ตอนนี้ถ้าเราดูข่าวหรือดูรอบข้างเรา มันเหมือนกับว่าทุกอย่างยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ จริงๆก่อนสถานการณ์ covid ก็มีข่าวไม่ดีหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน
แต่โลกเรามันแย่จริงๆอย่างนั้นเลยหรือครับ?
นายแพทย์ชาวสวีเดนนามว่า Dr Hans Rosling เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ และเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรนานาชาติอย่างเช่น WHO และ UNICEF
เขาได้ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคล 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกในปี 2012 ตามนิตยสาร Times
ในหลายๆงานสัมมนาของ Dr Rosling เขาชอบตั้งคำถามหลายคำถามเกี่ยวกับการพัฒนาของโลกในหลายๆด้านอย่างเช่นด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการศึกษา เพื่อที่จะทดสอบความรู้เกี่ยวกับโลกปัจจุบันกับคนหลายๆกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่เกี่ยวพันกับองค์กรระดับสากล, นักการเมือง, และรวมไปถึงประชากรทั่วไป
ผลที่ออกมาคือคนส่วนมากจะตอบผิดและจะเอียงไปทางคำตอบในแง่ลบซะด้วยซ้ำ
นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ Dr Rosling เขียนหนังสือ Factfulness 10 Reasons We’re Wrong About The World and Why Things Are Better Than You Think
ชื่อหนังสือในภาษาไทยก็คือ Factfulness จริงๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน
Factfulness แปลคร่าวๆว่า “มองโลกจากข้อเท็จจริง”
เป็นที่น่าเสียใจที่ dr เสียชีวิตในปี 2017 ก่อนที่หนังสือนี้จะพิมพ์เสร็จ
Dr Rosling ได้เสนอ 10 สัญชาตญาณที่บกพร่องในการมองโลก และวิธีการแก้ซึ่งก็จะมาพูดถึงในวันนี้นะครับ
ข้อที่ 1: The Gap Instinct (สัญชาตญาณช่องว่าง)
คนเรามักจะแบ่งแยกซิ่งหลายๆอย่างเป็นแค่ 2 กลุ่มใหญ่ คนรวยคนจน หรือว่าประเทศพัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนา
ข้อเสียก็คือคนอยู่ในช่องว่างตรงกลางจะไม่โดนพูดถึงสักเท่าไหร่ และมันก็อาจจะเกินความขัดแย้งขึ้นมาได้
การแบ่งแยกประเทศอย่างนี้มันเป็นความคิดที่ค่อนข้างจะโบราณ เพราะจริงๆแล้ว 75% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง
ในปัจจุบันประชากรโลกสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทรายได้:
1. Level 1, 0-$2 ต่อวัน extreme poverty คนในกลุ่มนี้ต้องเดินเท้าเปล่าเป็นชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อที่จะเดินไปตักน้ำมาใช้ ยังต้องปลูกพืชผักไว้ทานเอง และเก็บฟืนเพื่อทำอาหาร บางครั้งก็ไม่มีอะไรทาน กลุ่มนี้จะมีประมาณ 1000 ล้านคน
2. Level 2, $2-$8 ต่อวัน คนในกลุ่มนี้เริ่มจะมีรองเท้าใส่และมีเงินซื้ออาหารโดยที่ไม่ต้องปลุกเอง เริ่มจะมีเตาแก๊สเล็กๆในบ้าน เริ่มจะมีไฟฟ้าใช้แต่ก็ดับเป็นช่วงช่วง กลุ่มนี้จะมีประมาณ 3,000 ล้านคน
3. Level 3, $8-$32 ต่อวัน คนในกลุ่มนี้มีน้ำและไฟฟ้าในบ้าน สามารถเก็บเงินซื้อมอเตอร์ไซค์และตู้เย็น กลุ่มนี้จะมีประมาณ 2000 ล้านคน
