[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]
รีวิวหนังสือ Good Economics For Hard Time
เศรษฐศาสตร์ที่ดีในยามยาก
เล่มนี้เขียนโดยคู่สามีภรรยานักเศรษฐศาสตร์ Abhijit Banerjee และ Esther Duflo
ทั้งสองเป็นศาสตราจารย์ที่ MIT และได้รับรางวัล Nobel สาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 2019
ในโลกที่มีความเชื่อมโยงและซับซ้อน การหาวิธีรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจก็มีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้กับคนทั่วโลก
แต่ความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศทำให้ดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่ถูกแก้ไข
ทำให้เศรษฐศาสตร์ยิ่งใหญ่อีกรอบ
Make Economics Great Again
ผู้เขียนเห็นว่า ความน่าเชื่อถือของนักเศรษฐศาสตร์ลดลงอย่างมาก
แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมเพราะมีข้อมูลและความรู้
ฉะนั้นถ้าอยากได้ความน่าเชื่อถือกลับมา นักเศรษฐศาสตร์ควรปรับปรุงการสื่อสาร วิเคราะห์หลักฐานตามความเป็นจริง และยอมรับความผิดพลาดอย่างตรงไปตรงมา
เขาเสนอว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเศรษฐศาสตร์ ควรเริ่มจากการยอมรับว่า มนุษย์เรามีเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งจะเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นการดูแลคนในสังคม โดยเฉพาะในเวลาที่ยากลำบาก
เขายอมรับว่า ข้อคิดในแต่ละประเด็นที่จะพูดถึง คนแต่ละคนอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันนะครับ
การย้ายประเทศ Immigration
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนย้ายประเทศ
Immigration หรือการย้ายประเทศเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในประเทศตะวันตก
นักการเมืองหลายคนได้สร้างภาพลักษณ์ว่าคนกลุ่มนี้จะเข้ามาแย่งงานและทรัพยากรของประชากรประเทศ ถึงแม้ว่าจะย้ายมาถูกกฎหมายก็ตาม
เมื่อพูดถึงค่าแรงของ low-skilled labour หรือแรงงานฝีมือต่ำ
พวกเขาจะใช้ supply and demand เพื่อเสนอว่าแรงงานจากประเทศรายได้ปานกลางและต่ำ จะมีแรงจูงใจสูงที่จะย้ายมาอยู่ประเทศรายได้สูง และกดค่าแรงลงซึ่งกระทบแรงงานท้องถิ่น
แต่หลักฐานมันไม่รองรับความคิดนี้
จริงๆแล้วคนเราไม่ได้ต้องการจะย้ายถิ่นฐานมากขนาดนั้น และเงินอย่างเดียวไม่ใช่เป็นแรงจูงใจ
ยกตัวอย่างเช่นระหว่างปี 2010-2015 ประเทศกรีซได้ประสบวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้มีการย้ายประเทศเยอะขนาดนั้น ทั้งๆที่อัตราการว่างงานสูงเกือบ 30% และพวกเขาไปอยู่ประเทศยุโรปอื่นได้อย่างถูกกฎหมาย
ภายในประเทศก็เช่นกัน ในประเทศอินเดีย ประชากรยากจนที่อยู่นอกเมืองไม่ได้ย้ายเข้าไปในเมืองเพื่อหาโอกาสการงานมากอย่างที่คิด
บางครั้งอาจจะต้องมีปัจจัยกดดันร้ายแรงจริงๆอย่างเช่นสงคราม ถึงจะผลักดันคนจำนวนมากให้ย้ายประเทศ
ปัจจัยหลักๆอาจจะเป็นเพราะเรื่องเงิน ครอบครัว เพื่อนฝูง ความเคยชิน หรือไม่ก็เป็นความรู้สึกกลัวความไม่แน่นอน
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของคนย้ายประเทศ
