[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]


หนังสือ Talk Like TED
9 เคล็ดลับการนำเสนอให้เปี่ยมพลัง ตรึงใจ แและสร้างสรรค
เขียนโดย Carmine Gallo

TED ย่อมาจาก Technology Education Design ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดการประชุมที่เรียกว่า TED ซึ่งเป็นการประชุมที่แบ่งปันความรู้ และใช้สโลแกนว่า Ideas Worth Spreading ความคิดที่คุ้มค่าต่อการเผยแพร่
องค์กรนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 และก็จะจัดงานทุกปี แต่ละปีนักพูดที่มาพูดส่วนมากก็จะเป็นศาสตราจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ อดีตนักการเมือง ผู้นำศาสนา นักแสดง และบุคคลอื่นๆอีกหลายๆด้าน
คนที่มาพูดก็จะมาพูดถึงการพัฒนาในด้านเขามีความผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่ก็อาจจะพูดถึงปัญหาในสังคมและแนะนำความคิดที่จะสามารถแก้ไขได้
ที่สังเกตได้จากการพูดในการประชุมนี้ก็คือ นักพูดแต่ละคนมีการนำเสนอที่มีเอกลักษณ์ที่ดึงดูดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนฟังได้อย่างมาก

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ไปพูดในการประชุมใหญ่ๆอย่างนั้น แต่ทุกคนคงเคยต้องนำเสนออะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะในที่เรียนหรือที่ทำงาน
ถ้าคุณทำธุรกิจ คุณคงจะต้องมีการพูดคุยกับนักลงทุนหรือไม่ก็เสนอสินค้าใหม่ๆ ฉะนั้นการมีความสามารถในการพูดในที่สาธารณะมันมีความสำคัญมากๆเพราะคุณอาจจะเปลี่ยนความคิดของคนฟังได้

ผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสำหรับธุรกิจ และก็ได้สรุปเคล็ดลับการพูดในที่สาธารณะ และการนำเสนอแบบ TED talk เป็น 9 หัวข้อด้วยกัน


1. หา Passion ภายใน

3 ข้อแรกที่จะพูดถึง จะเกี่ยวกับการเข้าถึงอารมณ์ของผู้ฟัง

ข้อแรกนะครับ คุณจะต้องมี passion ในเรื่องที่คุณพูดถึงอยู่
ถ้าคุณไม่มี passion ในสิ่งๆนั้น ก็คงไม่มีใครได้แรงบันดาลใจจากคุณ

ข้อดีของการพูดในสิ่งที่คุณมี passion คือ

(1) ความตื่นเต้นของคุณน่าจะลดลง เพราะเป็นเรื่องที่คุณใส่ใจกับมันและเป็นธรรมชาติสำหรับตัวคุณ
(2) ในเมื่อคุณใส่ใจกับเรื่องที่คุณพูดถึง คุณก็จะมีโอกาสพูดเกี่ยวกับมันอย่างกระตือรือร้นและทำให้ไม่น่าเบื่อ
(3) ความรู้สึกกระตือรือร้นของคุณ ก็จะแพร่ไปถึงคนที่กำลังฟังคุณอยู่ทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้นไปด้วย

มีนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองท่านหนึ่ง ชื่อว่า Dr Jill Taylor ได้มาพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เขาเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ตอนนั้นเขาบอกว่าเขารู้สึกตื่นเต้นมากเพราะคงไม่ค่อยมีคนเยอะสักเท่าไหร่ที่ได้มีโอกาสประสบการกับสิ่งที่ตัวเองศึกษามาโดยตรง
คนที่มาฟังเขาตอนนั้นก็สามารถรู้สึกได้ถึง passion ที่ Dr Jill มีในเรื่องที่เขาศึกษา

การค้นพบ passion ของตัวคุณเองมันอาจจะไม่ชัดเจนขนาดนั้น คุณควรจะถามตัวเองว่า “อะไรทำให้หัวใจของคุณตื่นเต้น?” เพราะ passion ไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณทำแต่มันเป็นเอกลักษณ์ของตัวคุณเอง
ในบางครั้งคุณอาจจะคิดว่าตัวเองไม่มี passion คุณก็ควรจะไปคบหากับกลุ่มคนที่มี passion ในสิ่งๆนั้นอยู่แล้ว เพราะมันอาจจะเพิ่มความสนใจให้ตัวคุณได้

