[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]


เราทุกคนนะครับ มีความเสี่ยงในเรื่องบางเรื่องในชีวิต และไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรเราก็ต้องแบกรับมันไว้
แต่บ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน คนที่ได้รางวัลและผลกระทบจากความเสี่ยง กลับไม่ใช่กลุ่มเดียวกันจึงทำให้เกิดปัญหา
หนังสือเล่มนี้จะเล่าเกี่ยวกับความไม่สมดุลในหลายๆด้านของสังคมที่เราอาจจะมองไม่เห็น

รีวิวหนังสือ Skin In The Game: Hidden Asymmetries in Daily Life

คำว่า Skin In The Game แปลตรงๆคือ “ผิวหนังในเกม” แต่อันที่จริงเป็นการเปรียบเทียบถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
Hidden Asymmetries in Daily Life คือ “ความไม่สมดุลที่แอบแฝงในชีวิตประจำวัน

เล่มนี้เขียนโดย Nassim Nicholas Taleb ผมเคยสรุปหนังสือของเขาไปแล้ว 3 เล่ม (Fooled By Randomness, The Black Swan, Antifragile) ผมแนะนำให้ไปชม 3 คลิปนี้ก่อนนะครับ

คุณ Nassim เป็นนักเขียนที่ผมอ่านหนังสือของเขามากที่สุดนะครับ และต้องบอกว่าหนังสือของเขาอ่านยาก แต่ผมเห็นว่าเขาให้ข้อคิดที่ดีมากๆเกี่ยวกับความเสี่ยง การดำรงชีวิต และระบบสังคม


Skin In The Game คืออะไร?

ผู้เขียนได้เสนอว่า “skin in the game” ซึ่งผมจะขอใช้คำว่า “การมีส่วนได้ส่วนเสีย” เพื่อสื่อถึงแนวคิดนี้นะครับ มันเป็นกลไกที่มีความจำเป็นในการสร้างความยุติธรรม, การสร้างประสิทธิภาพด้านธุรกิจ, การบริหารความเสี่ยง และการทำความเข้าใจในระบบสังคม
โดยพื้นฐานแล้วมันหมายถึงการที่คนเรามีอะไรที่จะต้องสูญเสียได้ในเรื่องๆนั้น ซึ่งทำให้ต้องมีความรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง และจะต้องได้ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี

นอกจากนั้นแล้วมันยังเป็นการคัดกรองที่ดีในการพิจารณาข้อมูล, การกระทำ, และคำแนะนำ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่เป็นผู้นำ นักวิชาการ หรือคนที่ความเห็นมีน้ำหนักในสังคม
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนแนะนำ หรือตัดสินอะไรที่มีผลกระทบกับคนอื่น แต่พวกเขาไม่มีอะไรที่ต้องเสียด้วย คือไม่ได้ทำตามที่ตัวเองพูด หรือไม่ได้ถูกกระทบกับความผิดพลาด ก็ทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือ

การมีส่วนได้ส่วนเสียจะครอบคลุม 4 หัวข้อ
(1) ความไม่แน่นอนและความไม่น่าเชื่อถือด้านวิชาการที่เน้นแต่ทฤษฎี
(2) การบิดเบือนความสมดุลในความเสี่ยงและผลลัพธ์ที่ได้
(3) ระดับข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมระหว่างคนสองฝ่าย
(4) ความสมเหตุสมผลที่แท้จริงที่ไม่ได้มาจากที่นักวิชาการเสนอเท่านั้น

ความไม่สมดุลในหลายๆด้านของสังคมที่จะพูดถึง ก็จะครอบคลุมถึงหัวข้อเหล่านี้ และปัจจัยเบื้องลึกคือการมีส่วนได้ส่วนเสีย


