[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]


หนังสือ Collapse: How Societies Choose To Fail Or Succeed
ล่มสลาย ไขปริศนาความล่มจมของสังคมและอารยธรรม

เขียนโดยศาสตราจารย์ Jared Diamond ซึ่งเป็นผู้เขียนเดียวกับ Guns, Germs, And Steel ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า ผมแนะนำให้ไปชมคลิบด้วยนะครับ
ศาสตราจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านอย่างเช่นประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์ และมานุษยวิทยา

ในเล่มนี้จะพูดถึงอารยธรรมในอดีต และในยุคปัจจุบัน ว่าทำไมบางกลุ่มถึงล่มสลาย และบางกลุ่มถึงอยู่รอด
การเรียนรู้เหตุผลเบื้องหลัง จะเป็นบทเรียนให้สังคมปัจจุบัน เพื่อที่จะมีโอกาสเปลี่ยนทิศทาง ก่อนที่มันจะสายเกินไป


ปัจจัยของการล่มสลาย

ศาสตราจารย์เห็นว่า มี 5 ปัจจัยสำคัญ ที่จะชี้ว่าอารยธรรมจะอยู่รอดหรือไม่

1. การทำลายสิ่งแวดล้อม
2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. มีเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นมิตร
4. มีเพื่อนบ้านที่ค้าขายขายกันได้
5. ผู้นำและประชากรจะตอบโต้กับปัญหาอย่างไร

สังคมที่มีปัจจัยเหล่านี้ อาจจะเพิ่มแรงกดดันที่ทำให้ปัญหาอื่นๆ อย่างเช่นด้านการเมือง ให้มันแย่ลงไปอีก และทำให้ล่มสลายไปในที่สุด

เรามาฟังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์กันนะครับ


ตัวอย่างอารยธรรมในอดีต

เกาะ Easter

ในตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก มีเกาะที่ชื่อว่า Easter Island
คนหลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับเกาะนี้ แต่เชื่อว่าน่าจะเคยเห็นรูปปั้นขนาดยักษ์บนเกาะ ที่เรียกว่าโมอาย Moai

บนเกาะมีรูปปั้นโมอายเกือบพันอัน บางอันก็สูงถึง 10 เมตร และหนักหลายสิบตัน
ตอนที่นักสำรวจจากยุโรปมาพบเกาะนี้ในปีค.ศ 1722 พวกเขาก็ทึ่งกับขนาดและจำนวนของรูปปั้นมาก
แต่พวกเขาก็สงสัย ว่าประชากรท้องถิ่นที่มีอยู่ไม่มากเท่าไหร่ในตอนนั้นจะสร้างและเคลื่อนย้ายรูปปั้นเหล่านี้ได้อย่างไร

ประชากรย้ายมาอยู่ที่เกาะ Easter เป็นเวลานานก่อนหน้านั้น และตอนนั้น ก็มีความอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งช่วยให้ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นหลายหมื่นคน และก็แบ่งแยกเป็นหลายๆเผ่า

มีการสนิฐานว่า พวกเขาสร้างรูปปั้นโมอายเพื่อบูชาเทพเจ้า
แต่ละเผ่าก็เริ่มแข่งขันกัน และก็ตัดไม้เพื่อเคลียร์พื้นที่ในการสร้างและเคลื่อนย้ายรูปปั้น
พอต้นไม้ลดลง คุณภาพดินก็ลดลงทำให้การเกษตรยากขึ้น และสัตว์หลายชนิดก็อยู่ไม่ได้ และยังไม่มีไม้เพียงพอที่จะสร้างเรือเพื่อไปตกปลา
พวกเขาขาดแคลนอาหารมาก จนต้องสู้รบกัน และทำให้ประชากรก็ลดลงอย่างมาก
และหลังจากที่ได้พบปะกับชาวยุโรป ก็ได้เชื้อโรคที่พวกเขาไม่มีภูมิต้านทาน และก็ทำให้อารยธรรมนี้ล่มสลายไปในที่สุด