การที่คุณมี passion ในการดำเนินธุรกิจของคุณ จะทำให้คนรอบข้างเห็นสิ่งนี้เช่นกัน และทำให้มีโอกาสที่เขาจะสนับสนุนคุณเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะซื้อสินค้าหรือลงทุนกับคุณ
จากการสำรวจ นักลงทุนในบริษัท startup พบว่า ผู้ก่อตั้งที่มี passion ในสิ่งที่ตัวเองทำก็มีโอกาสได้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ถ้าคุณถูกมอบหมายให้พูดเกี่ยวกับบางอย่างที่คุณไม่ได้สนใจหรือไม่รู้อะไรมาก ก็ควรลองหาดูว่าสิ่งนั้นมันมีข้อดีอะไรกับชีวิตคุณบ้าง เพราะนั่นอาจจะทำให้คุณยิ่งสนใจมันมากขึ้น
แต่อย่าแกล้งว่าคุณมี passion นะครับ เพราะว่าสุดท้ายคนจะมองเห็น


2. ศิลปะการเล่าเรื่องราว

ถ้าอยากจะสำเร็จนะครับ คุณจะต้องสามารถชักชวนให้คนอื่นมาฟังสิ่งที่คุณจะพูด ไม่ว่าจะสมัครงาน ค้าขายสินค้า หานักลงทุน หรือผลักดันลูกทีม
การเล่าเรื่องราวเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในด้านนี้

การเล่าเรื่องมีข้อดีอยู่ 4 อย่าง

(1) ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนมีส่วนร่วมด้วย
(2) ทำให้ผู้ฟังเข้าใจความคิดได้ง่ายขึ้นจากตัวอย่างจริง
(3) มันเป็นเหมือนข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดอยู่นั้นมันทำได้จริง
(4) การเล่าเรื่องราวจะสามารถเชื่อมโยงและกระตุ้นอารมณ์ของผู้รับฟังได้มากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้นที่เขาจะเห็นด้วยกับคุณ

คุณสามารถเล่าเรื่อง 3 ประเภท

(1) เล่าเรื่องส่วนตัว อย่างเช่นเคยเจอปัญหาอะไรและฝ่าฟันมันไปได้อย่างไร คุณควรจะพูดถึงความรู้สึกของคุณในช่วงนั้นด้วย
(2) เล่าเรื่องของคนอื่น อาจจะเป็นคนที่คุณรู้จัก หรือคนที่มีชื่อเสียงในอดีต อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวคุณเอง
(3) เล่าเรื่องเกี่ยวกับสินค้าหรือแบรนด์ตัวเอง คุณอาจจะเล่าเกี่ยวกับว่าคุณคิดค้นสินค้านี้ขึ้นมาได้อย่างไร

ในการเล่าเรื่องราว คุณควรจะคำนึงถึง 5 อย่างด้วยกัน

(1) เล่ารายละเอียดให้เยอะที่สุดจนทำให้ผู้ฟังรู้สึกอยู่ในที่ที่นั้นด้วย
(2) เล่าถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้น
(3) เก็บข้อสรุปไว้ตอนท้ายเพื่อคนฟังจะได้รู้สึกอยากติดตามต่อ
(4) ควรเสนอฮีโร่และตัวร้าย ตัวร้ายในที่นี้อาจจะไม่ใช่เป็นบุคคล แต่อาจจะเป็นปัญหาจะต้องแก้ไข
(5) ฮีโร่ของเรื่องต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคอะไรบ้างในการพิชิตตัวร้ายได้ คนเราทุกคนต้องการสนับสนุนคนที่ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้

ศาสตราจารย์ Dan Ariely เป็นนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์
เขาเล่าเรื่องที่เขาประสบอุบัติเหตุทำให้ร่างกายถูกไฟไหม้ไป 70% เขาเล่าโดยละเอียดอย่างมากจนทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความเจ็บปวดของเขาในตอนนั้น และเขาก็เล่าว่าเขาคิดว่ามันน่าจะมีวิธีที่ดีกว่าในการเปลี่ยนผ้าพันแผล ซึ่งเขาก็คิดค้นจนโรงพยาบาลยอมเปลี่ยนวิธีให้เขา นี่ก็เป็นการสรุปที่คนไม่คาดคิดเช่นกันจึงทำให้เรื่องราวนี้มันน่าสนใจ

ทุกแบรนด์ ทุกสินค้า และรวมถึงตัวคุณ ล้วนแต่มีเรื่องราวเบื้องหลัง คุณต้องหาเรื่องเรานั้นให้ได้ และเสนอมันออกมา


