[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]
หนังสือ Lifespan: Why We Age and Why We Don’t Have To
แก่ช้า อายุยืน ทำไมเราจึงแก่ และทำอย่างไรจะไม่แก่
เล่มนี้เขียนโดย Dr David A Sinclair ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ และศาสตราจารย์ที่ Harvard Medical School และเป็นนักวิจัยที่อยู่ในแนวหน้าเกี่ยวกับการชะลอวัย
มนุษย์เราจำเป็นจะต้องแก่หรือไม่ครับ?
ถ้าบอกว่า มันเป็นไปได้ในอนาคต ที่จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะมีอายุ 120-150 ปีขึ้นไป คนส่วนมากก็คงไม่เชื่อ
วันนี้ผมจะเล่าเกี่ยวกับงานวิจัยล่าสุดที่พยายามผลักดันข้อจำกัดทางชีวภาพนี้อยู่
มันจะเป็นไปได้มากขนาดไหนครับ? มาฟังกันนะครับ
ลักษณะของการแก่ชรา
เฉลี่ยอายุขัยของมนุษย์เราเพิ่มขึ้นอย่างมากก็จริง แต่ขีดจำกัดของอายุขัยก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากขนาดนั้น และก็ใช่ว่าตอนปลายชีวิตคนเราจะอยู่อย่างสุขสบายเสมอไป เพราะอาจจะต้องรักษาการเจ็บไข้ได้ป่วย
นักวิทยาศาสตร์เห็นว่ามันมี 9 ลักษณะเด่นของการแก่ชรา เรียกว่า Hallmarks of Aging
(1) Genomic Instability ความไม่เสถียรในระดับพันธุกรรม
(2) Telomere Attrition ส่วนปลายของโครโมโซมหดสั้น
(3) Epigenetic Alteration ดีเอ็นเอเปลี่ยนสภาพ
(4) Loss of Proteostasis ระบบควบคุมโปรตีนเสื่อมสภาพ
(5) Deregulated Nutrient Sensing การตอบสนองต่อสารอาหารผิดเพี้ยน
(6) Mitochondrial Dysfunction เตาผลิตพลังงานเสื่อมสภาพ
(7) Cellular Senescence เซลล์แก่เพิ่มจำนวน
(8) Stem Cell Exhaustion สเต็มเซลล์สูญหาย
(9) Altered Intercellular Communication การสื่อสารระหว่างเซลล์ขัดข้อง
นักวิจัยก็เริ่มจะเห็นไปในทางเดียวกันว่า ถ้าแก้ไขแต่ละลักษณะได้ก็จะช่วยชะลอวัย และหยุดยั้งหยุดโรคร้าย
ทฤษฎีใหม่ของการชะลอวัย
Dr Sinclair เห็นว่าลักษณะของการชรามีต้นตอเดียวกัน คือ loss of information หรือการสูญเสียข้อมูลของเซลล์ และได้เสนอทฤษฎี Information Theory Of Aging
ข้อมูลทางชีวภาพแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
(1) ข้อมูล genetic ก็คือข้อมูล DNA ที่ประกอบไปด้วยอักษร A C G T ซึ่งเปรียบเสมือนข้อมูล digital และเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างจะแม่นยำ
(2) ข้อมูล epigenome เป็นขั้นตอนและโครงสร้างที่ควบคุมวิธีการรวบรวมและการอ่านข้อมูล genetic โดยเซลล์ของร่างกายเพื่อรับรู้หน้าที่ของมัน หรือเรียกว่า Genetic Expression
ข้อมูลนี้เปรียบเสมือนระบบ analog เพราะผิดพลาดได้ง่าย
เขาได้เสนอการแก่ชราในรูปแบบใหม่
เริ่มจาก ความเยาว์วัย
-> DNA ที่เสื่อมเสีย
-> ความไม่เสถียรทางจีโนม
-> การรบกวนทาง epigenome
-> เซลล์สูญเสียเอกลักษณ์
-> เซลล์แก่ตัว
-> โรคภัยไข้เจ็บ
-> เสียชีวิต
ถ้าเราแก้ไขในบางขั้นตอนหรือทุกๆขั้นตอน ก็อาจจะชะลอวัยหรือหยุดไปเลยก็เป็นไปได้