เกาะ Pitcairn และ Henderson

มีอีก 2 เกาะที่อยู่ไม่ไกลจากเกาะอีสเตอร์ ชื่อว่าเกาะพิตแคร์นและเกาะเฮนเดอร์สัน

ในปีค.ศ 1790 มีเรือของอังกฤษชื่อว่า HMS Bounty ที่ถูกส่งไปแถบแคริบเบียน แต่ลูกเรือกลุ่มนึงยึดเรือได้ และหนีมาตั้งรากฐานที่เกาะพิตแคร์น
ตอนที่พวกเขาค้นพบเกาะ ก็ไม่มีใครอยู่บนเกาะแล้ว แต่ก็มีหลักฐานว่าเคยมีกลุ่มคนอาศัยอยู่ที่นี่มาก่อน

หลายร้อยปีก่อนหน้านั้นก็มีชุมชนใน 2 เกาะนี้ แต่เกาะมีขนาดเล็กเกินไปที่จะมีทรัพยากรเพียงพอในการรองรับประชากร
แต่พวกเขามีวัตถุดิบในการสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ จึงสามารถค้าขายกับอีกเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่าชื่อว่า Magareva
ถึงแม้ว่าประชากรจะได้ทรัพยากรที่ต้องการ แต่เกาะเล็กก็ต้องพึ่งเกาะใหญ่อย่างมาก
พวกเขาค้าขายกันได้พักใหญ่ แต่แล้วทรัพยากรบนเกาะ Magareva ก็เริ่มลดลง และก็ประสบปัญหาเดียวกับเกาะ Easter
และทำให้การค้าขายหยุดลง และประชากรของเกาะทั้งสองก็อยู่ไม่ได้


อารยธรรม Maya

อารยธรรมขนาดใหญ่ ก็ใช่ว่าจะล่มสลายไม่ได้ ตัวอย่างที่ดีคืออารยธรรมมายา
ซึ่งอยู่แถบอเมริกากลางระหว่างปีค.ศ 250 จนถึง 760 (classic period)
โครงสร้างวิหารที่หลงเหลืออยู่ ก็เป็นหลักฐานของความเจริญรุ่งเรือง และคาดว่ามีประชากรเป็นหลักล้านคน

แหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรมายามีความอุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศไม่บอบบางเหมือนในตัวอย่างเกาะที่พูดไปแล้ว
แต่เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องทำลายสิ่งแวดล้อมในการผลิตอาหาร
นอกเหนือจากนั้นแล้ว พวกเขามีระบบปกครองที่กระจาย
ผู้นำของแต่ละกลุ่ม ก็มัวแต่ใส่ใจกับการสร้างวิหารที่ยิ่งใหญ่ และเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง และสู้รบกันอยู่บ่อยครั้ง
ภาวะแห้งแล้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในช่วงท้าย ทำให้ปัญหาทวีคูณ และทำให้อารยธรรมล่มสลายไปในที่สุด


อารยธรรม Viking

อารยธรรมฝั่งตะวันตกก็ประสบปัญหาได้เช่นกัน

เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ชาวไวกิ้ง ได้ตั้งรกรากในแถบตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก
สภาพแวดล้อมในแถบนี้ ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับบ้านเกิดของพวกเค้า จึงปรับสภาพเข้าหาได้ดี

มีที่หนึ่งที่เขาตั้งรกรากไม่สำเร็จ ก็คือ Greenland ซึ่งมีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากที่อื่น
พวกเขาไม่ยอมปรับสภาพเข้าหา และยังยึดติดกับวิถีชีวิตแบบเดิม
อย่างเช่นยังต้องการกินสัตว์ขนาดใหญ่ ทั้งๆที่มันเลี้ยงดูลำบาก
พวกเขาเคลียร์พื้นที่ป่าไม้เพื่อทำฟาร์ม และนำไม้มาทำความอุ่น และผลิตอาวุธ แต่จะปลูกต้นไม้ใหม่ก็ไม่ง่าย
ผู้เป็นหัวหน้าและผู้นำศาสนา ก็ใช้ทรัพยากรในการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ฟุ่มเฟือยที่ไม่ให้ประโยชน์กับส่วนรวม
ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีความขัดแย้งกับเผาท้องถิ่น คือชาว Inuit และก็มีการปะทะกันบ่อยครั้ง
ถึงแม้ว่าในช่วงแรก ประชากรไวกิ้งจะเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันคน และจะอยู่ในแถบนี้ได้เป็นร้อยปี แต่ในที่สุดก็ล้มสลาย