3. ทำการพูดคุย

คุณจะต้องฝึกฝนและใส่ใจกับสิ่งที่คุณจะพูดมากพอที่จะทำให้การนำเสนอของคุณเหมือนกับการพูดคุยกับเพื่อนสนิท
สิ่งนี้มันจำเป็นอย่างมาก เพราะการชักชวนจะเกิดขึ้นหลังจากที่คุณได้สร้างความเชื่อมโยงทางความรู้สึกกับผู้ฟังและได้ความเชื่อใจจากเขาแล้ว
ถ้ากิริยาของคุณมันไม่สอดคล้องกับสิ่งที่คุณพูดออกมา มันยากที่จะได้ความเชื่อใจ ไม่ว่าคุณจะมีความคิดที่ยอดเยี่ยมขนาดไหนก็ตาม

คนทุกคนไม่ได้เกิดมาแล้วสามารถพูดต่อหน้าคนอื่นได้ดีเยี่ยม
นักพูดมืออาชีพ เขาต้องฝึกฝนเป็นเวลานานกว่าจะชำนาญและดูธรรมชาติ
สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่คุณควรจะทำเหมือนกัน คือคุณอาจจะต้องอัดตัวเองตอนพูดแล้วก็กลับไปดูอีกครั้ง หรือไม่ก็พูดต่อหน้าเพื่อนฝูงและครอบครัว และฟังคำติชมจากพวกเขา

มี 2 สิ่งที่ควรระวัง น้ำเสียงและภาษากาย

(1) น้ำเสียงของคุณจะต้องอยู่ในระดับที่ดี ความเร็วควรเหมาะกับหัวข้อที่พูด และควรจะเว้นวรรคในการเน้นเนื้อหาหลักๆ
(2) ควรใช้มือควบคู่ไปกับเนื้อเรื่องที่พูด แต่อย่าเยอะเกิน และควรเน้นตอนสำคัญๆเท่านั้น อย่าปล่อยให้มืออยู่ต่ำเกินไป เพราะมันทำให้ดูเหมือนขาดความมั่นใจ

ศาสตราจารย์ Harvard Business School ท่านหนึ่งชื่อว่า Amy Cuddy เคยพูดที่งาน TED ในหัวข้อ “Fake It Til You Become It” ก็คือ “แกล้งทำจนกว่าจะเป็นสิ่งนั้นได้” เขาบอกว่ากิริยาของคนเราก็มีอิทธิพลกับจิตวิทยาเช่นกัน ถ้าเราทำกิริยาที่โชว์ความมั่นใจ มันก็จะทำให้เรามีความมั่นใจเพิ่มขึ้น

ในการพูดให้คนอื่นฟังก็เช่นกัน คุณต้องแกล้งทำมันจนกว่าคุณจะสามารถทำมันได้จริงๆ


4. สอนสิ่งแปลกใหม่

คุณเคยไหมครับ ที่เมื่อคุณได้ยินข้อมูลอะไรใหม่ๆ คุณก็รู้สึกแปลกใจและอยากฟังมันต่อ
โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราชอบค้นหาอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะในด้านไหนก็ตาม
ถ้าคุณสามารถนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้ผู้คนได้ฟัง เขาจะรู้สึกดี และจะให้ความสนใจและความเชื่อถือในตัวคุณมากขึ้นอย่างแน่นอน

สิ่งแปลกใหม่ที่พูดถึงในที่นี้สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท

(1) ข้อมูลใหม่ล่าสุดจากความเชี่ยวชาญที่ตัวคุณมี อันนี้ต้องยอมรับว่าถ้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยเรื่องนั้นจริงๆคงจะยาก
(2) นำเสนอข้อมูลเดิมๆในรูปแบบใหม่
(3) เสนอวิธีใหม่ๆในการแก้ปัญหาเดิมๆ

2 ข้อนี้สามารถทำได้ แค่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์เล็กน้อย

ศาสตราจารย์ Hans Rosling ผู้เขียนหนังสือ Factfulness ที่ผมได้รีวิวไปแล้ว เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติและการแพทย์
เขานำเสนอสถิติในด้านสาธารณสุข ในรูปแบบกราฟและ pie chart แบบอนิเมชั่นซึ่งทำให้ผู้ฟังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ผู้เขียนแนะนำว่า ควรย่อสิ่งที่พยายามบอกกับผู้ฟังเป็นแค่ประโยคเดียว เพราะมันเจาะจงว่าต้องการจะให้ผู้ฟังรับรู้อะไร ยกตัวอย่าง คุณ Simon Sinek นักเขียนด้านธุรกิจ ตั้งหัวข้อ “How Great Leaders Inspire Action” “ผู้นำยอดเยี่ยมสร้างแรงบันดาลใจของการกระทำอย่างไร

