[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]
ในสมัยนี้นะครับมีคนจำนวนมากที่พยายามสร้างผลงานไม่ว่าจะในด้านไหนก็ตาม
แต่ปัญหาก็คือ ในท่ามกลางผลงานจำนวนมาก มันยากนักที่จะมีคนมองเห็นผลงานของเรา
หนังสือเล่มนี้จะพูดถึง 10 คำแนะนำในการแบ่งปันผลงานของคุณ เพื่อที่คุณจะถูกค้นพบได้
รีวิวหนังสือ Show Your Work “มีของดีต้องให้คนอื่นขโมย“
เล่มนี้เขียนโดย Austin Kleon ผมเคยรีวิวหนังสือของเขาไปแล้ว 1 เล่มนะครับ ชื่อว่า Steal Like An Artist “ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน” ผมแนะนำให้ไปชมคลิปด้วยนะครับ
นี่เป็นคลิปที่ 100 ของช่อง BooksDD นะครับ และผมก็คิดว่าเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจจะสร้างผลงานออนไลน์
แนวคิดใหม่ในการดำเนินการ
ผู้เขียนอธิบายตัวเขาเองว่าเป็นนักเขียนที่วาดรูป
บ่อยครั้งจะมีคนมาถามเขาว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ผลงานของตัวเองได้ถูกค้นพบ
มีคำแนะนำที่ว่าควรโฟกัสกับผลงานตัวเองเพื่อที่คนอื่นจะปฏิเสธผลงานที่ยอดเยี่ยมไม่ได้
แต่ผู้เขียนคิดว่าคนเราควรสร้างลักษณะให้คนอื่นค้นพบได้ด้วย ฉะนั้นมันสำคัญอย่างมากสำหรับคนที่กำลังสร้างผลงานในการแบ่งปันเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับว่ากำลังทำผลงานอะไรอยู่ อาจจะเกี่ยวกับแนวคิด หรือขั้นตอนการทำงาน ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างเครือข่ายในอีกรูปแบบนึงเพื่อที่จะช่วยให้คุณพัฒนาต่อไปได้
ผู้เขียนได้เสนอ 10 คำแนะนำด้วยกันนะครับ มาฟังแต่ละข้อกันเลยครับ
คุณไม่ต้องเป็นอัจฉริยะ
เราคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับยอดอัจฉริยะที่สันโดษ ที่ดูเหมือนจะมีแรงบันดาลใจอย่างไม่สิ้นสุด และมีความมุ่งมั่นสูงในการสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมที่ทุกคนยอมรับ
แต่ปัญหาของเรื่องราวแบบนี้ คือการไม่คำนึงถึงคนเบื้องหลังอีกจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการทำให้ผลงานนั้นเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ร่วมงาน อาจารย์ หรือใครก็ตามที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนคนนั้น
คำแนะนำแรกที่ต้องคำนึงถึงนะครับ คือความคิดสร้างสรรค์เป็นการทำร่วมกัน
คำแนะนำนี้ เป็นการเสนอว่าความคิดสร้างสรรค์จะมาจากกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ผู้สร้างทฤษฎี นักคิดค้น หรือบุคคลสร้างสรรค์อื่นๆ ซึ่งรวมกันเรียกว่า ecology of talent “ระบบนิเวศของพรสวรรค์“
ถ้าไปสืบสวนเบื้องหลังของอัจฉริยะทั้งหลาย ก็จะค้นพบกลุ่มคนเหล่านี้
ไม่ได้กำลังลดระดับผลงานของอัจฉริยะนะครับ แค่บอกว่ามันมีการร่วมงานกันมากกว่าที่ถูกเสนอมา
เมื่อมีแนวคิดแบบนี้ ทำให้เห็นว่าเราทุกคนไม่จำเป็นจะต้องเป็นอัจฉริยะ
มันไม่เกี่ยวว่าคุณจะมีความสามารถขนาดไหน ที่สำคัญกว่าคือคุณมีอะไรที่แบ่งปันได้ ซึ่งไม่แน่ว่าความคิดของคุณจะเป็นสิ่งช่วยให้แนวคิดรวมถูกผลักดันและพัฒนา
ในโลกอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนแบ่งปันทุกอย่างได้ การเป็นมือสมัครเล่นอาจจะได้เปรียบกว่า เพราะมีความกระตือรือร้นและไม่มีอะไรต้องเสีย และจะเปิดรับความคิดใหม่ๆได้ง่ายกว่า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ฉะนั้นคุณควรมีแนวคิดแบบมือสมัครเล่น และหากลุ่มที่คุณสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม และดูว่ามีอะไรที่คุณช่วยได้ไหม เพื่อที่คุณจะค้นพบทิศทางและสร้างเสียงให้กับตัวเอง
คิดถึงกระบวนการ ไม่ใช่ผลงาน
โดยทั่วไปแล้วนะครับ ศิลปินถูกฝึกให้มองขั้นตอนสร้างสรรค์ให้เป็นเรื่องส่วนตัว
เขาจะไม่ค่อยแบ่งปันเคล็ดลับซักเท่าไหร่ และจะเปิดเผยตอนที่ผลงานเสร็จแล้วเท่านั้น และจะแยกแยะระหว่างผลงานและขั้นตอนอย่างชัดเจน
แนวคิดนี้สมเหตุสมผลในก่อนยุคดิจิตอล เพราะตอนนั้นศิลปินจะเชื่อมโยงกับผู้ชมได้ช่วงเดียวคือตอนที่มาชมงานศิลปะ หรือไม่ก็ผ่านทางงานตีพิมพ์
แต่ในยุคอินเทอร์เน็ตศิลปินสามารถแบ่งปันอะไรก็ได้เมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่กำลังสร้างอยู่ หรือขั้นตอนใหม่ที่กำลังคิดค้น ซึ่งทำให้ผลงานและขั้นตอนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน
คำแนะนำที่ 2 คือคุณควรพัฒนาการจัดเก็บขั้นตอนงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึก ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ หรืออะไรก็ตาม เพื่อที่คุณจะสามารถแบ่งปันให้กับผู้ติดตาม ซึ่งมันจะมีส่วนช่วยให้คุณได้รับคำติชมที่จะช่วยให้พัฒนาได้ต่อไป
แชร์อะไรเล็กๆน้อยๆทุกวัน
ผู้เขียนเห็นว่าความสำเร็จข้ามคืนไม่มีอยู่จริง เพราะเบื้องหลังจะมีผลงานที่สร้างมาเป็นเวลานาน
ฉะนั้น คำแนะนำที่ 3 คือคุณควรแบ่งปันสิ่งเล็กๆน้อยๆทุกวัน โดยเฉพาะขั้นตอนสร้างสรรค์ที่พูดไปแล้ว
คุณไม่ต้องคำนึงว่าสิ่งที่คุณจะแบ่งปันจะต้องดีเยี่ยม เพราะคุณไม่รู้ว่าคนอื่นจะตอบรับอย่างไร และคุณอาจจะไม่รู้ว่าคุณมีของดีอยู่
ก่อนที่คุณจะแชร์อะไรควรคำนึงว่ามันเป็นประโยชน์หรือน่าสนใจหรือไม่
ถ้าใช่ก็แชร์ ถ้าไม่ก็ไม่ต้อง ถ้าไม่แน่ใจก็ทิ้งมันไว้สักพักนึงก่อน
หลังจากที่คุณแชร์อะไรไปจำนวนหนึ่ง ก็ควรจัดระเบียบให้เป็นโครงสร้าง เผื่อมันจะสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้
ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนได้นำข้อความ Twitter ของเขามาสร้างเป็น 1 บทของหนังสือ
แต่บางครั้งการแบ่งปันใน social media อาจจะจะไม่พอ เพราะไม่แน่ว่ามันอาจจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ฉะนั้นผู้เขียนแนะนำมีเว็บไซต์ของตัวเองด้วย
ข้อดีของการมีพื้นที่ของตัวเอง คือคุณจะทำอะไรกับมันก็ได้
ไม่ว่าคนเข้ามาชมหรือไม่ คุณก็สร้างมันไปเรื่อยๆ จนกว่าพวกเขาจะเข้ามา
เปิดแหล่งเก็บความอยากรู้อยากเห็น
ในศตวรรษที่ 16 และ 17 นะครับ คนร่ำรวยในทวีปยุโรปมักจะสะสมของที่เขาสนใจและหายาก (Wunderkammer) ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เครื่องประดับ งานศิลปะ งานวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม และก็จะโชว์ให้กับแขก
ในปัจจุบัน เราทุกคนก็มีการสะสมของที่เราสนใจด้วยเช่นกัน