จะเห็นได้ว่าสิ่งแรกที่เกิดขึ้นในรูปแบบการชรา คือ DNA ที่เสื่อมเสีย
มนุษย์ได้วิวัฒนาการมาจากเซลล์ขั้นพื้นฐาน และพัฒนา survival circuit หรือวงจรความอยู่รอด ซึ่งเป็นการปกป้องและซ่อมแซม DNA จากแรงกดดันของสิ่งแวดล้อมภายนอก
ถ้าไม่มีวงจรนี้เราก็คงไม่อยู่รอดมาถึงปัจจุบัน
Epigenome มีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นตัวสื่อสารให้เริ่มการซ่อมแซม DNA แต่นั่นหมายความว่ามันต้องหยุดการกำหนดหน้าที่ของเซลล์อื่นๆระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของมัน
ถ้า DNA ไม่ต้องถูกซ่อมแซมบ่อยเกินไปก็โอเค แต่ปัญหาก็คือ DNA โดนโจมตีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดจากรังสีและสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า epigenetic noise คือการที่ epigenome ต้องหยุดหน้าที่หลักบ่อยเกินไป และเซลล์ก็ทำหน้าที่ผิดอยู่เรื่อยๆ จนทำให้เซลล์เสียเอกลักษณ์และนำไปสู่การชรา
Dr Sinclair เปรียบเทียบกับแผ่น DVD
ข้อมูล digital จะถูกบันทึกอยู่ในแผ่น DVD แต่ข้อมูล analog จะอยู่บนพื้นผิวของแผ่นซึ่งจะถูกขีดข่วนได้ และทำให้การอ่านของข้อมูลดิจิตอลยากขึ้น
ถ้าเราสามารถลบรอยข่วนได้ก็จะทำให้การอ่านข้อมูลได้ดีขึ้น
Dr Sinclair ได้ทดสอบทฤษฎีโดยการทำการทดลองกับหนู และสามารถทำให้หนูแก่เร็วมากกว่าปกติเกือบ 50% ได้สำเร็จ โดยทำการเปลี่ยนแปลงด้าน epigenome อย่างเดียว
ถ้ากระตุ้นการแก่ชราได้ หมายความว่าน่าจะชะลอหรือหยุดยั้งมันได้เช่นกัน
มันมีหลักฐานในธรรมชาติว่านี้เป็นไปได้
สิ่งมีชีวิตบางชนิดมีอายุขัยที่นานมากๆ และวงจรความอยู่รอดพวกมันก็ดำเนินได้โดยไม่ถูกรบกวน
ยกตัวอย่างเช่น ต้นไม้ Bristlecones มีอายุขัยมากกว่า 5000 ปี ปลาวาฬ Bowhead และปลาฉลาม Greenland มีอายุขัยมากกว่า 200 ปี
วงจรความอยู่รอดก็ได้วิวัฒนาการ และนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ longevity genes และ vitality genes ก็คือยีนที่มีผลกระทบกับการมีอายุยืนและทำให้มีชีวิตชีวา ซึ่งมี 3 ยีนที่สำคัญ
(1) Sirtuins จะช่วยควบคุมความสมบูรณ์ของเซลล์ และมีบทบาทในการส่งสัญญาณเพื่อให้ซ่อมแซม DNA
การกระตุ้นยีนนี้จะช่วยให้เกิดการซ่อมแซมที่มีประสิทธิภาพ
(2) AMPK (AMP-Activated Protein Kinase) มีหน้าที่ควบคุมความสมดุลของระบบเผาผลาญของร่างกาย
ยีนนี้จะถูกกระตุ้นเมื่อมีแรงกดดันด้านชีวภาพ
(3) mTOR (Mammalian Target of Rapamycin) ทำหน้าที่เป็นตัวรับสัญญาณสารอาหาร เพื่อควบคุมระดับพลังงานภายในเซลล์ไปในทิศทางที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต
การระงับยีนนี้จะช่วยให้ร่างกายเข้าสู่กระบวนการ autophagy เป็นการรีไซเคิลเซลล์เก่าๆให้มีชีวิตชีวา
ในเมื่อสิ่งมีชีวิตทุกประเภทมียีนอายุยืนแบบเดียวกัน ฉะนั้น มนุษย์ก็ควรมีอายุยืนได้เช่นกัน
ถึงแม้ว่ามันดูเหมือนจะเป็นไปได้ที่เราจะชะลอวัยได้อย่างมาก คำถามคือเราควรทำหรือไม่?