การล่มสลายของอารยธรรมทั้งหมดที่พูดมา ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน หรือมาจากแถบไหน ก็มีโอกาสที่จะประสบปัญหาในการทะนุถนอมทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
ปัญหานี้ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น เราควรมีการวางแผนในการดูแลทรัพยากร ก่อนที่มันจะมีผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเรา


แต่ก็ใช่ว่า อารยธรรมที่อยู่ในที่ที่มีสภาพแวดล้อมบอบบาง จะไม่อยู่รอดเสมอ และยังมีตัวอย่างหลายอารยธรรมที่สามารถหาจุดสมดุลการบริหารทรัพยากร

มี 2 แนวคิดในด้านนี้
Bottom-up หรือล่างไปบน เป็นแนวคิดที่เหมาะกับชุมชนเล็กๆ
Top-down หรือบนมาล่าง จะเหมาะกับอารยธรรมที่มีขนาดใหญ่


เกาะ New Guinea และ Tikopia

เกาะนิวกินี เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย
ประชากรในเกาะจำนวนมาก ไม่รู้หนังสือ และยังใช้ชีวิตแบบชนเผ่า
พวกเขาไม่มีระบบแบ่งชนชั้น และการตัดสินใจก็มาจากการพูดคุยกัน
และพวกเขาก็พร้อมที่จะใช้วิธีการปลูกพืชผักดีกว่าที่ได้มาจากเผ่าอื่น

ในตะวันออกของเกาะนิวกินี มีเกาะที่ชื่อว่า Tikopia ที่มีประชากรประมาณพันคน
ในช่วงแรกที่พวกเขาย้ายมาอยู่เกาะนี้ ก็ใช้ทรัพยากรไปไม่น้อย แต่ก็เริ่มปรับเปลี่ยน และหยุดการเกษตรและหยุดเลี้ยงสัตว์ที่ยากจะปลูกและเลี้ยงดู
ประชากรบนเกาะค่อนข้างจะคงที่เป็นเวลานาน เพราะการมีลูกเยอะมันผิดกับความเชื่อทางวัฒนธรรม
และหัวหน้าแต่ละเผ่าก็ควบคุมจำนวนประชากร
พอเวลามีปัญหาอะไร พวกเขาก็นั่งคุยกันและทุกคนก็มีสิทธิ์ออกความเห็น

ถึงแม้ว่าพวกเขาไม่ได้มีการพัฒนาที่สูง
แต่ก็สามารถอยู่ในเกาะที่กันดารและมีระบบนิเวศที่บอบบางได้เป็นเวลาหลายพันปี โดยการบริหารจำนวนประชากรและทรัพยากรอย่างดี


ประเทศญี่ปุ่น

ตัวอย่างที่ดีของการบริหารทรัพยากรโดยใช้แนวคิด top-down คือประเทศญี่ปุ่น

ในต้นศตวรรษที่ 17 ประเทศญี่ปุ่นเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และได้มีการตัดป่าไม้อย่างมากจนทำให้เกิดวิกฤติ
ช่วงกลางศตวรรษ ผู้นำประเทศเริ่มเคร่งครัดเรื่องการดูแลทรัพยากรป่าไม้
มันยังมีปัจจัยอื่นที่ช่วยให้การดูแลป่าไม้ทำได้ง่ายในประเทศญี่ปุ่น
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการวางแผนที่ดีก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งก็มีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


ตัวอย่างในยุคปัจจุบัน

มันไม่ใช่แค่อารยธรรมในอดีตที่ประสบปัญหานะครับ
มีบางประเทศในยุคปัจจุบัน ที่มีประชากรเพิ่มขึ้น แต่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ และบางประเทศ ก็มีการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งอาจจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว


ประเทศรวันด้า

ในปี 1994 ประเทศรวันด้า ได้เกิดโศกนาฏกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในช่วงเวลา 6 อาทิตย์ ประชากรรวันด้าเผ่า Hutu ได้ฆ่า ประชากรเผ่า Tutsi ประมาณ 8 แสนคน
คนส่วนมากเห็นว่าเหตุผลเบื้องหลัง คือการเมือง เพราะ 2 เผ่านี้ มีปัญหากันเป็นเวลานาน