ความเสี่ยงและผลลัพธ์ที่ไม่สมดุล

ประมาณ 1800 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักร Babylon มีกษัตริย์นามว่า Hammurabi
เขาได้ร่างกฎหมายที่เรียกว่า Code of Hammurabi ซึ่งเป็นกฎหมาย 282 ข้อที่ถูกจารึกบนแท่นที่วางไว้อยู่ในที่สาธารณะ และประชากรทุกคนสามารถเห็นได้
แนวคิดหลักของกฎหมาย คือการมีความสมดุลในการปฏิบัติระหว่างกันและกัน

ถ้าจะให้สรุปง่ายๆ คือกฎหมายมีลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนรับจ้างสร้างบ้าน และเกิดมีการทำผิดพลาดทำให้บ้านถล่ม และเจ้าของบ้านเสียชีวิต คนสร้างบ้านคนนั้นก็ต้องถูกประหารชีวิต

แน่นอนว่าในปัจจุบันไม่ค่อยมีกฎหมายแบบนี้แล้ว แต่ในหลายๆวัฒนธรรม ก็ยังมีจะมีกฎในสังคมที่คล้ายๆกัน ก็คือควรปฏิบัติกับคนอื่นอย่างที่เราต้องการถูกปฏิบัติ
แต่ผู้เขียนเห็นว่ากฎที่ดีกว่าควรจะเป็นตรงข้าม คืออย่าปฏิบัติกับคนอื่นในสิ่งที่เราไม่อยากถูกปฏิบัติด้วย ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้คนเรามีความระมัดระวังกับการกระทำของตัวเอง

ความสมดุลที่เริ่มขาดหายในสังคมคือการแยกกันระหว่างส่วนได้และส่วนเสีย
ตัวอย่างที่ดีคือวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นก่อนหน้านั้น ธนาคารในสหรัฐได้ใช้ความเสี่ยงที่สูงเกินไป และพวกเขาก็ทำกำไรได้อย่างมหาศาล
แต่เมื่อเกิดวิกฤต รัฐบาลกลับต้องนำภาษีของประชาชนไปช่วยเหลือ ซึ่งจริงๆแล้วประชาชนที่ประสบความยากลำบากควรจะได้รับความช่วยเหลือมากกว่า
หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ไม่มีผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐแม้แต่คนเดียวที่ได้รับโทษ

การโยกย้ายผลกระทบไปให้คนอื่น มันผิดด้านจรรยาบรรณอย่างมาก เพราะถ้าคนที่ทำผิดพลาดไม่ได้ผลกระทบเลย เขาก็คงไม่เรียนรู้หรือจะหยุดทำสิ่งที่เขาทำ ฉะนั้นผู้ที่ไม่รับความเสี่ยงก็ไม่ควรเป็นคนตัดสินใจ
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ระบบตลาดเสรีก็มีการแทรกแซง และแทนที่บริษัทที่ทำผิดพลาดจะต้องออกไปจากระบบ พวกเขากลับดำเนินต่อไปได้
การมีอะไรต้องเสีย และได้ผลกระทบจากการกระทำของตัวเอง จะทำให้ผู้ที่ต้องตัดสินใจมีความระมัดระวัง และจะทำให้ทั้งระบบเกิดการปรับปรุงและวิวัฒนาการ


ผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือไม่ได้

ผู้เขียนเห็นว่ากลุ่มคนที่แต่งตั้งตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่มักจะออกความเห็นและให้คำแนะนำในที่สาธารณะ ก็มีส่วนที่ทำให้เสียความสมดุลในสังคม