การแก่ชราคือโรคร้าย
ในปี 2010 นักวิทยาศาสตร์แนวหน้าด้านพันธุกรรมได้รวมตัวกัน และเสนอว่า โรคร้ายทั้งหลาย อย่างเช่นโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ เป็นเพียงแค่อาการของโรคร้ายที่แท้จริง นั้นก็คือการแก่ชรา
Dr Sinclair เห็นว่าไม่มีอะไรอันตรายมากกว่าความชรา เพราะการบาดเจ็บหรือโรคเล็กน้อยจะทำให้อาการทวีคูณ แต่เราก็ยอมรับและปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือเรา และการดูแลสุขภาพก็ไม่ได้เจาะจงไปที่ที่ถูกต้อง
การวิจัยด้านการแพทย์และการรักษาแบบปัจจุบันจะเน้นไปที่การรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเจาะจงไปที่แต่ละโรค ซึ่งเป็นความคิดแบบปลายน้ำ
ปัญหาคือการรักษาแค่โรคๆเดียว มันไม่ได้ลดโอกาสที่จะไปเป็นโรคอื่นได้ และบางครั้งการรักษาโรคนึง ก็อาจทำให้อีกโรคนึงแย่ลง
ประเทศสหรัฐใช้เงินจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาโรคหัวใจ
แต่เขาได้ประเมินว่า ถ้าหยุดยั้งโรคหัวใจได้ทั้งหมด เฉลี่ยอายุขัยของประชากรจะเพิ่มขึ้นแค่ 1.5 ปี และถ้าหยุดยั้งโรคมะเร็งได้ทุกประเภท ก็จะเพิ่มแค่ 2.5 ปี เท่านั้น
ฉะนั้น มันน่าจะคุ้มกว่าถ้าเราใช้ความคิดแบบต้นน้ำ และกำจัดปัญหาที่ต้นตอไปพร้อมๆกัน
ความแก่ชราก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกับโรคร้ายจำนวนมาก
ยกตัวอย่างเช่น คนอายุ 50 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 100 เท่า และอายุ 70 โอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 1000 เท่า
ในขณะที่การสูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาส 5 เท่า แต่ฝ่ายรัฐก็ใช้ทรัพยากรมากมายเพื่อรณรงค์ให้คนหยุดสูบบุหรี่
Dr Sinclair เห็นว่ามันไม่มีหลักฐานด้านชีวภาพว่าทำไมมนุษย์เราถึงต้องแก่ชรา
จุดประสงค์ของเขาไม่ได้แค่ต้องการจะผลักดันอายุขัยอย่างเดียว
แต่เป็นการเพิ่ม Healthspan ก็คือช่วงเวลาของชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี เพื่อที่เราจะมีพละกำลังในการทำกิจกรรมหลายๆอย่างในตอนที่อายุมากแล้ว ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเวลานาน
ลองคิดดูนะครับ ถ้าคุณยังออกไปเล่นกีฬา หรือออกไปสังสรรค์ได้ตอนที่คุณอายุมากแล้ว คุณจะไม่ต้องการอายุยืนไปเรื่อยๆเหรอครับ?