แต่หนึ่งในเหตุผลที่คนไม่ค่อยพูดถึง อาจจะเป็นจำนวนประชากรที่หนาแน่นเกินไป ซึ่งในตอนนั้นเกือบจะมากที่สุดในโลก และก็มีทรัพยากรและอาหารไม่เพียงพอ
จึงทำให้เกิดการแย่งทรัพยากร และก็ระเบิดมาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
และเผ่า Hutu ก็ยังฆ่าเผาเดียวกันอีกด้วย จึงทำให้เห็นว่า มันอาจจะไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เป็นการลดจำนวนประชากร

แน่นอนว่าโศกนาฏกรรมนี้ มีหลายปัจจัยเบื้องหลังที่ซับซ้อน แต่ถ้าไม่เกิดแรงกดดันจากการขาดแคลนทรัพยากร ปัญหาก็อาจจะไม่ลามปามมาขนาดนี้


ประเทศจีน

ประเทศที่กำลังใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็คงไม่พ้นประเทศจีน

ตอนนี้ประเทศจีน เป็นประเทศผู้ผลิต และผู้บริโภค ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้
แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ก็มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมาก
ในแต่ละปี มีประชากรจำนวนมากที่มีปัญหาสุขภาพเพราะมลพิษ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น

แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ภายในประเทศจีนอย่างเดียว
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมจากประเทศจีน ก็มีผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ

ประเทศจีนสามารถเปลี่ยนนโยบายได้อย่างรวดเร็ว
และไม่ว่าเขาจะว่าตัดสินใจอย่างไรในอนาคต มันจะมีผลกระทบกับทั่วโลกอย่างมาก


สะท้อนถึงปัจจุบัน

4 เหตุผลว่าทำไมไม่เปลี่ยนแปลง

มันมีอยู่ 4 เหตุผล ว่าทำไมคนบางกลุ่ม ถึงไม่ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทาง ทั้งๆที่ความหายนะอยู่ตรงหน้า
1. พวกเขาไม่เห็นปัญหา
2. พวกเขาไม่เห็นว่าผลกระทบมีความอันตราย
3. พวกเขาไม่ได้ทดลองวิธีแก้ไข
4. และท้ายสุดการแก้ไขทำไม่สำเร็จ


12 ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ศาสตราจารย์เห็นว่า มี 12 ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอดีตและปัจจุบัน
1. การทำลายป่าไม้
2. การประมงมากเกินไป
3. การสูญเสียความหลากหลายด้านชีวภาพ
4. การลดคุณภาพของดิน
5. ปัญหาการค้นหาพลังงาน
6. การบริหารน้ำ
7. ประสิทธิภาพกระบวนการ photosynthesis ที่ลดลง
8. สารเคมีในอากาศ
9. สัตว์นอกพื้นเมือง
10. ปัญหาโลกร้อนและ climate change
11. จำนวนประชากรมากเกินไป
12. ทรัพยากรขาดแคลน

ภายในไม่ถึง 50 ปีข้างหน้า บางปัญหาเหล่านี้ อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และจะกระทบกับความอยู่รอดของมนุษย์

ความเห็นแตกต่าง

เขายอมรับว่า มันมีความไม่แน่นอนและปัญหาเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้น และหลายคนอาจคิดว่ามันเกินความเป็นจริง

ศาสตราจารย์ได้พูดถึงความคิดเห็นเหล่านี้ และมีคำตอบ

1. ต้องมีความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ;
ความเป็นจริงแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการแก้ไข ฉะนั้นจะดีกว่าถ้าหยุดยั้งมาตั้งแต่ต้น

2. เทคโนโลยีจะแก้ปัญหา;
บ่อยครั้ง เทคโนโลยีใหม่ก็อาจจะสร้างปัญหาใหม่ด้วยเช่นกัน

3. มนุษย์สามารถหาทรัพยากรใหม่มาแทนที่ได้;
การจะใช้ทรัพยากรหรือเทคโนโลยีใหม่ ต้องใช้เวลานานในการพัฒนาและปรับตัว ตัวอย่างที่ดีคือ พลังงานทดแทน ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะได้ใช้กันอย่างทั่วถึง

4. การขาดแคลนอาหารไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นการกระจายให้ทั่วถึงมากกว่า;
ถึงแม้ว่าประเทศพัฒนาแล้ว จะผลิตอาหารต่อประชากรได้มากกว่า แต่เขาจะยอมเสียค่าขนส่งอาหารไปที่ประเทศด้อยพัฒนาหรือเปล่า?

