[บทความรีวิวนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกๆหัวข้อจากหนังสือนะครับ ขอบคุณครับ]
หนังสือ Antifragile: Things That Gain From Disorder
คำว่า antifragile เป็นคำที่คนเขียนสร้างขึ้นมา ถ้าแปลคร่าวๆนะครับ “ต่อต้านความบอบบาง สิ่งที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเจอความยุ่งเหยิง”
เล่มนี้เขียนโดย Nassim Nicholas Taleb ซึ่งเป็นคนเขียนเดียวกับ Fooled By Randomness และ The Black Swan ซึ่งผมได้รีวิวไปแล้ว ผมแนะนำให้ไปชม 2 คลิปนี้ด้วยนะครับ
คุณ Nassim เคยเป็น option trader และเป็นศาสตราจารย์ด้านความเสี่ยงที่ NYU
เขาค่อนข้างจะมีความอื้อฉาวในวงการไฟแนนซ์ เพราะเขาชอบต่อว่านักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐ ว่าคนพวกนี้ไม่เข้าใจความเสี่ยงและมีบทบาทที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และเขาคิดว่ามันก็จะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ
ในเล่มนี้เขาเสนอว่า แทนที่จะหลีกเลี่ยงหรือบริหารความเสี่ยง
เราควรจะสร้างลักษณะให้สามารถได้ประโยชน์จากความไม่แน่นอนจะดีกว่า
Antifragile คืออะไรและมันสำคัญอย่างไร?
หลายสิ่งหลายอย่างในโลกสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท fragile, robust, และ antifragile
Fragile หมายถึงความบอบบาง ก็คือสิ่งที่แตกหรือเสียได้ง่าย
Robust หมายถึงความแข็งแกร่งหรือความทนทาน ก็คือสิ่งที่ไม่สามารถถูกทำลายได้ง่าย และหลายคนก็จะบอกว่านี่เป็นสิ่งตรงข้ามความบาง
แต่นี่อาจจะไม่ถูกต้องนะครับ เพราะสิ่งที่ทนทานมันก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเมื่อเจอแรงกดดัน
สิ่งตรงข้ามความบอบบางที่แท้จริงคือสิ่งที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อถูกกดดันหรือถูกทำร้าย
ไม่มีคำศัพท์ที่มีความหมายนี้ตรงๆในภาษาอังกฤษ ผู้เขียนก็เลยใช้คำว่า antifragile ในการสื่อความหมายนี้
ในโลกปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงและมีความยุ่งเหยิงที่ไม่สามารถคาดเดาได้
แต่มนุษย์เราคิดว่าเราสามารถควบคุมความไม่แน่นอนนี้ได้ และจะใช้โมเดล หรือทฤษฎี ในการคาดเดา
แต่ก็จะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นหรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ black swan ที่จะทำให้ทฤษฎีเหล่านี้ผิดทันที
ซึ่งก็พูดได้ว่าความคิดเหล่านี้อยู่บนความบอบบาง
แต่ลักษณะ antifragile จะไม่กลัวเหตุการณ์ black swan กลับจะชอบซะอีก เพราะจะสามารถได้ผลประโยชน์จากเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก
ฉะนั้น เราไม่ควรเสียเวลากับการคาดการณ์เหตุการณ์เหล่านี้ แต่ควรจะสร้างลักษณะให้สามารถได้ประโยชน์จากความไม่แน่นอนจะดีกว่า
Antifragile ไม่ใช่ concept แปลกใหม่นะครับ เพราะเราสามารถเห็นมันได้ในธรรมชาติและสิ่งรอบข้าง
ตัวอย่างง่ายๆคือการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการทำให้กล้ามเนื้อเสียหายเพื่อที่จะถูกซ่อมแซมและสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับแรงกดดันได้อีก
ถ้าจะมองอีกด้านนะครับลักษณะ antifragile เป็นการเจริญเติบโตจากอุปสรรค เพราะจะเกิดการ overcompensate แปลว่า ชดเชยมากเกินไป
ที่หมายถึงนะครับ คือสมมุติว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต คนส่วนมากจะตั้งใจและใช้พละกำลังอย่างมากในการแก้ปัญหา และพละกำลังที่มากเกินไปนี้ก็จะกลายเป็นความก้าวหน้าและการเติบโต