การแก่ชราก็เป็นสิ่งที่กระทบกับทุกๆคน และ Dr Sinclair เห็นว่าการต่อสู้กับมันเป็นเรื่องระดับโลกและเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และมันเป็นโรคร้ายที่รักษาได้
กลยุทธ์เบื้องต้นเพื่อชะลอวัย
กลยุทธ์ที่จะช่วยให้ชะลอวัยจะเกี่ยวข้องกับ 3 ยีนที่พูดไปแล้วก็คือ sirtuins และ AMPK ซึ่งเราต้องการกระตุ้น 2 ยีนนี้ และอันที่ 3 คือ mTOR ซึ่งเราต้องการระงับมัน
มี 4 กลยุทธ์ขั้นพื้นฐานที่จะทำ 3 สิ่งนี้ได้ก็คือ
(1) การอดอาหารแบบ Intermittent Fasting จะมีปฏิกิริยาทางฮอร์โมนที่จะปกป้องร่างกาย
(2) การออกกำลังกายประเภท HIIT (high intensity interval training) จะทำให้ส่วนปลายสายของโครโมโซมที่เรียกว่า Telomere มีลักษณะยาวขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการอายุยืน
(3) การใช้อุณหภูมิกระตุ้น โดยเฉพาะจากความเย็นสูง อย่างเช่น cryotherapy หรือการบำบัดจากความเย็น จะกระตุ้นยีนอายุยืนให้เริ่มทำงาน การใช้อุณหภูมิที่ร้อนมาก อย่างเช่นซาวน่าก็มีประโยชน์
(4) ลดทานเนื้อแดงและหันมาทานพืชผักให้เยอะขึ้น เนื้อแดงจะกระตุ้นยีน mTOR ซึ่งจะทำให้สร้างกล้ามเนื้อใหม่แทนที่จะ รีไซเคิลเซลล์ที่ตายแล้วมาใช้ใหม่
ทั้งหมดนี้จัดอยู่ในกระบวนการ Hormesis ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับร่างกายเพื่อให้มันสร้างการปกป้องและให้อยู่รอดได้ดีขึ้น
แต่ที่สำคัญคือไม่ควรสร้างแรงกดดันให้ร่างกายมากจนเกินไป และควรทำทุกๆกลยุทธ์ให้สอดคล้องกันเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด
ผมแนะนำให้ไปชมคลิป The Obesity Code ที่เกี่ยวกับการลดน้ำหนักและการอดอาหารด้วยนะครับ
อีกหนึ่งอย่างที่ควรทำ คือควรหยุดพฤติกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียให้ร่างกายโดยไม่จำเป็น อย่างเช่นการสูบบุหรี่
ยาชะลอวัย
นอกเหนือจากกลยุทธ์เบื้องต้นแล้ว ในปัจจุบันก็มีการใช้ compound หรือสารประกอบจากธรรมชาติมาทำเป็นยาที่ดูเหมือนจะช่วยชะลอวัยได้
ผมขอบอกก่อนนะครับว่านี่ไม่ใช่เป็นการแนะนำ และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมและปรึกษาแพทย์ก่อนนะครับ
(1) Rapamycin ที่ค้นพบบนเกาะ Easter Island เป็นยาที่ลดปฏิกิริยาด้านภูมิคุ้มกัน และใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อให้ร่างกายยอมรับอวัยวะใหม่
จากการทดลองกับหนูการใช้ยานี้ทำให้อายุเพิ่มขึ้น 9 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ในช่วงท้ายอายุขัย
(2) Metformin มาจากพืชที่ชื่อว่า galega เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด
จากการสำรวจผู้สูงอายุที่ทานยานี้เป็นเวลานานก็พบว่า อัตราโรคสมองเสื่อมลดลง 4% โรคซึมเศร้าลดลง 16% โรคหัวใจลดลง 19% โรคภาวะเปราะบางลดลง 20% และโรคมะเร็งลดลง 4%
(3) Resveratrol มาจากผิวขององุ่น เป็นยาที่กระตุ้นยีนอายุยืนในการทดลองกับหนู
แต่ยังไม่ค่อยมีผลสูงกับมนุษย์สักเท่าไหร่ และยังจะต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติม
(4) NAD (Nicotinamide Adenine Dinucleotide) เป็น coenzyme ที่อยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกๆประเภท และเพิ่มประสิทธิภาพของยีน sirtuins
ระดับของ NAD จะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