ถ้าพูดถึงปัจจัย supply and demand อย่างเดียว ผู้เขียนเห็นว่าแรงงานที่ย้ายเข้ามาในประเทศจะมีผลกระทบ 4 อย่าง
(1) คนย้ายเข้ามาในประเทศจะกระตุ้น demand เพิ่มขึ้นเพราะมีการจับจ่ายใช้สอย
(2) เมื่อมี supply แรงงานเพียงพอ บางธุรกิจอาจจะชะลอการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1964 รัฐแคลิฟอร์เนียได้ไล่แรงงานเกษตรคนเม็กซิกันออกไปเพราะคิดว่าทำให้ค่าแรงลดลง ในเมื่อไม่มีแรงงานเพียงพอ หลายธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี ซึ่งทำให้คนงานท้องถิ่นตกงานไปด้วย
(3) การเพิ่ม supply แรงงาน จะช่วยให้แรงงานท้องถิ่นได้เลื่อนขั้นได้เร็วขึ้นและมีโอกาสเพิ่มทักษะด้านบริหาร เพราะพวกเขามีทักษะอย่างเช่นภาษาและการสื่อสาร ซึ่งแรงงานที่ย้ายเข้ามาอาจจะไม่มี
(4) แรงงานใหม่อาจจะยอมทำงานที่คนท้องถิ่นไม่อยากทำ ซึ่งจะเพิ่ม supply กับงานประเภทนี้และผลักดันให้ค่าแรงลดลง แต่นั่นอาจจะเป็นผลดีกับคนท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น สตรีที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว จะสามารถจ้างคนช่วยในบ้านได้ในราคาที่ถูกลงเพื่อที่ตัวเองจะมีเวลาออกไปทำงานได้
คนท้องถิ่นก็มีโอกาสน้อยที่จะถูกแย่งงาน เพราะพวกเขามีข้อมูลท้องถิ่นและรู้จักคนกว้างขวาง และอาจจะมีทักษะที่เหมาะสมที่ผู้ว่าจ้างอาจต้องการ
คนที่ย้ายประเทศบางคนก็อาจจะมีแรงผลักดันสูงและก็ทำธุรกิจของตัวเอง
จากการสำรวจในปี 2017 43% ของผู้ก่อตั้งบริษัท Fortune 500 เป็นคนที่ย้ายถิ่นฐาน หรือมีพ่อแม่ที่ย้ายถิ่นฐาน
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือคนทุกคนมีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน และไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว
การค้าระหว่างประเทศ International Trade
ความไม่ยืดหยุ่นของคนงานและเงินทุน
ประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญอีกเรื่องก็คือการค้าขายระหว่างประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์และคนทั่วไปค่อนข้างจะเห็นต่างกันเกี่ยวกับผลประโยชน์ของการค้าโลก
ตามหลักเศรษฐศาสตร์นะครับ แต่ละประเทศควรผลิตสิ่งที่ตัวเองมี comparative advantage หรือความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ และค้าขายกับประเทศอื่นเพื่อได้สินค้าที่ต้องการ ซึ่งทุกๆประเทศก็จะได้ผลประโยชน์
แต่มีทฤษฎี Stolper-Samuelson Theorem ที่กล่าวว่า การค้าโลกจะทำให้ความยากจนลดลงในประเทศกำลังพัฒนา แต่ในประเทศพัฒนาแล้วมันอาจจะเพิ่มขึ้น
ภายในประเทศ ผลประโยชน์ก็อาจจะไม่เท่าเทียมกัน
จากการสำรวจในประเทศอินเดียพบว่า ถึงแม้ว่าความยากจนจะลดลงก็จริง แต่ในพื้นที่ที่ถูกกระทบจากการค้า ความยากจนจะลดลงช้ากว่า
การค้าโลกจะทำให้บางอุตสาหกรรมแข่งขันไม่ได้ และตามหลักแล้วองค์กรและคนงานควรปรับเปลี่ยนไปทำสิ่งที่ได้ผลประโยชน์มากกว่า
แต่มันมีอยู่ 2 ปัญหา