ต้องบอกตามตรงนะครับว่าเขามีอคติกับคนกลุ่มนี้อย่างมาก และในหนังสือก็ได้ระบุชื่ออย่างชัดเจน
เหตุผลหลัก คือเขาคิดว่าคนพวกนี้ไม่มีอะไรต้องเสียในเรื่องที่พวกเขาออกความเห็นเลย
ยกตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้สนับสนุนให้สหรัฐทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งผลลัพธ์ของการเข้าไปแทรกแซงในสองประเทศนี้เป็นระยะเวลานานคือการสร้างความวุ่นวายที่ทำให้มีปัญหาอื่นๆตามมา และทหารและพลเรือนจำนวนมากก็ได้เสียชีวิต และรัฐบาลก็ได้สูญเสียทรัพยากรอย่างมหาศาล
แต่คนที่ออกมาสนับสนุนก็ไม่ได้รับผลกระทบ แถมจะได้รับผลประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาได้รับเชิญให้ไปออกความเห็นอยู่ตลอด
ลองคิดดูนะครับ ถ้าพวกเขามีอะไรที่ต้องเสีย อย่างเช่นจะต้องส่งลูกหลานของตัวเองไปออกรบด้วย พวกเขาคงไม่เร่งสนับสนุนให้เกิดสงครามหรอกนะครับ

อีกหนึ่งกลุ่มที่ไม่มีอะไรต้องเสียคือที่ปรึกษาด้านธุรกิจ และนักวิชาการ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ และบริหาร
ผู้เขียนเห็นว่านักวิชาการจะเก่งในการร่างทฤษฎีที่ซับซ้อน แต่ความรู้ที่แท้จริงจะต้องมาจากการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริงด้วย
ยกตัวอย่างเช่น นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน ส่วนมากก็คงไม่เคยไปสัมผัสปัญหานั้นโดยตรง แล้วพวกเขาจะรู้ได้ยังไงว่าอะไรคือปัญหา และคนยากจนต้องการอะไร
สำหรับคนที่เป็นที่ปรึกษาก็เช่นกัน เพราะผลลัพธ์ของสิ่งที่เขาได้เสนออาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นว่ามันได้ผลหรือไม่ ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่ต้องรับผิดชอบถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่ดี

การที่คนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรต้องเสีย ทำให้พวกเขามีความมั่นใจและคิดว่าความคิดของเขานั้นถูกต้อง และก็นำเสนอแนวคิดของตัวเองต่อไปในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่าเราควรคิดอย่างไร เราต้องทำอะไร หรือเราควรใช้ชีวิตอย่างไร


ความไม่สมดุลด้านข้อมูล

ในสมัยโรมันโบราณนะครับ มีนิทานเรื่องนึงเล่าว่ามีชาวประมงได้จับเต่ามาทำเป็นอาหาร แต่เขาพบว่ามันทานไม่ได้ เขาจึงเชิญชายที่เดินผ่านมาเข้ามาทาน ซึ่งชายคนนี้เป็นเทพเจ้า Mercury (Hermes ในตำนานกรีก) ที่ปลอมตัวมาและเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง และเห็นว่าชาวประมงเชิญเขาเข้ามาทานเต่าเพื่อให้มันหมดๆไปเท่านั้น เทพเจ้าจึงบังคับให้ชาวประมงทานเต่าให้หมด

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนเราจะต้องรับประทานสิ่งที่เราเสนอให้คนอื่นรับประทาน
แต่จริงๆแล้วมันมีปัจจัยภายใต้ ก็คือคนเรามีข้อมูลไม่เท่าเทียมกัน และทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมขาดความสมดุล

ในชีวิตส่วนตัวของเรานะครับ จะมีคนที่มาแนะนำอะไรให้เราหลายอย่าง ซึ่งถ้าทำด้วยความห่วงใยก็ไม่เป็นไร
แต่บ่อยครั้งคนที่แนะนำอาจจะมีผลประโยชน์เบื้องหลังที่เราไม่รู้
ถ้าเป็นอาชีพโดยตรงก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกตัวอย่างเช่นคนที่เป็น agent ขายอสังหาที่ได้คอมมิชชั่น
แต่ถ้าแกล้งมาแนะนำ แต่มีจุดประสงค์อื่นที่แอบแฝงก็ควรระวัง