สารตั้งต้น (precursor) ของ NAD มี 2 อย่างเรียกว่า NR (Nicotinamide Riboside) และ NMN (Nicotinamide Mononucleotide) ซึ่งทั้งสองจะช่วยกระตุ้น NAD และอาจจะมีส่วนช่วยให้อายุยืนขึ้น
พ่อของ Dr Sinclair ได้ลองทาน NMN และเขาสังเกตว่าพ่อเขาเริ่มมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แม่ของนักวิจัยที่ทำงานร่วมกับเขาได้ทานยานี้เหมือนกัน และอยู่ๆก็กลับมารอบประจำเดือนอีกครั้งทั้งๆที่อายุมากแล้ว
ยังมีสารประกอบจากธรรมชาติอีกจำนวนมากที่จะต้องทำการวิจัย
การชะลอวัยขั้นต่อไป
วิธีทั้งหมดที่พูดมาเป็นการเจาะจงไปที่ขั้นตอนการชราตอนต้นๆ
แต่มันก็เป็นไปได้ที่จะแก้ไขในขั้นตอนหลังๆ
หนึ่งในลักษณะของการชราคือการก่อตัวของ senescent cells หรือเรียกอีกชื่อว่า zombie cells ก็คือเซลล์ที่ตายแล้วและจะทำให้เกิดการอักเสบ ถ้ากำจัดมันได้ก็จะทำให้เนื้อเยื่อสมบูรณ์ขึ้น
ตอนนี้ก็ได้มีการคิดค้นยาประเภทที่เรียกว่า senolytics ที่เจาะจงไปที่เซลล์ประเภทนี้
การทดลองในมนุษย์เริ่มในปี 2018 และคงต้องใช้เวลาอีกสักพักในการประเมินประสิทธิภาพของมัน
วิธีการชะลอวัยอาจจะไม่มีความจำเป็นเลยถ้าเราสามารถรีเซ็ตทุกอย่างได้ก่อนที่เซลล์มันจะเกิดการชำรุด
เขาเรียกวิธีนี้ว่า Cellular Reprogramming
ปี 1996 นักวิทยาศาสตร์สามารถโคลนแกะที่ชื่อว่า Dolly ได้สำเร็จ
DNA ที่ใช้ในการโคลนนิ่งมาจากแกะที่แก่แล้ว ซึ่งก็หมายความว่า DNA ก็มีข้อมูลที่ทำให้เยาว์วัยอีกทีได้
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นนามว่า Dr Shinya Yamanaka ได้ค้น 4 ยีนอาจจะถูกกระตุ้นให้เป็นสเต็มเซลล์ที่จะสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ทุกๆประเภทได้ และจะช่วยในการฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่เสียหาย
ยีนทั้ง 4 ถูกเรียกสั้นๆว่า O S K M ร่วมกันคือ Yamanaka factor
Dr Yamanaka ได้รางวัล Nobel ในปี 2012
Dr Sinclair คาดเดาว่าการจะได้ประโยชน์จากยีนนี้อาจจะเริ่มจากการเจาะจงไปที่แต่ละอวัยวะ
ถ้ามันมีความปลอดภัยพอ ก็อาจจะฉีดเข้าไปคล้ายๆกับวัคซีนเริ่มจากอายุ 30 แล้วก็ฉีดเป็นช่วงๆหลังจากนั้น
นวัตกรรมด้านการแพทย์
นวัตกรรมด้านการแพทย์ก็จะมีส่วนช่วยให้อายุยืนขึ้น
ในอนาคต การแพทย์จะมาในรูปแบบ Precision Medicine หรือการแพทย์ที่แม่นยำ ซึ่งเป็นการเจาะจงไปที่ผู้ป่วยแต่ละคนและไม่ใช่จากลักษณะทั่วไป
ความพัฒนาด้านเทคโนโลยีทำให้การวิเคราะห์ DNA ถูกลง บวกกับพลังคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น และบทบาทของ AI และการใช้อุปกรณ์วัดค่าร่างกาย ซึ่งทั้งหมดทำให้ข้อมูลด้าน DNA ทำได้ง่ายและเร็ว และช่วยให้การรักษาแบบเจาะจงทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตก็จะเข้าถึงคนจำนวนมาก
การรู้ข้อมูล DNA ส่วนตัวก็จะช่วยให้รู้อายุทางชีวภาพของตัวเอง และอาจจะช่วยตอบคำถามว่าตัวเราจะมีโอกาสเป็นโรคร้ายประเภทไหนและตอนไหน
และเราก็จะสามารถรู้ได้ว่าอาหารประเภทไหนจะเหมาะสมกับตัวเรา และการสั่งยาก็ต้องเจาะจงตามข้อมูล DNA ส่วนตัว
การรักษาผู้ป่วยก็จะเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อรู้ข้อมูล DNA ก็จะช่วยวางแผนการรักษาก่อนที่โรคร้ายที่เกิดขึ้นจริง
บางคนอาจจะต่อต้านการเก็บข้อมูลประเภทนี้ โดยเฉพาะถ้าต้องมีอุปกรณ์ที่วัดค่าตลอดเวลา
แต่ก็ต้องตั้งคำถามนะครับ ขนาดรถยนต์ยังต้องมีอุปกรณ์วัดค่าต่างๆนาๆเพื่อให้รู้ว่ามันมีโอกาสเสียหรือไม่ ถ้าไม่มีอุปกรณ์พวกนี้คุณจะรู้สึกปลอดภัยไหมล่ะครับ?