4. Level 4, อย่างต่ำ $32 ต่อวัน คนในกลุ่มนี้มีการศึกษาระดับมัธยม สามารถเก็บเงินซื้อรถยนต์ และสามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ ในกลุ่มนี้จะมีประมาณ 1000 ล้านคน
ประชากรก็สามารถจะขยับจากเลเวลต่ำสุดถึงสูงสุดได้
วิธีการควบคุมสัญชาตญาณนี้คือ:
1. ควรระวังการเปรียบเทียบแค่ค่าเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกลุ่ม 2 กลุ่มโดยไม่คำนึงถึงการกระจายของข้อมูลที่จริงๆแล้วอาจจะซ้อนกันซะเป็นส่วนใหญ่
2. ควรระวังการเปรียบเทียบระหว่างค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด ต้องดูด้วยว่าตัวเลขส่วนมากอยู่ตรงกลางหรือเปล่า
3. ควรระวังการมองจากมุมบน ง่ายๆถ้าคุณอาศัยอยู่บนคอนโดที่สูงๆคุณมองลงมาทุกอย่างก็คล้ายๆกันหมด แต่จริงๆแล้วมันมีความแตกต่างเป็นมาก ก็เหมือนกับถ้าประชากรที่อยู่ใน level 4 แล้วมองลงมา level 3 2 1 ก็จะคิดว่าคนกลุ่มนี้เหมือนกันหมดแต่จริงๆแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย
ข้อที่ 2 The Negativity Instinct สัญชาตญาณมองในแง่ลบ
คนเรามักจะเห็นเรื่องแย่ๆมากกว่าเรื่องดีๆ
Dr Rosling ได้สำรวจความคิดเห็นของคน 30 ประเทศว่าโลกเราดีขึ้นหรือแย่ลงหรือเหมือนเดิม ผลที่ออกมาคือแย่ลง
แต่ถ้าเรามาดูสถิติในหลายๆแง่จะเห็นว่าความคิดนี้ไม่เป็นจริงเลย อย่างเช่น ในปี 1800 ประชากรโลก 85% จัดอยู่ในประเภทรายได้ level 1 แต่ในปัจจุบันตัวเลขนี้อยู่ประมาณ 9%, จากนั้นคนเสียชีวิตในสงครามน้อยลง, เด็กเสียชีวิตน้อยลง, อาชญากรรมน้อยลง, คนอ่านหนังสือเป็นมากขึ้น, มีน้ำสะอาดกินมากขึ้น, มีอินเทอร์เน็ตใช้มากขึ้น และอื่นๆอีกมากมาย
ทั้งๆที่มีสถิติมากมายที่บอกว่าโลกเราดีขึ้นเรื่อยๆแต่ทำไมคนยังมองโลกในแง่ลบอีกล่ะครับ
อาจจะเป็นเพราะว่าคนเราใช้ความรู้สึกซะเป็นส่วนใหญ่ในการตัดสินว่าโลกเราดีขึ้นหรือแย่ลง และความรู้สึกส่วนใหญ่ก็จะเป็นจากการที่เราได้รับรู้สื่อรอบข้าง
วิธีการควบคุมสัญชาตญาณนี้
1. ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่มันยังแย่อยู่ก็อาจจะดีขึ้นได้เหมือนกัน โลกเราก็ยังมีอาชญากรรมอยู่เรื่อยๆแต่ตราบใดที่ตัวเลขมันลดลงก็เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน
2. ต้องไตร่ตรองข่าวสารและคิดว่าข่าวร้ายเป็นสิ่งที่ควรจะคาดถึง
3. อย่าปิดบังหรือบิดเบียนอดีต ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือประเทศชาติถ้าพูดถึงอดีตส่วนมากจะพูดให้กับตัวเองในแง่บวกซะเป็นส่วนใหญ่ และแง่ลบก็จะโดนลบไปซึ่งก็ทำให้การเปรียบเทียบกับปัจจุบันยากขึ้น
ข้อที่ 3 The Straight Line Instinct สัญชาตญาณมองเส้นตรง
เวลาคนเรามองข้อมูลหรือดาต้าจะชอบคิดว่าเทรนจะเป็นเส้นตรงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างนะครับ จากปี 1800 ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 1000 ล้านเป็น 2000 ล้านด้วยเวลา 130 ปี จากนั้นเพิ่มอีก 5,000 ล้านคนในเวลาไม่ถึง 100 ปี นี่ทำให้คนส่วนมากคิดว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นแบบคงที่ไปตลอด แต่จริงๆแล้ว United Nation คาดว่าประชากรโลกน่าจะถึงจุดสูงสุดอยู่ที่ 10,000 ถึง 12,000 ล้านคนภายในปี 2100