อีกอย่างหนึ่งที่คุณควรจะทำก็คือ คุณควรจะพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในหลายๆด้านอยู่ตลอดเวลา เพราะมันอาจจะเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ขึ้นได้ ไม่ว่าจะมาจากการอ่านหนังสือ ท่องเที่ยว พูดคุยกับคนหลากหลายประเภท


5. สร้างนาทีเร้าใจ

Bill Gates เคยได้ไปพูดในงาน TED ปี 2009 เขาเอาโถแก้วใบนึงวางอยู่บนเวที แล้วเขาก็พูดว่า “โรคมาลาเรียมียุงเป็นพาหะ ผมเอายุงมาที่นี่ด้วย ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจนจะต้องเป็นกลุ่มเดียวที่ได้ติดเชื้อนั้น ผมให้ยุงมันบินแถวๆนี้สักหน่อยแล้วกัน” แล้วเขาก็เปิดโถแก้วนั้นออกมา
ทุกคนที่มาฟัง ก็รู้สึกอึ่งแล้วก็ปรบมือกันยกใหญ่ แน่นอนครับยุ่งพวกนั้นไม่ได้มีเชื้อมาลาเรียอยู่ในตัวมัน
เคล็ดลับที่พูดถึงในข้อนี้ คือต้องสร้างนาทีที่เร้าใจที่ผู้ฟังคาดคิดไม่ถึง

การสร้างนาทีเร้าใจมีข้อดีอยู่ 3 อย่าง
(1) มันได้ความสนใจจากผู้ฟังทันที
(2) มันจะทำให้ผู้คนพูดถึง และทำให้มันกระจายมากขึ้น
(3) มันจะทำให้ผู้คนจดจำได้ และยิ่งคิดถึงสิ่งที่พูด

จากงานวิจัย เราจะจำนาทีพวกนี้ได้เพราะมันกระตุ้นอารมณ์อย่างสูง และทำให้เราจำแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆได้
ลองคิดถึงเหตุการณ์ในชีวิตคุณนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีความสุขที่สุดหรือเสียใจที่สุด คุณคงจำมันได้แน่ๆ

มันมี 5 วิธีในการสร้างนาทีเร้าใจ
(1) ใช้อุปกรณ์แปลกๆในการสาธิต
(2) โชว์สถิติที่ไม่คาดคิด
(3) ใช้รูปภาพและวีดีโอ
(4) ตั้งหัวข้อที่น่าจดจำ
(5) ใช้เรื่องราวส่วนตัว

ท้ายสุดก็ไม่ควรลืมที่จะสร้างความจดจำตอนจบด้วยนะครับ


6. ใช้อารมณ์ขัน

จากเว็บไซต์ TED นะครับ นักพูดที่คนเข้าไปชมมากที่สุดชื่อว่า Ken Robinson เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และหัวข้อที่พูดคือ “ทำไมการศึกษากำลังทำลายความคิดสร้างสรรค์?”
ทำไมหัวข้อจริงจังแบบนี้ถึงมีคนเข้าไปชมมากกว่า 67 ล้านครั้งได้ครับ?

เหตุผลก็คือเขาใช้อารมณ์ขันในการเล่าเรื่องต่างๆนานา มันเลยน่าสนใจขึ้นมามาก
นี่ก็คือเคล็ดลับที่ 6 นะครับ คือจะต้องทำให้คนฟังหัวเราะ หรืออย่างน้อยก็ยิ้มได้

การใช้อารมณ์ขันมันมีประโยชน์อยู่หลายอย่าง มันสร้างความประทับใจแรกได้ดีโดยเฉพาะกับคนที่ไม่คุ้นเคยเพราะมันสามารถทำให้พวกเขารู้สึกเบาสมอง และยิ่งคนฟังรู้สึกผ่อนคลายก็ทำให้เขาคิดว่าคุณมีข้อดีด้านอื่นเช่นกัน และจะทำให้เขายอมรับฟังคุณมากขึ้น

มี 4 วิธีในการสร้างอารมณ์ขัน
(1) เล่าเรื่องตลก
(2) สร้างข้อเปรียบเทียบระหว่างสองสิ่งที่แตกต่างกันแต่ก็คล้ายกัน
(3) ใช้มุกของผู้อื่น
(4) ใช้รูปหรือวีดีโอตลก