แล้วทำไมเราถึงไม่ต้องการสิ่งเดียวกันให้กับสุขภาพของเราล่ะครับ?
นอกจากนั้นแล้ว AI และ data ก็จะมีบทบาทมากขึ้น อย่างเช่นมันจะช่วยเตือนเมื่อตรวจพบความผิดปกติในร่างกาย ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นการรักษาแบบเนิ่นๆได้
และเทคโนโลยีก็จะผลักดันด้านวัคซีน โรคระบาด และการปลูกถ่ายอวัยวะอีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้เรามีอายุยืนขึ้น
อนาคตจะเป็นอย่างไร?
Dr Sinclair ได้ประเมินว่า ถ้าบวกการพัฒนาในทุกๆด้าน ในอีก 50 ปีข้างหน้าเฉลี่ยอายุขัยของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 33 ปี ซึ่งนี่เป็นการประเมินขั้นต่ำ และมันก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
คนบางส่วนในสังคมก็อาจจะไม่เห็นด้วยและคิดว่าการแก่ชราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และมันผิดศีลธรรมถ้าจะไปเปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าคิดแบบนั้นเราก็ไม่จำเป็นจะต้องรักษาโรคร้ายถ้ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือครับ?
การที่ประชากรโลกจะมีอายุยืนขึ้นก็จะมีผลกระทบด้านสังคมอย่างมาก
ที่เห็นได้ชัดก็คือประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในหนังสือ Collapse ศาสตราจารย์ Jared Diamond ได้พูดถึงการล่มสลายของสังคมและอารยธรรมที่เกิดจากการมีประชากรเยอะเกินไปและไม่มีทรัพยากรเพียงพอ
และศาสตราจารย์ Stephen Hawking ก็ยังเคยเตือนว่าเราอาจจะต้องย้ายไปอยู่ดาวดวงอื่นเพราะอาจจะมีที่ไม่พอบนโลกเรา
ความคิดเก่าๆในหลายๆด้านก็อาจจะอยู่เป็นเวลานานซึ่งทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นช้า และความเหลื่อมล้ำก็อาจจะแย่ลงไปอีก
แต่ Dr Sinclair มีความเชื่อมั่นว่ามนุษย์เราสามารถปรับตัวได้มากกว่าที่คิด
เขาได้ยกตัวอย่างเมืองลอนดอนในศตวรรษที่ 19 ที่มีความแออัดและสกปรกอย่างมาก และทำให้เกิดการระบาดของโรค cholera
ตอนนั้นประชากรมีอยู่ 2 ทางเลือก จะปรับตัวหรือจะล่มสลาย ซึ่งโรคระบาดก็นำไปสู่การแก้ไข
ท้ายสุด
การที่มนุษย์เราจะมีอายุยืนอย่างมาก จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เรารู้อยู่ในปัจจุบันและจะมีความท้าทายอย่างมาก
แต่ความเป็นไปได้ที่เราจะได้อยู่กับลูก หลาน เหลน และลูกของเหลน อาจจะทำให้เราต้องดูแลโลกใบนี้และกันและกัน
มันอาจจะทำให้เราต้องมีความเห็นใจ มีความเมตตา มีการให้อภัย มีความยุติธรรมมากขึ้น
และทั้งหมดนั้นก็คือความหมายของการเป็นมนุษย์ที่แท้จริง
เล่มนี้ออกมาในปี 2019 นะครับ และงานวิจัยก็อาจจะคืบหน้าไปบ้างแล้ว
ในหนังสือก็ได้ใช้ศัพท์การแพทย์เยอะมาก และผมก็ไม่แน่ใจว่าอธิบายถูกต้องหรือไม่นะครับ ถ้ามีอะไรควรเพิ่มเติมก็ comment ได้นะครับ
ในหนังสือยังพูดถึงผลกระทบด้านสังคมอีกหลายอย่างนะครับ ถ้าท่านใดสนใจอยากจะอ่านเวอร์ชันเต็ม สามารถสั่งซื้อได้ตามลิงค์ด้านล่างของคลิปเลยนะครับ
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ
Pop (ป๊อป) BooksDD
—