เหตุผลหลักๆเลยก็คือ ประชากรที่มีรายได้มากขึ้นก็จะมีลูกน้อยลงเช่นกัน ปัจจุบันผู้หญิงมีลูกแค่ 2.5 คนโดยเฉลี่ยลดลงจาก 5 คนในยุค 60 และก็ดูเหมือนจะลดลงไปเรื่อยๆ แต่ถึงที่สุดแล้วมันก็จะคงที่เหมือนกัน
วิธีการควบคุมสัญชาตญาณนี้ก็คือ จะต้องคำนึงถึงว่าข้อมูลไม่จำเป็นจะต้องฟิตเส้นตรงเสมอไป มันอาจจะเป็นลักษณะอย่างอื่นก็ได้
ข้อที่ 4 The Fear Instinct สัญชาตญาณความกลัว
คนเรามักจะมีความหวาดกลัวเกินความเป็นจริง
สิ่งที่มนุษย์เราจะให้ความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่น่าทึ่งและเร้าใจ สื่อต่างๆก็รู้ข้อนี้ดีจึงนำเสนอข่าวด้านนี้เพื่อที่จะได้ความสนใจจากเราจึงทำให้ความกลัวนั้นยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก
ความกลัวมีประโยชน์กับมนุษย์ในด้านวิวัฒนาการ และยังมีประโยชน์สำหรับประชากรที่อยู่ใน level 1 เพราะพวกเขายัง อยู่ในแหล่งยากจนมากและยังมีอันตรายอยู่รอบตัว แต่สัญชาตญาณความกลัวนี้ทำให้คนกลุ่ม level 3 และ level 4 มองโลกแบบบิดเบี้ยนไป
ถ้าถามคนกลุ่มนี้ว่ากลัวอะไรเป็นพิเศษก็คงไม่พ้น สงคราม อุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติ แต่จริงๆแล้วตัวเลขสถิติของเหตุการณ์พวกนี้ลดลงไปอย่างมหาศาล
มีตัวเลขหนึ่งที่แย่ลงก็คือการก่อการร้าย ปี 2007-2016 มีคนประมาณ160,000 คนที่เสียชีวิตจากการก่อการร้าย ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 เท่ามากกว่า 10 ปีก่อน แต่ตัวเลขนี้ขึ้นในเฉพาะประเทศ level 1 2 และ 3 เท่านั้น เหตุผลหลักก็คือการก่อการร้ายเกิดขึ้นที่ประเทศอัฟกานิสถาน อิรัก ไนจีเรีย ปากีสถาน และซีเรีย เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศ level 4 แล้วการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลง 3 เท่า
วิธีการควบคุมสัญชาตญาณนี้คือจะต้องแยกแยะระหว่างความน่ากลัวกับความเป็นจริง อะไรที่มันอันตรายก็อาจจะไม่ใกล้ตัวเราเสมอไป ถ้าตกอยู่ในสภาวะความหวาดกลัวจะต้องหยุดสักพักนึงก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรมิฉะนั้นอาจจะทำผิดพลาด
ข้อที่ 5 The Size Instinct สัญชาตญาณมองขนาด
คนเรามักจะประเมินขนาดหรือปริมาณของสิ่งหลายๆอย่างผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้
ตามประสบการณ์ของ Dr Rosling ในอดีตเขาเคยเป็นแพทย์อาสาอยู่ในจังหวัดชนบทที่ประเทศโมซัมบิกประเทศแอฟริกา เขาเป็นหมอคนเดี๋ยวสำหรับประชากร 3 แสนคน
อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในโรงพยาบาลจังหวัดอยู่ที่ประมาณ 50 คนต่อปีซึ่งมันฟังดูค่อนข้างจะเยอะสำหรับโรงพยาบาลเล็กๆในจังหวัดชนบท แต่จากการประเมินคร่าวๆ เขาคาดว่ามีเด็กที่เสียชีวิตข้างนอกโรงพยาบาลที่เขาไม่เห็นอีกประมาณ 3 พันคนต่อปี ฉะนั้นเขาไม่สามารถที่จะลงแรงทุกอย่างในโรงพยาบาลอย่างเดียว
เขาคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศ level 1 และ level 2 คือ พัฒนาการศึกษา ฝึกพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้น และเพิ่มจำนวนวัคซีนให้กับเด็กสร้างโรงพยาบาลเพิ่มนั้นไว้ทีหลังก็ได้
วิธีการรับมือกับสัญชาตญาณนี้คือ
1.ไม่ควรดูแค่ตัวเลขตัวเลขเดียว จะต้องเอาตัวเลขอื่นมาเปรียบเทียบ อาจจะเป็นตัวเลขในอดีตก็เป็นไปได้