(1) คนงานอาจจะไม่ยืดหยุ่นเพราะอาจจะต้องฝึกทักษะใหม่ และต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อหาโอกาส แต่อย่างที่บอกก่อนหน้านี้นะครับ ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้หรือต้องการย้ายที่อยู่
(2) เงินทุนก็ไม่ได้ยืดหยุ่นอย่างที่คิด
บางองค์กรที่ถูกกระทบจากการค้า อาจจะยังหาเงินทุนได้ง่าย เพราะอาจจะทำธุรกิจมานานและมีความสัมพันธ์กับแหล่งการเงิน
และพอได้เงินทุนก็ใช่ว่าจะไปผลิตสินค้าใหม่เสมอไป เพราะอาจจะไม่ต้องการเสี่ยง
ในทางกลับกัน บริษัทใหม่ที่มีนวัตกรรมหรือสินค้าประเภทใหม่ อาจจะหาเงินทุนลำบากเพราะยังไม่มีชื่อเสียง จึงไม่สามารถลงทุนกับสิ่งใหม่ๆได้เร็วเท่าที่ต้องการ
สงครามการค้าไม่ใช่ทางออก
ในประเทศสหรัฐ ผลกระทบจากการค้าโลกค่อนข้างจะกระจุกกันอย่างมาก เพราะบางเมืองหรือบางรัฐจะมีแหล่งผลิตขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกัน และเมื่อถูกกระทบก็จะล้มเหมือนกับโดมิโน่
เขายกตัวอย่างรัฐ Tennessee ที่ในอดีตเคยผลิตเฟอร์นิเจอร์ไปถึงเสื้อผ้า แต่การเปิดการค้าโลกทำให้แข่งขันไม่ได้และก็หายไปทีละโรงงาน และร้านค้าขนาดเล็กก็ถูกกระทบ ทำให้เมืองบางเมืองแทบจะร้าง
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศจีนได้เข้ามามีบทบาทในการค้าโลก
อดีตประธานาธิบดี Donald Trump ก็ได้เปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีน และจีนก็ได้ตอบโต้แบบเดียวกัน
แต่ถึงแม้ว่าจะปกป้องบางอุตสาหกรรมได้ ก็ยังต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นไปด้วย ซึ่งในระยะยาวมันไม่ใช่นโยบายที่ดีสักเท่าไหร่
ปัญหามันไม่ใช่อยู่ที่การค้าโลก แต่มันอยู่ที่การกระจายผลประโยชน์และปกป้องกลุ่มที่ถูกกระทบมากกว่า
ในสหรัฐมีโปรแกรมชื่อว่า Trade Adjustment Assistance (TAA) ซึ่งก่อตั้งเพื่อช่วยคนที่ถูกกระทบจากการค้า แต่ปัญหาก็คือทั้งสองพรรคการเมืองมองไม่เห็นตรงกันจึงทำให้โปรแกรมนี้ขาดเงินทุน
คนบางคนไม่มีหนทางถึงขั้นต้องเปลี่ยนสถานะตัวเองให้เป็นคนพิการเพื่อได้รับสวัสดิการ แต่นั่นก็มีผลกระทบทางจิตใจเช่นกัน
ทั้งๆที่มีทฤษฎีที่กล่าวไว้แล้วว่าผลประโยชน์ทางการค้าอาจจะไม่กระจายทั่วถึงเสมอไป แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็ยังยึดติดว่าคนเราจะหาวิธีทางได้เอง ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย
และผลลัพธ์ที่ได้คือการแบ่งแยกคนที่แพ้และคนที่ชนะ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ความแตกแยก Polarization
ความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เรามีพื้นฐานที่ทำให้แตกแยก เพราะเราทุกคนมี preference คือสิ่งที่เราชอบ ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่ใช้เหตุผลในการกระทำเสมอไป และผลลัพธ์ที่ควรได้อาจจะผิดจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนได้พบกับผู้ชายคนนึงที่แทบจะไม่มีอะไรกินแต่ต้องการมีทีวี เพราะคิดว่ามันช่วยให้ลืมความลำบากของตัวเองได้
ความชอบก็จะผลักดันให้เราเข้าไปในกลุ่มคนที่มีความคิดและความเชื่อคล้ายๆกัน ซึ่งก็จะได้รับข้อมูลแบบเดียวกันและอาจจะปฏิเสธข้อมูลอื่นๆ และกีดกั้นคนที่เห็นต่าง