5. ถ้าดูที่ตัววัดค่าแล้ว ประชากรโลกมีสุขภาพที่ดีขึ้น;
ข้อนี้ก็ถูกในระดับหนึ่ง แต่เฉพาะบางที่เท่านั้น และตราบใดที่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรไม่ถูกบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ สักวันอาจจะถึงขีดจำกัดของมัน และคุณภาพความเป็นอยู่อาจจะลดลงอย่างรวดเร็ว

6. มีคำเตือนในอดีตแบบนี้หลายรอบแล้วแต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น; ข้อนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่บางครั้ง คำเตือนก็อาจจะทำให้มีการปรับปรุงและหลีกเลี่ยงปัญหาได้

7. จำนวนประชากรจะคงที่ในอนาคต;
ข้อนี้ก็มีความเป็นไปได้ แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า ประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนา จะต้องการทรัพยากรมากขึ้นเมื่อเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งก็จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอยู่ดี

8. ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ควรบอกประเทศที่กำลังพัฒนาว่าควรหยุดทำลายสิ่งแวดล้อม;
จากประสบการณ์ของศาสตราจารย์ ประชากรประเทศกำลังพัฒนาทราบดีว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบกับพวกเขาอย่างไร และประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาก

9. ความหายนะจากสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ไกลโพ้น;
ปัญหาทั้งหมดที่พูดมาอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด และอาจจะเป็นลูกหลานเราที่ประสบกับหายนะนี้ ซึ่งเราควรดูแลอนาคตของพวกเขาด้วย

10. สังคมปัจจุบันแตกต่างจากสังคมในอดีตที่ล่มสลาย;
เดี๋ยวนี้โลกเรามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและความเชื่อมโยงกันอย่างมาก แต่นั่นอาจจะหมายความว่า ปัญหาก็ทวีคูณได้ด้วยเช่นกัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในที่หนึ่งของโลก อาจจะไปกระทบอีกที่หนึ่งของโลกได้
ศาสตราจารย์เห็นว่า สังคมสมัยก่อนและปัจจุบันมีความคล้ายกันมากกว่าที่คิด และสิ่งเชื่อมโยงคือปัญหาสิ่งแวดล้อม


ทั้งหมดที่พูดมานะครับ มันอาจจะฟังดูหดหู่ แต่เราก็มีความหวังด้วยเช่นกัน
แทนที่เราจะมองปัญหาโลกเราจากมุมมองส่วนตัว
เราควรมองมองที่ภาพรวม และเข้าใจว่าการกระทำของเราก็มีผลกระทบ

มันไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้นะครับ
ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีหลายพื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล พวกเขามีระบบปั๊มน้ำที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล
เพราะไม่อย่างนั้น มันจะกระทบกับความเป็นอยู่ของทุกคน ซึ่งมันเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตและทำให้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิต

ท้ายสุดแล้วนะครับ โลกเรามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่จะช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างได้
หลายๆกลุ่มไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ และผู้นำการเมืองจะมีบทบาทสำคัญ
เราควรจะมองระยะยาว และพิจารณาว่า ค่านิยมไหนมีความสำคัญที่ไม่กระทบความอยู่รอด
และเราจะต้องพึ่งกันและกัน และดูแลโลกใบนี้ของเราให้ดีที่สุด


หนังสือเล่มนี้ก็ออกมาได้สักพักนึงแล้วนะครับ และอาจจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับอารยธรรมที่พูดไปแล้ว


จริงๆแล้ว ยังมีหลายคนอย่างเช่น Elon Musk ที่กำลังเตือนถึงปัญหาตรงข้าม ก็คือประชากรกำลังลดลง
ซึ่งก็เริ่มจะเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่น
จำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ลดลงในอีกหลายประเทศ
และนี่ก็อาจจะสร้างปัญหาใหม่ให้กับสังคมเราด้วย


ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ

Pop (ป๊อป) BooksDD