2. ใช้กฎ 80/20 ง่ายๆก็คือผลลัพธ์ที่ได้ส่วนมากแล้วมาจากปัจจัยเพียงส่วนน้อย ซึ่งควรจะสืบสวนปัจจัยพวกนี้ก่อน ผมทำคลิปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้วลองไปดูได้นะครับ
3. หารตัวเลขให้เป็นสัดส่วนต่อปัจจัยต่างๆ เพื่อที่จะได้เห็นภาพกว้างขึ้น อย่างเช่น หารด้วยจำนวนประชากรเป็นต้น
ข้อที่ 6 The Generalization Instinct สัญชาตญาณมองรวม
คนเราเมื่อแบ่งสิ่งของหรือผู้คนเป็นกลุ่มแล้ว ก็จะให้ลักษณะของแต่ละกลุ่มนั้นนั้น แต่ถ้ามองอีกแง่นึงการคิดอย่างนี้ก็ค่อนข้างจะผิดเพราะผู้คนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ไม่เหมือนกันเสมอไป
ตัวอย่างที่ให้ไปแล้วก็คือคนในประเทศรายได้ level 4 อาจจะมองเห็นคนในประเทศ level 1 2 3 เหมือนกันหมด
บริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ทั่วโลกควรจะคำนึงถึงข้อนี้ เพราะต้องเข้าใจว่ากลุ่มผู้บริโภคไม่สามารถที่จะโดนแบ่งกลุ่มที่มันกว้างเกินไป
สุดท้ายแล้วการจัดประเภทมันเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการจดจำและสร้างความเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีบางอย่างที่ควรคำนึงถึง
1. ประเภทที่จัดขึ้นมามันฟังดูสมเหตุสมผลและเหมาะกับยุคสมัยหรือเปล่า ถ้ามีความแตกต่างภายในกลุ่มมากเกินไปก็ควรจะขยายกลุ่มออกมาอีก ถ้ามีความคล้ายกันระหว่างกลุ่มก็ควรจะพิจารณาประเภทกลุ่มใหม่
2. ควรระวังคำว่า “ส่วนใหญ่” ถ้ามีใครใช้คำว่าส่วนใหญ่ต้องตั้งคำถามว่าเขาหมายถึง 51% หรือ 90% เพราะนี่มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ข้อที่ 7 The Destiny Instinct สัญชาตญาณโชคชะตา
ข้อนี้หมายถึงความเชื่อที่ว่าโชคชะตาของผู้คนนั้นโดนกำหนดมาแล้วและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ยกตัวอย่างนะครับ Dr Rosling ได้ให้สัมมนาที่ Scotland เกี่ยวกับประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และเขาเอ่ยถึงทวีปแอฟริกา หลังจากงานสัมมนา มีชายฝรั่งคนหนึ่งมาบอกเขาว่าเขาเคยอยู่ในประเทศไนจีเรียและเขาไม่เชื่อว่าประเทศแถบนี้จะพัฒนาได้ เพราะเขารู้จักนิสัยคนแอฟริกาดีว่าเป็นยังไงและพวกเขาก็จะยากจนอย่างนี้ไปตลอด แน่นอนครับว่าทวีปแอฟริกานั้นยังด้อยพัฒนามากกว่าที่อื่นแต่ก็ไม่ใช่หมายความว่ามันไม่พัฒนา ดูง่ายๆสมัยก่อนถ้าพูดถึงประเทศที่ยากจนมากๆก็คงไม่พ้นเอธิโอเปีย แต่ถ้าไปดูประเทศเอธิโอเปียตอนนี่ก็พัฒนาไปค่อนข้างจะมาก
วิธีการควบคุมสัญชาตญาณนี้คือ
1. ต้องเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนคงที่ แต่จริงๆแล้วมันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด การเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆสม่ำเสมออย่างนี้ นานเข้าแล้วก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน
2. ในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นมันสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องอัพเดทความรู้ของตัวเองอยู่ตลอด
ข้อที่ 8 The Single Perspective Instinct สัญชาตญาณมองแคบ