แต่ก็มีข้อควรระวังหลายข้อเช่นกัน
(1) อย่าใช้มุขที่ดูถูกผู้อื่น
(2) อย่าพยายามทำให้ตลกเกินไป เพราะสุดท้ายคุณพยายามให้ข้อมูลอยู่เช่นกัน
(3) อย่าใช้มุขเดิมๆที่ได้ยินอยู่ตลอด
(4) อย่าพยายามใช้มุขเด็ดตั้งแต่แรก เพราะถ้ามันไม่เวิร์คอาจจะทำให้การพูดที่เหลือน่าเบื่อทันที เริ่มทีละนิดทีละหน่อยจะดีกว่า

ถึงแม้ว่าคุณกำลังจะพูดเรื่องที่ค่อนข้างจะซีเรียส ก็ควรจะใช้อารมณ์ขันด้วย เพราะไม่งั้นอาจจะทำให้รู้สึกเครียดมากเกินไป แต่ก็ควรจะหาจุดสมดุลในที่นี้ให้ได้ เพราะถ้าตลกมากไปก็ทำให้ความซีเรียสลดลงได้

อย่าลืมใช้อารมณ์ขันเล็กน้อยในครั้งหน้าที่คุณต้องเสนองานอะไรนะครับ


7. กฎ 18 นาที

กฎของการพูดในงาน TED ก็คือเขาให้เวลาพูดแค่ประมาณ 18 นาทีเท่านั้น ไม่ว่าใครก็ตาม

นี่ก็เป็นเคล็ดลับข้อที่ 7 นะครับ อย่าให้มันนานเกินไป

จากงานวิจัยพบว่า การพูดยาวเกินไปจะทำให้สมองผู้ฟังเหนื่อยล้าและไม่สามารถรับข้อมูลได้ทัน จึงทำให้การส่งต่อความคิดเกิดขึ้นได้ยาก
เขาค้นพบว่าเวลาประมาณ 18 นาทีมันนานพอที่มันจะซีเรียส และสั้นพอที่จะทำให้คนจำได้
การย่อเวลาลงก็บังคับให้คนพูดสามารถเจาะจงประเด็นได้มากขึ้น

บางคนบอกว่าเขามีสิ่งที่ต้องการจะพูดมากเกินไปที่ไม่สามารถจำกัดได้ นี่ไม่ถูกต้องเสมอไปนะครับเพราะว่าการสร้างข้อจำกัดมันทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น
นักประวัติศาสตร์นามว่า David Christian เขาเล่าประวัติศาสตร์ของจักรวาลในงาน TED โดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 18 นาที
ถ้าคุณคิดว่ายังไงก็ยอมันไม่ได้ ก็ควรคำนึงถึงคำพูดของ Albert Einstein และ Leonardo da Vinci ที่เขาบอกว่า ความเรียบง่ายของความคิด มันจะโชว์ความอัจฉริยะที่แท้จริง

ผู้เขียนได้เสนอเทคนิคที่เรียกว่า “กฎ 3 ข้อ” ก็คือในการนำเสนออะไรสักอย่าง ควรนำเสนอแค่ 3 สิ่งเท่านั้น

ข้อ 1 ที่ต้องทำคือ สร้างหัวข้อหลักแบบสั้นๆ
ข้อ 2 หาอีก 3 ข้อความที่สนับสนุนหัวข้อนั้น
ข้อที่ 3 ในแต่ละข้อความใช้ตัวอย่าง ข้อมูล หรือเรื่องราว เพียง 3 อย่างเท่านั้น

อย่าลืมว่าความสวยงามมันมาจากความเรียบง่ายนะครับ


8. ประสาทสัมผัสหลากหลาย

ในปี 2009 ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดน้ำเสียชื่อว่า Michael Pritchard มาสาธิตอุปกรณ์ที่เขาคิดค้นขึ้นมา เขารินน้ำที่สกปรกสุดๆเข้าไปในอุปกรณ์แล้วก็ดื่มน้ำสะอาดที่ออกมา ในการนำเสนอนี้เขาสามารถให้คนฟังได้ใช้ประสาทสัมผัสเกือบทุกอย่างจึงได้ความสนใจอย่างมาก