ในทางตรงข้าม คนที่มาแนะนำอาจจะไม่มีอะไรต้องเสียเลยก็เป็นได้ เพราะเขาอาจจะไม่ได้ผลกระทบถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่ดี
ในที่นี้ผู้เขียนแนะนำว่าควรเจาะจงไปที่การกระทำมากกว่าคำพูด
ถ้ามีใครมาแนะนำอะไร ก็ควรดูว่าเขาทำตามที่เขาพูดด้วยหรือเปล่า
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนมาแนะนำการลงทุน ก็ขอให้เขาโชว์พอร์ตลงทุนของตัวเองจะง่ายกว่า เพื่อที่คุณจะพิจารณาได้อย่างเหมาะสม


คนกลุ่มน้อยมีอำนาจเกินตัว

นอกเหนือจากคำว่า “skin in the game” แล้วนะครับ ยังมีอีกคำนึงก็คือ “soul in the game” หมายถึงการยกระดับการมีส่วนได้ส่วนเสียให้ไปเกี่ยวพันกับชีวิตจิตใจ
ตัวอย่างในอดีตก็จะเป็น อัศวิน นักบุญ นักปรัชญา ศาสดา และในปัจจุบันก็คือ นักปฏิวัติ คนเปิดโปงความทุจริต และผู้สร้างนวัตกรรม
ลักษณะของคนกลุ่มนี้ คือเขามีศักดิ์ศรีและจะไม่ทำผิดกับความเชื่อของตัวเอง พวกเขาเป็นคนที่ยอมเสียสละเพื่อคนอื่น และจะไม่ทนอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่และคอยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ยกตัวอย่างเช่น Dr Martin Luther King Jr ที่เป็นแกนนำในการสร้างความเท่าเทียมให้กับคนผิวสีในสหรัฐ ซึ่งท้ายสุดเขาก็ถูกลอบสังหาร
หรือในด้านธุรกิจก็คือ Steve Jobs ที่คอยผลักดันนวัตกรรมและจะไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ
กลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางจิตใจ เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยก็จริง แต่พวกเขาสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคมให้เกิดขึ้นได้

คราวนี้ลองมาพูดถึงเรื่องในชีวิตเรานะครับ
สมมุติว่าคุณกับเพื่อนอีก 5 คนนัดกันไปทานข้าว แต่มีเพื่อนคนเดียวที่ไม่ทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง คุณและเพื่อนทั้งหมดจะต้องวางแผนที่เอื้ออำนวยกับเพื่อนคนนั้น
นี่ทำให้เห็นว่าคนส่วนมากที่มีความยืดหยุ่นจะต้องยอมให้กับคนส่วนน้อยที่ไม่มี

เราก็เห็นความไม่สมดุลนี้ได้ในสังคม
เขาได้ยกตัวอย่างคนมุสลิมในอังกฤษที่มีอัตราประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ในประเทศ และจะทานแต่เนื้อฮาลาลได้เท่านั้น จึงทำให้เนื้อที่ขายในท้องตลาดจะเป็นเนื้อฮาลาลซะส่วนใหญ่
ตัวอย่างนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาอะไร เพราะในแง่ธุรกิจถ้ามันไม่คุ้มที่จะทำแบบนั้นเขาก็จะไม่ทำ

แต่ความไม่สมดุลแบบนี้ค่อนข้างจะอันตรายกับค่านิยมสำคัญในสังคม อย่างเช่นการแสดงออกอย่างเสรี
ลองคิดดูนะครับถ้ามีคนกลุ่มน้อยกลุ่มนึงที่มีความกระตือรือร้นและผลักดันไม่ให้เกิดการแสดงออกอย่างเสรี เราควรจะอนุญาตให้เขาเผยแพร่ไหม?