Social media ก็ทำให้ง่ายขึ้นในการรับข้อมูลประเภทเดียว จึงทำให้ความเชื่อแรงขึ้นไปอีก จนทุกวันนี้แต่ละกลุ่มก็มองปัญหาสังคมแตกต่างกัน ซึ่งก็จะทำให้การแก้ไขยากขึ้น
มันไม่มีคำตอบที่เรียบง่ายในเรื่องนี้ แต่เราทุกคนควรมีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายประเภท เพื่อจะช่วยให้เปิดรับความคิดแตกต่างได้ ซึ่งควรจะเริ่มจากสถานศึกษาและแหล่งที่อยู่อาศัย
ปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
Economics Growth
นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นไม่ตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกจะโตเร็วเหมือนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกหรือเปล่า
พวกเขาก็ยังโต้เถียงกันว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ เพราะหลายๆประเทศกำลังตกอยู่ใน middle-income trap หรือกับดักรายได้ปานกลาง และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
ผู้เขียนเห็นว่า แทนที่ผู้วางนโยบายจะพยายามเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจเพียงแค่ไม่กี่เสี้ยวเปอร์เซ็นต์ แต่ละประเทศควรหันมาดูแลความเป็นอยู่ของประชากรจะดีกว่า เพราะเมื่อไหร่ที่กลไกเศรษฐกิจมันถูกจุดชนวนอีกครั้ง ประชากรจะอยู่ในสถานะที่จะได้ผลประโยชน์อย่างมาก
บทบาทของ AI และเทคโนโลยี
มันเป็นไปได้ที่ AI และเทคโนโลยีจะเป็นตัวจุดประกายให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วอีกครั้ง
แต่คนจำนวนมากก็กังวลว่ามันจะทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลงไปอีก เพราะงานจำนวนมากอาจจะสูญหาย
จากการสำรวจบทบาทของ automation หรือระบบอัตโนมัติที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมเริ่มตั้งแต่ยุค 90 เขาพบว่ามันมีผลกระทบในทางลบกับตลาดแรงงาน
และในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีที่มาทดแทนงานที่ต้องใช้ทักษะ อย่างเช่นด้านบัญชีหรือด้านกฎหมาย
นั่นอาจจะหมายความว่า งานที่ต้องมีทักษะสูงอย่างเช่นด้านคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น และงานที่ต้องใช้ทักษะปานกลางจะลดลง และคนงานเหล่านี้จะถูกผลักลงไปให้ทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะ ซึ่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
การเร่งใช้เทคโนโลยีอาจจะเป็นเพราะการได้เปรียบทางภาษี
ในสหรัฐ แทนที่ธุรกิจจะจ้างคนงานและจ่ายภาษีค่าแรง (payroll tax) มันจะดีกว่าถ้านำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เพื่อจะได้การลดหย่อนภาษี
ด้วยเหตุนี้ บางองค์กรเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีแทนมนุษย์ทั้งๆที่มนุษย์อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
ได้มีการเสนอภาษี robot (robot tax) เพื่อหยุดยั้งไม่ให้องค์กรนำเทคโนโลยีมาแทนคนงานโดยไม่จำเป็น
แต่เทคโนโลยีมันซึมซับเข้าไปในหลายๆด้านมากจนยากที่จะกำหนดได้แน่ชัดว่าควรเก็บภาษีอย่างไร
นโยบายรัฐบาลและความเหลื่อมล้ำ
Government Policy
ความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากเท่านโยบายรัฐ
