณลดจำนวนลงมาจนกว่าคุณคิดว่าคุณจะทำได้ หรือไม่คุณก็เริ่มจากวันละ 1-2 ครั้งก็พอ

ถ้าคุณทำได้มากกว่าเป้าหมายก็เป็นโบนัสไป แต่เป้าหมายคือพฤติกรรมจะต้องเล็กพอที่คุณจะทำได้ต่อไปเรื่อยๆ และไม่ขาดช่วง เพราะมันจะสามารถเติบโตไปอย่างที่คุณคาดไม่ถึง


(5) ขั้นตอนที่ 5 หาการแจ้งเตือนที่ดี

พฤติกรรมทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีการแจ้งเตือน

คุณสามารถผูกมัดพฤติกรรมเล็กๆกับการแจ้งเตือน ซึ่งจะมาจากตัวเอง จากสิ่งแวดล้อม หรือจากการกระทำ

ผู้เขียนเห็นว่าการแจ้งเตือนจากการกระทำจะดีที่สุด โดยเฉพาะกับสิ่งที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ Anchor Moment หรือนาทียึดติดที่เป็นลักษณะของ Tiny Habits ที่พูดไปตอนต้น
กุญแจสำคัญคือพฤติกรรมที่ต้องการจะทำ จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนาทียึดติดทันที

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างจากตัวเขาเอง เขาต้องการวิดพื้น เขาจึงบอกกับตัวเองว่าเขาจะวิดพื้น 2 ครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำและกดชักโครก

การแจ้งเตือนที่ดีจะต้องมีความชัดเจน ถ้ามันยังไม่เวิร์คก็ควรทดลองไปเรื่อยๆและหาอันที่เหมาะสม


Implementation การปฏิบัติ

ส่วนสุดท้ายที่จะพูดถึงนะครับ คือการปฏิบัติ ซึ่งจะโฟกัสกับความรู้สึก


(6) ขั้นตอนที่ 6 ฉลองความสำเร็จ

ถ้ากลับไปดูลักษณะของ Tiny Habits นะครับ จะเห็นได้ว่าการฉลองเป็นขั้นตอนสุดท้าย

การฉลองนั้นมีความสำคัญ เพราะเป็นการเชื่อมโยงพฤติกรรมกับความรู้สึกดีๆ แต่คนส่วนมากไม่รู้สึกอยากจะทำเพราะอาจจะเห็นว่ามันไร้สาระ ฉะนั้นก็ควรจะสร้างนิสัยในการฉลองด้วยเช่นกัน

การฉลองในที่นี้ไม่ได้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่นะครับ อาจจะเป็นการเคลื่อนไหว เป็นคำพูด เป็นเสียง หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้รู้สึกสดใสขึ้นมา

ในตัวอย่างตอนต้นนะครับ หลังจากที่ใช้ไหมขัดฟันแล้วการฉลองก็อาจจะเป็นแค่การยิ้มให้กับตัวเองในกระจกแค่นั้นก็ได้ครับ

ที่สำคัญคือมันจะต้องเป็นการฉลองที่จริงใจและต้องทำทันทีหลังจากทำพฤติกรรมนั้นเพื่อให้ความรู้สึกมันซึมซับ


(7) ขั้นตอนที่ 7 แก้ไข ทำซ้ำ และขยาย

ขั้นตอนสุดท้ายนี้เป็นการทดลองและปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ

ถ้าคุณรู้สึกว่าพฤติกรรมที่สร้างขึ้นมามันไม่เวิร์ค ก็กลับไปสร้างรายการพฤติกรรมใหม่ๆขึ้นมาเพื่อทดลองทำ หรืออาจจะย่อพฤติกรรมลงไปอีก หรือไม่ก็เปลี่ยนการแจ้งเตือน

ที่สำคัญคืออย่าคิดว่าเป็นความผิดของคุณ แต่ควรดูที่ระบบจะดีกว่า

เมื่อคุณทำได้ไปเรื่อยๆและรู้สึกว่าสามารถทำได้มากขึ้น หรือเพิ่มจำนวนพฤติกรรมได้อีก ก็ควรจะทดลองทำ

อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญนะครับ ขั้นตอนทั้งหมดที่พูดมา เป็นการฝึกให้คุณสร้างและเปลี่ยนแปลงตัวคุณเอง ถ้าคุณทำบ่อยขึ้นก็จะเป็นนิสัยอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณอาจจะเปลี่ยนทัศนคติและสร้างการเติบโตได้อย่างที่คุณคาดไม่ถึง


กำจัดพฤติกรรมที่แย่

ขั้นตอนทั้งหมดที่พูดมานะครับเป็นการสร้างพฤติกรรมใหม่
แต่ถ้าคุณมีพฤติกรรมแย่ๆที่ต้องการจะกำจัดก็สามารถใช้แนวคิดแบบเดียวกันได้ แต่ควรจะทำทีละนิดทีละหน่อย และมองให้เหมือนเป็นการแก้มัดเชือก

อย่างที่บอกนะครับ พื้นฐานของทุกๆพฤติกรรม คือแรงจูงใจ ความสามารถ และการแจ้งเตือน
คุณควรลองคิดว่าคุณสามารถลดระดับแต่ละองค์ประกอบนี้ได้หรือไม่?
ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณไม่อยากใช้โทรศัพท์ในห้องนอน คุณก็นำมันไปชาร์จในห้องครัวก่อนเข้านอนเพราะมันจะทำให้ความสามารถลดลง

คุณควรสร้างรายการพฤติกรรมที่ไม่ดี และควรโฟกัสกับสิ่งที่หยุดทำได้ง่ายที่สุดก่อน
เมื่อหยุดทำพฤติกรรมแรกได้สำเร็จ ก็หยุดทำสิ่งต่อไปและต่อไปเรื่อยๆ
มันสำคัญมากที่จะต้องใช้การทดลอง และอย่าโทษตัวเอง คุณแค่ต้องหาสิ่งที่ทำได้ง่ายลงไปอีกเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมนั้น


ขั้นตอนทั้งหมดที่พูดมา ก็สามารถนำไปใช้ในการช่วยคนอื่นให้เปลี่ยนแปลง หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่ม

สิ่งสำคัญ คือจะต้องช่วยให้คนอื่นทำในสิ่งที่เขาต้องการทำอยู่แล้ว และจะต้องช่วยให้คนอื่นรู้สึกประสบความสำเร็จ


ท้ายสุด

ท้ายสุดนะครับ การเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นกับเรา หรือที่เราช่วยคนอื่น มันเปรียบเสมือนคลื่นที่ระลอกออกไป และเราไม่รู้ว่ามันจะมีผลกระทบมากขนาดไหน
ปัญหาระดับโลกหลายๆอย่างที่สังคมเราจะต้องเผชิญหน้า อาจจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เราทุกคนทำได้ในตอนนี้

หนังสือก็ยังลงลึกในเรื่องบางส่วนที่ผมไม่ได้พูดถึงนะครับ
หากท่านใดสนใจอยากจะอ่านเวอร์ชันเต็ม สามารถสั่งซื้อได้ตามลิงค์ด้านล่างเลยนะครับ

ผมขอถามทุกคนนะครับ คุณมีนิสัยเล็กๆอะไรที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณบ้างครับ? มันคือนิสัยอะไรครับ? แล้วคุณสร้างนิสัยนี้ได้อย่างไรครับ?

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ


ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ


Pop (ป๊อป) BooksDD