ในความคิดของผู้เขียน ถึงแม้ว่าในสังคมจะสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี แต่เราก็ไม่ควรอดทนกับความคิดที่ต่อต้านอิสรภาพนี้ เพราะไม่อย่างนั้นความไม่สมดุลจะเพิ่มขึ้น และอาจจะทำลายค่านิยมนี้ได้


ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และลูกจ้าง

ผู้เขียนยกย่องให้ผู้ประกอบการเป็นหนึ่งในวีรบุรุษในสังคม เพราะพวกเขากล้าเสี่ยงทั้งในด้านความคิดและทรัพยากร และพวกเขาจะได้ผลประโยชน์หรือผลกระทบโดยตรง ซึ่งเรียกว่ามีความสมดุล
แต่เขาคิดว่าก็ยังมีผู้ประกอบการจอมปลอม ที่เน้นการใช้กลไกในระบบการเงินเพื่อสร้างบริษัท และมีจุดประสงค์อย่างเดียวคือขายบริษัทเพื่อทำกำไร ซึ่งไม่เรียกว่าเป็นการมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง
เมื่อไหร่ที่บริษัทเริ่มมีขนาดใหญ่ ก็จะขาดความสมดุลไปอีก เพราะผู้บริหารอาจไม่จำเป็นจะต้องสนใจผลลัพธ์ของบริษัทในระยะยาว เขาแค่ต้องทำผลงานให้ดีในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งก็พอ เพราะถ้ามีปัญหาในอนาคตเขาก็ไม่ต้องรับผลกระทบ

ในด้านลักษณะการจ้างงาน ก็จะมาใน 2 รูปแบบ พนักงานประจำหรือฟรีแลนซ์
ผู้เขียนเห็นว่าบริษัทชอบที่จะมีพนักงานมากกว่า เพราะฟรีแลนซ์สามารถที่จะยกเลิกงานกับองค์กรได้ และถึงแม้ว่าจะฟ้องร้องได้แต่ก็คงต้องเสียเวลา แต่ถ้าเป็นพนักงานประจำ เขาจะต้องเข้างานทุกวันและส่งงานตามที่กำหนด
เหตุผลหลักที่พนักงานทำตามคือพวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งอาจจะเกิดจากวัฒนธรรมภายในองค์กร การมีเครื่องแต่งกายที่เหมือนกัน หรือการใช้คำศัพท์แบบเดียวกัน
ทั้งหมดจะสร้างเอกลักษณ์ให้กับพนักงาน และอาจจะไม่กล้าที่จะเสียมันไป

คำถามคือเราควรจะเป็นพนักงาน หรือเป็นฟรีแลนซ์ดีล่ะครับ?
การเป็นพนักงานในองค์กรใหญ่ อาจจะทำให้รู้สึกปลอดภัยถึงแม้จะไม่ค่อยมีอิสรภาพ แต่เมื่อไหร่ที่เกิดปัญหาก็อาจจะถูกปลดออก
ในทางตรงข้าม การเป็นฟรีแลนซ์หรือทำธุรกิจ ก็ดูเหมือนจะมีอิสรภาพมากกว่า แต่มันก็นำมาซึ่งความเสี่ยง

ในความคิดของผู้เขียน การมีความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะถึงแม้ว่าจะประสบความผิดพลาดอยู่บ้าง แต่มันจะโชว์ถึงการลงมือทำ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าเรากล้ามีส่วนได้ส่วนเสีย


ความสมเหตุสมผล ความอยู่รอด และความเสี่ยง

การมีส่วนได้ส่วนเสียก็เป็นปัจจัยเบื้องลึกเกี่ยวกับความสมเหตุสมผล (rationality)
เมื่อพูดถึงความไม่สมเหตุสมผล (irrationality) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา ก็จะมีคนพยายามอธิบายสิ่งนี้โดยใช้หลักวิชาการ
แต่ผู้เขียนเห็นว่าถ้าใช้แนวคิดนี้ จะเป็นการตัดสินว่าถูกหรือผิดอย่างเดียว ซึ่งในโลกแห่งความจริง ความเชื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการกระทำอะไรสักอย่างด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น บางศาสนามีการห้ามทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง และอาจจะฟังดูไม่สมเหตุสมผล แต่ในอดีตจุดประสงค์ของมันคือการหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สะอาด ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้คนอยู่รอดมาได้
การมีอะไรที่จะเสียทำให้เราต้องการจะอยู่รอดให้มากที่สุด และอะไรก็ตามที่ช่วยในด้านนี้หรือทำให้เกิดประโยชน์ ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