อาจจะไม่ใช่ของที่จับต้องได้เสมอไป แต่อาจจะเป็นความคิด สิ่งที่เราติดตาม หรืออะไรก็ตามที่สร้างแรงบันดาลใจให้เรา
คำแนะนำที่ 4 นะครับ คือเราควรแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้คนอื่นได้รับรู้ เพื่อที่เขาจะได้รับรู้ว่าคุณเป็นคนอย่างไร และมันอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าตัวผลงาน และดึงดูดประเภทคนที่คุณต้องการ
จริงๆแล้วการสะสมและการสร้าง เป็น 2 ด้านในสิ่งเดียวกัน
สิ่งของและความคิดที่เราได้สะสมหรือรับรู้จากโลกภายนอก มันมีอิทธิพลกับสิ่งที่เราสร้างออกไป และสิ่งที่เราสร้างก็มีอิทธิพลกับสิ่งที่เราสะสมด้วยเช่นกัน
คุณจะสะสมของหรือความคิดอะไรไม่ต้องคำนึงว่ามันมีรสนิยมหรือไม่ เพราะแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน
เขายกตัวอย่างพนักงานเก็บขยะที่เมืองนิวยอร์กนามว่า Nelson Molina ที่ได้สะสมงานศิลปะและสิ่งของที่ถูกทอดทิ้ง และนำมาเปิดพิพิธภัณฑ์
ถ้าใช้แนวคิดแบบเดียวกัน เราสามารถสร้างความสร้างสรรค์โดยการพิจารณาสิ่งที่คนอื่นทอดทิ้งโดยใช้มุมมองของคุณเองหรือในมุมมองใหม่ๆ
ในการแบ่งปันสิ่งที่ไม่ใช่ของคุณเอง ก็ควรให้เครดิตอย่างถูกต้องกับเจ้าของเพื่อเป็นการสนับสนุนผลงาน และให้คนอื่นเรียนรู้ได้เพิ่มเติม
เล่าเรื่องราวดีๆ
ให้ไปลองจินตนาการนะครับว่าคุณพบ 2 ภาพวาดที่ทุกอย่างเหมือนกันหมด
หลังจากศึกษาเพิ่มเติมคุณพบว่าภาพวาดแรกถูกวาดโดยจิตรกรชาวเนเธอร์แลนด์ในศตวรรษที่ 17 และภาพวาดที่ 2 เป็นภาพที่ถูกคัดลอกมา
เมื่อรู้แบบนี้คุณจะให้ค่ากับภาพวาดไหนมากกว่ากันครับ?
มุมมองของคนเรานะครับ จะถูกปรับเปลี่ยนตามข้อมูลที่เรารู้เกี่ยวกับสิ่งๆนั้น
ศิลปินบางคนคิดว่าผลงานจะสร้างอิทธิพลได้ด้วยตัวมันเอง แต่ความเป็นจริงแล้วคำพูดและเรื่องราวที่สร้างให้กับผลงาน ก็มีความสำคัญอย่างมาก
คำแนะนำที่ 5 คือคุณควรเรียนรู้การสร้างเรื่องราวดีๆให้กับผลงาน
จริงๆแล้วเราสร้างเรื่องราวให้ผลงานโดยที่ไม่รู้ตัว
เพราะไม่ว่าอะไรที่คุณคิด ที่คุณพูด หรือที่คุณเห็น ที่เกี่ยวกับผลงาน คุณนำมารวมกันให้เป็นเรื่องราวได้
แต่ผู้เขียนแนะนำว่าโครงสร้างที่ดี ควรเริ่มจากบอกว่าปัญหาคืออะไร คุณพยายามแก้ไขปัญหาอย่างไร และผลลัพธ์ออกมาอย่างไร
ซึ่งจริงๆแล้วโครงสร้างนี้ยังนำไปใช้ในด้านการนำเสนอได้อีกด้วย
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการสร้างเรื่องราวให้กับตัวเอง
เมื่อพบปะกับคนอื่น คุณควรจะอธิบายได้ว่าคุณทำงานอะไรหรือกำลังสร้างผลงานอะไร ได้อย่างชัดเจน อย่างถ่อมตน และอย่างตรงไปตรงมา
สอนสิ่งที่คุณรู้
เมื่อพูดถึงเรื่องราวนะครับ ในปี 2010 ผู้เขียนได้ไปร้านบาร์บีคิวเล็กๆชื่อว่า Franklin Barbeque
3 ปีให้หลัง ร้านนี้กลายเป็นร้านที่โด่งดังและมีคิวยาวทุกวัน
ในช่วงนั้นเจ้าของร้านก็ได้ร่วมมือกับองค์กรสื่อ และสร้าง video series เพื่อสอนเคล็ดลับการทำบาร์บีคิว และก็ได้เสียงตอบรับอย่างดี
คำแนะนำที่ 6 นะครับ ยิ่งคุณแบ่งปันความรู้หรือสอนคนอื่นยิ่งทำให้คุณเรียนรู้เพิ่มขึ้นได้
คนเรากลัวการสอนคนอื่นเพราะคิดว่าจะทำให้มีการแข่งขัน