ในปี 1980 Ronald Reagan ได้มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ
ก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจของสหรัฐและอังกฤษเริ่มชะลอตัว ในขณะที่ญี่ปุ่นและยุโรปเริ่มเติบโตเร็ว
Ronald Reagan และ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Margaret Thatcher เห็นแบบเดียวกันว่าต้นเหตุคือภาษีสูงไป รัฐบาลมีขนาดใหญ่ไป และสหพันธ์แรงงานแข็งแรงเกินไป
ทั้งสองประเทศลดอัตราภาษีมากกว่าครึ่งโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุด ควบคู่กับการลดสวัสดิการสังคม
แนวคิดของนโยบายนี้เรียกว่า “trickle down economics” ก็คือผลประโยชน์จะได้กับคนที่มีรายได้สูงก่อนแล้วก็จะลงมาถึงคนอื่นๆในที่สุด
ในปี 1928 สัดส่วนรายได้ของประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% ในสหรัฐ อยู่ที่ประมาณ 24% ของทั้งประเทศ และมันลดมาเหลือแค่ประมาณ 8% ในปี 1979 ซึ่งหมายถึงความเหลื่อมล้ำลดลงอย่างมาก
แต่จากการเปลี่ยนนโยบายนี้ ทิศทางก็เริ่มจะหวนกลับ และในปี 2017 สัดส่วนก็กลับไปเหมือนเดิม
ในขณะที่ค่าแรงเฉลี่ยของคนทั่วไปเมื่อปรับฐานเงินเฟ้อแล้ว แทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย
สัดส่วนทรัพย์สินก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และตอนนี้ทรัพย์สินของคนร่ำรวยที่สุด 1% ของสหรัฐเท่ากับเกือบ 40% ของทั้งประเทศ
การเปลี่ยนแปลงในสังคมก็ทำให้เกิดความเชื่อแบบ “winner takes all” หรือผู้ชนะได้ทุกอย่าง ก็คือหลายคนเห็นว่ามันไม่มีปัญหาที่บางกลุ่มจะมีรายได้สูงเพราะพวกเขาสมควรได้
แต่ความเป็นจริงแล้วคนที่ได้รายได้สูงอาจจะไม่ได้มีผลงานที่สอดคล้อง หรือทำงานที่เป็นประโยชน์สูงเสมอไป
การเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายในสหรัฐ ก็ทำให้องค์กรหรือบุคคลสามารถใช้เงินเพื่อผลักดันนโยบายที่ต้องการได้
ทั้งหมดนี้ทำให้ผลประโยชน์ไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มบนสุด
จากการสำรวจ Intergenerational Mobility หรือการเลื่อนชั้นทางสังคมระหว่างรุ่นวัย คือการที่คนรุ่นหลังจะสามารถเลื่อนฐานะของตัวเองให้ดีกว่าพ่อแม่
เขาพบว่าในประเทศสหรัฐ โอกาสที่คนรายได้ต่ำจะได้เลื่อนไปฐานะที่ดีกว่าพ่อแม่กลับลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต และอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว
ในทางกลับกันประเทศเดนมาร์กและเยอรมัน ที่ไม่ได้ลดอัตราภาษีในอดีตและมีนโยบายสนับสนุนสังคมที่แข็งแกร่ง ก็ไม่ได้ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขนาดนั้น
อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่สำคัญ คือคนที่เสียเปรียบอาจจะรู้สึกหมดความหวัง และจะไปโทษคนที่มีลักษณะหรือความคิดที่แตกต่าง และทำให้ความแตกแยกแย่ลงไปอีก
แก้ไขความเหลื่อมล้ำ
จากหลายๆประเด็นที่พูดไปแล้ว จะเห็นได้ว่ากลไกทางเศรษฐกิจไม่ได้ราบรื่นมากอย่างที่คิด
รัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ
หนึ่งในวิธีที่ทำได้ก็คือเปลี่ยนโครงสร้างภาษี