คราวนี้มาพูดในด้านความเสี่ยงกันบ้างนะครับ
ในโลกแห่งความจริง ความพังพินาศนั้นมีความเป็นไปได้และเราควรหลีกเลี่ยงมัน
แต่ผู้เขียนเห็นว่ายังมีความเข้าใจผิดในด้านนี้ และนำไปสู่คำแนะนำที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในด้านการลงทุน เพราะส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นฐานขั้นตอนสถิติและผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวของตลาด
เขาได้เปรียบเทียบตัวอย่างคนจำนวนมากที่เข้าไปเล่นการพนันแค่วันเดียว การที่คนใดคนหนึ่งจะหมดตัว จะไม่กระทบกับทั้งกลุ่ม
ในทางตรงข้าม ถ้ามีคนๆเดียวเข้าไปเล่นการพนันทุกวันทุกวัน ถ้าเขามีจำนวนเงินจำกัด และความได้เปรียบของบ่อนนั้นคงที่ ก็จะมีสักวันที่เขาเล่นหมดตัว และก็จะไปต่อไม่ได้
ถ้ามองในด้านการลงทุน มันไม่เป็นประโยชน์อะไรถ้าได้ผลตอบแทนที่ดีมาตลอด แต่ประสบกับความพังพินาศเพียงครั้งเดียวและหวนกลับไม่ได้
นี่ทำให้เห็นว่าหลักการสถิติที่ใช้กับภาพรวม อาจจะนำไปใช้กับเหตุการณ์หรือช่วงเวลาเดียวไม่ได้ และการบริหารความเสี่ยงโดยใช้วิธีการแบบเดิมๆอาจจะไม่เป็นประโยชน์

ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลหลักที่นักวิชาการส่วนมากไม่เห็นข้อนี้ เป็นเพราะพวกเขาใส่ใจแต่ทฤษฎี และไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
และพวกเขายังเห็นว่าการที่ไปใส่ใจกับเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก มันไม่สมเหตุสมผล
แต่ความเป็นจริงแล้วการหลีกเลี่ยงความพังพินาศ เป็นการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด และมันไม่มีคำว่าไม่สมเหตุสมผล ตราบใดที่สิ่งนั้นทำให้อยู่รอดต่อไป


ท้ายสุด

ท้ายสุดนะครับ ความไม่สมดุลมันแอบแฝงอยู่ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านข้อมูลและความเสี่ยง ซึ่งมันจะกำหนดการกระทำของคนเรา ฉะนั้นในแต่ละสถานการณ์ เราควรจะพยายามค้นหาส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่เบื้องลึก เพื่อที่จะมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและในสังคมอย่างเหมาะสม

ในหนังสือยังมีแนวคิดอีกเยอะมากนะครับ และผมก็ชอบแนวคิดของเขาเพราะมันสวนทางกับความคิดหลายอย่างที่เป็นที่ยอมรับ
หากท่านใดสนใจอยากจะอ่านเวอร์ชันเต็ม สามารถสั่งซื้อได้ตามลิงค์ด้านล่างเลยนะครับ


ผมขอถามทุกคนนะครับ คุณคิดว่าการมีส่วนได้ส่วนเสียมีความจำเป็นในสังคมหรือไม่ครับ? คุณเห็นว่ายังมีด้านไหนในสังคมที่ขาดความสมดุลหรือเปล่าครับ?

ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ


ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ


Pop (ป๊อป) BooksDD