แต่ถึงแม้ว่าเราจะได้รับข้อมูลแต่มันก็ต้องใช้เวลานานในการฝึกฝนให้ชำนาญ
เจ้าของร้านบาร์บีคิวก็พูดแบบเดียวกัน เขาบอกว่าเคล็ดลับการทำบาร์บีคิวมันไม่ยาก ที่ยากคือการสร้างความชำนาญให้กับเทคนิค
การแบ่งปันความรู้จะช่วยให้เกิดความสนใจในผลงานของคุณ และทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่าเป็นมนุษย์สแปม
เมื่อพูดด้านการเรียนรู้นะครับ ในบางครั้งเราก็ควรจะอยู่นิ่งๆแล้วเปิดรับฟังคนอื่น
แต่ความเป็นจริงแล้วคนบางคน ชอบที่จะเสนอความคิดของตัวเองมากเกินไป และจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ความสนใจ และจะไม่สนใจสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง
อย่างที่บอกไปแล้วนะครับ งานสร้างสรรค์ที่แท้จริงคือการร่วมงานกัน และถ้าคุณต้องการเป็นที่ยอมรับ คุณก็ต้องเคารพความคิดของคนอื่นๆด้วย
คำแนะนำที่ 7 นะครับ อย่าเป็นมนุษย์สแปม
เมื่อคุณเปิดรับและใช้การพิจารณาอย่างเหมาะสมในการมีปฏิสัมพันธ์ คุณไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับจำนวนผู้ติดตาม และจะเริ่มได้ผู้ติดตามประเภทที่คุณต้องการ อาจจะเป็นความเชื่อมโยงอย่างจริงใจ มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และที่คุณสามารถสร้างความเป็นมิตรและอาจจะร่วมมือกันได้ในอนาคต
และท้ายสุดถ้าคุณเห็นว่ามีคนประเภทที่ดึงดูดพลังงานของคุณ และทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ก็ควรลดการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย
เรียนรู้วิธีรับคำติชม
เมื่อคุณนำผลงานเข้าไปในที่สาธารณะ คุณก็อาจจะต้องเผชิญหน้ากับความคิดเห็นหลายๆอย่าง
คำแนะนำที่ 8 คือคุณจะต้องเรียนรู้วิธีรับมือกับคำติชม
(1) คุณจะต้องเข้าใจว่าคำติชมไม่ใช่หมายถึงจุดจบ และไม่มีใครได้รับความบาดเจ็บจากคำติชม ฉะนั้นควรใจเย็นๆ
(2) และยิ่งคุณออกผลงานมาเยอะๆ และได้คำชมเยอะๆ ก็จะมีความเคยชินกับมัน
(3) ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมคำติชมได้ ก็ให้มันเป็นโอกาสในการสร้างผลงานใหม่ คุณอาจจะทำสิ่งที่คนอื่นไม่ชอบต่อไปหรือทำสิ่งตรงข้าม
(4) ถ้ามีบางเรื่องที่คุณคิดว่ามันอ่อนโยนเกินไปก็ไม่ควรเปิดเผย
(5) คุณจะต้องเข้าใจให้ได้ว่า งานเป็นสิ่งที่คุณทำ ไม่ใช่สิ่งที่คุณเป็น มันอาจจะยากสำหรับบางคน แต่ปัจจัยอื่นอย่างเช่นครอบครัวและเพื่อนฝูงก็มีความสำคัญกับตัวคุณด้วย
(6) สิ่งสุดท้ายคือคุณต้องแยกแยะให้ได้ว่าคนที่ติชมคือใคร ถ้าเป็นคนที่อยากให้คุณสำเร็จจริงๆก็ควรรับฟัง ถ้ามาติชมเพื่อความมันก็ไม่ควรสนใจหรือบล็อกไปเลย
เปิดรับผลประโยชน์
คนบางคนต่อต้านการได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากผลงานสร้างสรรค์ และอาจจะเห็นว่าคนพวกนี้เป็นพวกจอมปลอม
แต่ก่อนที่เราจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้ เราจะต้องอยู่รอดให้ได้ซะก่อน ซึ่งก็ต้องใช้เงิน
การมีภาพศิลปินที่ต้องดิ้นรนนั้นมันฟังดูโรแมนติก แต่มันไม่ถูกต้อง และการได้รับเงินไม่ได้หมายความว่าความคิดสร้างสรรค์จะถูกกระทบ
ตัวอย่างที่ดีคือ Michelangelo ที่วาดภาพบนเพดานโบสถ์ Sistine Chapel ซึ่งเขาได้รับค่าจ้างจากพระสันตะปาปานะครับ