คนเรามักจะมองอะไรจากมุมมองของตัวเองอย่างเดียว แต่โลกเรานั้นมันซับซ้อนมาก หลายสิ่งหลายอย่างจะต้องดูจากหลายๆมุมมองเพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ยกตัวอย่าง Dr Rosling เป็นทั้งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ ในปี 2002 Dr Roslingได้พูดคุยกับประธานาธิบดีประเทศโมซัมบิก และถามว่าท่านได้ดูตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศหรือยัง ประธานาธิบดีตอบว่าดูแล้วแต่เขาไม่พึ่งตัวเลขอย่างเดียว ทุกๆปีในประเทศโมซัมบิกจะมีพาเหรดใหญ่ เขาบอกว่าเขาชอบดูว่าทุกคนมาใส่เสื้อผ้าและรองเท้าใหม่ๆหรือเปล่า เพราะนั่นจะบอกว่าคนเริ่มจะมีเงินใช้จ่ายเยอะขึ้น
วิธีการควบคุมสัญชาตญาณนี้คือ
1. อย่าหาตัวอย่างที่สนับสนุนความคิดของเราเองอย่างเดียว ควรลองปรึกษาคนที่มีความคิดต่าง
2. การมีความเชี่ยวชาญในด้านด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งเอาความรู้นี้ไปใช้ในด้านอื่นอาจจะไม่เป็นประโยชน์เสมอไป
ข้อที่ 9 The Blame Instinct สัญชาตญาณหาคนตำหนิ
เมื่อมีปัญหาคนเรามักจะหาคำอธิบายหรือโทษบางสิ่งบางอย่างว่าเป็นต้นตอของปัญหา แต่แท้ที่จริงแล้วปัญหามันอาจจะเกิดขึ้นจากหลายๆปัจจัย
ยกตัวอย่างนะครับ บริษัทผลิตยาส่วนมากจะไม่วิจัยยาเกี่ยวกับโรคที่กระทบกับประชากรที่มีรายได้น้อยคนส่วนมากก็จะโทษผู้บริหาร แต่จริงๆแล้วผู้บริหารทำตามสิ่งที่กรรมการบริษัทตั้งไว้และถ้าลงลึกไปอีกจริงๆแล้วกรรมการบริษัทก็ทำสิ่งที่ผู้ถือหุ้นต้องการ
ในบางครั้งมันก็ได้ผลตรงข้าม เมื่อมีอะไรดีๆเกิดขึ้นในประเทศอย่างเช่นเศรษฐกิจโตเร็วเกินคาด ผู้นำอาจจะอ้างว่าเป็นเพราะตัวเขาเองที่ทำให้มันเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วมันอาจจะเกิดขึ้นอยู่แล้วก็ได้ ปัจจัยอย่างเช่นสถาบัน ระบบเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี อาจจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่แท้จริงก็ได้
การควบคุมสัญชาตญาณนี้คือ
1. แทนที่จะหาตัวร้ายควรจะหาสาเหตุและต้นตอของปัญหา
2. เมื่อมีใครพยายามเอาความดีให้ตัวเอง ควรวิเคราะห์ปัจจัยเบื้องหลังด้วย
ข้อ 10 The Urgency Instinct สัญชาตญาณเร่งรีบ
บ่อยครั้งเมื่อมีปัญหาคนเรามักจะตัดสินใจโดยเร็ว อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์หรือคนอื่นกดดัน ซึ่งอาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดไป
วิธีควบคุมสัญชาตญาณนี้คือ
1. ต้องหยุดเสียก่อน ปัญหาส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องแก้อย่างเร่งรีบขนาดนั้น
2. หาข้อมูลและ data เพิ่มในการวิเคราะห์
3. อย่าเชื่อการคาดเดาเสมอไป จะต้องดูทุกสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้
4. อย่าใช้มาตรการที่รุนแรงเกินไป ส่วนมากการแก้โดยการทำแบบเป็นขั้นตอนจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
สุดท้ายนะครับ Dr Rosling ก็ขอฝากไว้ว่า การมองโลกบนข้อเท็จจริง จะทำให้เห็นว่าจริงๆแล้วโลกเราไม่ได้แย่อย่างที่คิดและเราก็สามารถรู้ว่าต้องเจาะจงไปด้านไหนเพื่อที่จะทำให้โลกมันยิ่งดีขึ้นไปอีกในอนาคต
หวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรอยากคุยก็ comment กันได้เลยครับ
ขอบคุณและสวัสดีครับ