นักการเมืองในสหรัฐบางคนเสนอว่าอัตราภาษีส่วนเพิ่มของรายได้สูงสุดในประเทศควรอยู่ที่ 70% ซึ่งเหมือนกับในอดีต
จากงานวิจัย อัตราภาษีแบบนี้อาจจะช่วยเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างไปในทางบวก
ยกตัวอย่างเช่น บุคลากรที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อาจจะเข้ามาทำงานในบริษัทการเงินแทนเพราะมีรายได้สูง
แต่ถ้าต้องจ่ายภาษีเยอะอาจจะไม่ย้ายงาน และอาจจะอยู่ในด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป ซึ่งจะมีผลประโยชน์กับสังคมมากกว่า
และในระยะยาวจะมีคนน้อยมากๆที่ต้องจ่ายอัตราภาษีสูงสุดนี้
นอกเหนือจากนั้นยังมีบางคนเสนอว่าควรเก็บ wealth tax หรือภาษีความมั่งคั่ง ที่ประมาณ 2-3% เพื่อนำไปช่วยกลุ่มคนที่ถูกกระทบจากการค้าโลก
แต่การเก็บภาษีอย่างเดียวนั้นไม่พอ โดยเฉพาะในสหรัฐที่ต่อต้านภาษีเพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลค่อนข้างต่ำ
มันสำคัญมากที่รัฐบาลจะต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ควรลดการทุจริต ควรปรับปรุงประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบกับผลงาน และประชาชนจะต้องมีบทบาทในการตรวจสอบด้วย
การช่วยเหลือประชาชน อาจจะมาในหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นก็คือ Universal Basic Income UBI หรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เป็นการให้เงินรายเดือนขั้นพื้นฐานกับประชากรทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข
แต่หลายคนอาจจะมองว่าการช่วยเหลืออาจจะทำให้คนขี้เกียจ และจะนำเงินไปใช้ในทางที่ผิด
แต่จาก data ใน 119 ประเทศ เขาไม่พบหลักฐานของ 2 สิ่งนี้
และมีการคาดว่า มันอาจจะช่วยลดความกดดันจากความเครียด และจะช่วยสุขภาพจิตเพื่อให้กล้าลองทำและฝึกฝนสิ่งใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งย้ายถิ่นฐานเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า ซึ่งก็จะเป็นไปตามกลไกเศรษฐศาสตร์
ท้ายสุด
ท้ายสุดนะครับ เราไม่ควรมองข้ามผลกระทบจากนโยบาย
ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศหรือนโยบายภายใน ผลกระทบอาจจะไปในทางบวกหรือลบ
แต่ละประเทศควรออกนโยบายตามที่เหมาะสมกับตัวเอง
นโยบายทางสังคมในยามที่ยากลำบากจะต้องช่วยเหลือคนที่ถูกกระทบ และที่สำคัญคือไม่ควรมองข้ามว่าคนทุกคนมีเกียรติและศักดิ์ศรี
มันไม่ใช่แค่นักเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่เราทุกคนก็มีบทบาทในการผลักดันให้สังคมเดินหน้าต่อไปเพื่อให้มีความน่าอยู่สำหรับทุกคน
เล่มนี้ออกมาตอนปลายปี 2019 แล้วครับ และสถานการณ์ covid ก็ทำให้ความยากลำบากแย่ลงไปอีก
เรื่องภาษีและสวัสดิการทางสังคมนะครับ ก็คงมีความคิดเห็นแตกต่างกันโดยเฉพาะในสหรัฐ
ผมขอถามทุกคนนะครับ คุณคิดว่าปัญหาเศรษฐกิจไหนสำคัญที่สุดครับ? การค้าโลกเป็นประโยชน์จริงๆหรือไม่? และการเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มากขนาดไหนครับ?
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ
Pop (ป๊อป) BooksDD
—