คำแนะนำที่ 9 คือ การได้ผลประโยชน์จากผลงานไม่ใช่สิ่งที่ผิด
เมื่อคุณเริ่มจะมีคนติดตามเพิ่มขึ้น คุณก็อาจจะขอการสนับสนุนจากผู้ติดตามโดยตรง แต่คุณต้องแน่ใจว่าคุณให้ประโยชน์กับพวกเขาด้วย
บางครั้งผลประโยชน์จะมาในรูปแบบโอกาสที่ให้ลองทำสิ่งใหม่ๆหรือขยายสิ่งที่เป็นอยู่ ก็ควรคว้ามันเอาไว้ด้วยเช่นกัน แต่ต้องแน่ใจด้วยว่ามันเป็นในด้านที่คุณต้องการทำด้วย ไม่ใช่เพราะเงินอย่างเดียว
และเมื่อคุณมีความมั่นคงในระดับนึงแล้ว คุณก็ควรหาหนทางในการช่วยคนอื่นด้วยเช่นกัน
ทำต่อไปเรื่อยๆ
ทุกๆเส้นทางชีวิตของคนเรานะครับ ก็จะมีขึ้นและลง และเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
คนที่ได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องการ ส่วนมากจะอยู่มาได้เป็นเวลานาน และมันสำคัญมากที่จะไม่ยอมแพ้เร็วเกินไป เพราะเราไม่รู้ว่าโอกาสอะไรจะมาอีก
นี่ก็คือคำแนะนำสุดท้ายนะครับ อยู่ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จจะมีความอดทนสูง และจะออกผลงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโมเมนตัม และจะไม่หยุดยั้งอย่างพลการ
เมื่อคุณสร้างผลงานเสร็จชิ้นนึง ก็ควรถามตัวเองว่าทำอะไรได้ดีขึ้นอีก แล้วก็เดินหน้าทำต่อไป
แต่บางครั้งการสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้เหนื่อยล้า ฉะนั้นก็ควรจะวางแผนการบริหารเวลาอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือการออกไปสัมผัสธรรมชาติ
ถ้าคุณมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะพักเป็นเวลานาน ก็ควรพิจารณาด้วยเช่นกัน
เมื่อคุณรู้สึกว่าคุณรู้ทุกอย่างในด้านด้านนั้นแล้ว มันก็ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนทิศทาง และหาสิ่งที่เรียนรู้ใหม่เพื่อให้ได้เดินหน้า และกลับไปเป็นมือสมัครเล่นอีกรอบ
นักแสดงตลกที่โด่งดังในอดีตนามว่า George Carlin ทุกๆปีเขาจะทิ้งมุกที่เขารวบรวมทั้งหมดเพื่อเริ่มใหม่
คุณจะต้องมีความกล้าในการทิ้งทุกอย่างที่เรียนรู้แล้วเริ่มใหม่ ซึ่งจริงๆแล้วมันก็ไม่ใช่เป็นการเริ่มใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะทุกอย่างที่คุณเรียนรู้มาก็ยังอยู่ในตัวคุณ
เมื่อคุณค้นพบสิ่งที่คุณอยากเรียนรู้ ก็อุทิศเวลาให้กับสิ่งๆนั้นและเปิดเผยให้กับผู้อื่น
คุณควรสร้างการวัดความคืบหน้าเพื่อให้คนอื่นได้เรียนรู้ไปพร้อมกับคุณ
การที่คุณเปิดเผยผลงานของตัวเอง อาจจะช่วยให้คนที่เหมาะสมเข้ามาเห็นผลงาน และเมื่อไหร่ที่เกิดขึ้น ก็ควรใส่ใจกับความคิดเห็นของเขา เพราะเขาก็อาจจะมีอะไรที่เปิดเผยให้คุณได้เรียนรู้ได้เช่นกัน
ท้ายสุด
สำหรับใครที่อยากจะสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ผมก็แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้นะครับ เล่มเล็กแล้วก็อ่านได้เร็วครับ
ผมขอถามทุกคนนะครับ คุณเคยแบ่งปันผลงานอะไรให้คนอื่นได้รับรู้บ้างไหมครับ? มันคือผลงานอะไรครับ? แล้วมันทำให้คุณพัฒนาได้อย่างไรครับ?
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ
Pop (ป๊อป) BooksDD
—