นอกเหนือจากการที่สมองเราสามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยประสบการณ์ใหม่ๆ มันก็ยังตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และยิ่งมันต้องใช้ประสาทสัมผัสหลากหลาย มันก็จะถูกกระตุ้นเยอะขึ้นเช่นกัน
ถ้าคุณสามารถเรียบเรียงคำพูดได้สวยงาม พูดได้อย่างดึงดูด และโชว์รูปภาพหรือ video ที่เชื่อมโยง มันก็จะยิ่งทำให้คนฟังสามารถจดจำได้อย่างดี

ผู้เขียนแนะนำว่าควรเน้น รูป เสียง และสัมผัสเป็นหลักเพราะมันง่ายที่จะรวมมันเข้าไปอยู่ในการนำเสนอ

(1) จากงานวิจัยพบว่า การใช้รูปภาพควบคู่กับคำพูด จะทำให้สามารถจำข้อมูลได้มากขึ้นมากกว่า 6 เท่า ในการนำเสนอ ควรเน้นรูปภาพ และควรใช้อักษรให้น้อยที่สุด ถ้าจำเป็นต้องใช้กราฟ ควรจะใช้รูปภาพควบคู่และสลับกันไป คนฟังจะได้ไม่เบื่อ

(2) มันมี 3 อย่างที่สามารถทำได้ให้คนฟัง รับฟังจริงๆ
i. พูดอธิบายรายละเอียดอย่างลงลึกที่ทำให้คนฟังสามารถจินตนาการได้
ii. พูดคำหลักๆซ้ำๆหลายๆครั้งทำให้คนฟังจดจำได้
iii. ใช้เสียงคนอื่นในการอธิบายบ้างก็ได้

(3) ในการใช้การสัมผัส ถ้ามีสินค้าก็ควรจะให้คนฟังได้จับและได้ทดลอง แต่ถ้ากำลังเสนอไอเดีย อาจจะต้องใช้น้ำเสียงและคำอธิบายที่ชวนให้ผู้ฟังสามารถจินตนาการความรู้สึกนั้นได้

(4) สำหรับกลิ่นและรสชาติ มันค่อนข้างจะยากที่จะนำเสนอ แต่ถ้าคุณกำลังพูดหัวข้ออย่างเช่นอาหาร ก็ควรจะใช้มัน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็ควรช่วยให้ผู้ฟังจินตนาการ 2 อย่างนี้ให้ได้

อย่าลืมใช้ประสาทสัมผัสหลากหลายในการนำเสนอของคุณนะครับ


9. เป็นตัวของตัวเอง

เทคนิคที่พูดมาทั้งหมดนะครับ มันไม่สามารถจะใช้ได้ถ้าคุณไม่เป็นตัวของตัวคุณเอง คนส่วนมากจะเห็นสิ่งนี้แน่นอน และคุณก็จะเสียความเชื่อใจจากพวกเขาทันที

ข้อนี้ก็สามารถโยงไปถึงข้อแรกได้ เพราะถ้าคุณอยากจะพูดและดึงดูดผู้คนได้ก็ต้องเชื่อในสิ่งที่คุณกำลังพูดอยู่
คุณควรจะปล่อยให้นิสัยที่แท้จริงของคุณออกมา และอย่ากลัวในการโชว์อารมณ์ ถึงแม้มันจะเป็นด้านบอบบางก็ตาม เพราะนี่จะโชว์ความเป็นมนุษย์ของคุณ ซึ่งมันสามารถจะเชื่อมโยงตัวคุณและทุกคนที่เข้ามาฟัง

อุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งก็คือ คนเราส่วนมากชอบต่อว่าตัวเราเอง มากกว่าคนอื่นมาต่อว่าเราเสียอีก ไม่ว่าจะเป็น “ฉันไม่ดีพอ” “ไม่มีใครชอบที่ฉันทำ” “ฉันพูดไม่เก่ง”

บางคนก็คิดว่าฉันไม่ใช่คนที่จะพูดต่อหน้าคนอื่นได้จึงไม่ลองทำดีกว่า
จริงๆแล้วทุกคนมีความสามารถในด้านนี้ทุกคน ค่าจะต้องมีความเชื่อมากขึ้น
คุณคิดอย่างนี้แล้วกันนะครับ ถ้าคุณคิดว่าไอเดียของคุณสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณหรือชีวิตผู้อื่นได้มันก็คุ้มค่ากับการเสี่ยงที่จะไปนำเสนอ

อย่าให้ความกลัวมาหยุดยั้งตัวคุณนะครับ


ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

ถ้าท่านใดมีความเห็นเพิ่มเติมก็ comment กันได้ใต้คลิปเลยนะครับ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ

Pop (ป๊อป) BooksDD

—-