ในทางตรงข้ามกันถ้าไม่เจอปัญหาเลย ความเตรียมพร้อมก็จะลดน้อยลง
นอกเหนือจากนั้นแล้วยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า redundancy หรือว่าการมีส่วนเกิน ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมในการรับมือกับความไม่แน่นอน
ยกตัวอย่างเช่น ร่างกายเรามี 2 ปอดและ 2 ไต ซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถอยู่ได้ถ้ามีอย่างละอัน แต่การมีเพิ่มมันสร้างโอกาสความอยู่รอดให้เราได้มากกว่า และสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นก็มีลักษณะแบบเดียวกัน
มันไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตอย่างเดียว การออมเงินก็จะช่วยให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ซึ่งนี่จะทำให้มีลักษณะ antifragile มากขึ้น
ถึงแม้ว่าลักษณะ antifragile ส่วนมากจะเห็นอยู่ในสิ่งมีชีวิต แต่วิธีที่ดีกว่าคือควรมองให้เป็นระบบ
Simple system หรือระบบเรียบง่าย เป็นระบบที่มีขั้นตอนที่ชัดเจน อย่างเช่นถ้าปิดสวิตซ์ไฟก็จะปิด และถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบเสียหายมันก็จะไม่ทำงาน
Complex system หรือระบบซับซ้อนเป็นระบบที่มีหลายส่วนที่เกี่ยวพันและช่วยกันและกัน ยกตัวอย่างเช่นร่างกายมนุษย์ ในระบบซับซ้อนถ้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งถูกแรงกดดันหรือเกิดความเสียหาย ส่วนอื่นจะสามารถมาชดเชยและช่วยแก้ไขได้ ซึ่งนี่เป็นลักษณะ antifragile
แต่ antifragile มันก็มีข้อจำกัดของมันนะครับ
ถ้าบางสิ่งบางอย่างโดนแรงกดดันมากเกินไปหรือบ่อยเกินไป มันก็อาจจะไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองและเติบโตได้ อย่างเช่น ถ้ายกน้ำหนักมากเกินไปและบ่อยเกินไปโดยไม่ให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อน มันก็ไม่สามารถเติบโตได้
ฉะนั้นควรให้ระบบได้รับแรงกดดันอย่างพอควร เพราะมันจะสามารถชดเชยและซ่อมแซมได้
ความบอบบางของสังคม
ในสังคมปัจจุบัน เราพยายามลบความไม่แน่นอนออกไปจากชีวิตมากเกินไป จึงทำให้ไม่สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างนะครับ การเรียนรู้ที่แท้จริงจะมาจากการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจหรือการเรียนภาษา หรืออะไรก็ตาม และจำเป็นจะต้องทำผิดพลาดหลายๆครั้งเพื่อปรับปรุง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดการเรียนรู้เลยย้ายไปอยู่ในห้องเรียนแทน
การพัฒนาของเด็กเล็กก็เช่นกัน บ่อยครั้งพ่อแม่จะเป็นคนควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างและไม่เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้และค้นพบด้วยตัวเอง
ถึงแม้ว่าการมีโครงสร้างมากเกินไปอาจจะทำให้เด็กเป็นนักเรียนที่ดี แต่อาจจะไม่เตรียมพร้อมให้เด็กสามารถรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดในชีวิตได้
ธรรมชาติคนเรานะครับ จำเป็นจะต้องเจอสิ่งกดดันอยู่บ้างเพื่อที่จะเจริญเติบโต และเราทุกคนมีพละกำลังในการฝ่าฟันสิ่งพวกนี้ได้ แต่ถ้าชีวิตเราโดนวางแผนมาแล้วทุกอย่างและไม่มีความไม่แน่นอนเลย สิ่งที่ได้คือความเครียดและความไม่พอใจในชีวิตซึ่งเราเห็นค่อนข้างจะเยอะมากในสังคม
นอกเหนือจากด้านส่วนตัวแล้วนะครับ เรายังชอบพึ่งทฤษฎีหลายๆอย่างเพื่อลดความเสี่ยงในสังคมให้ได้มากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่นนักเศรษฐศาสตร์หลายคนพูดถึง equilibrium หรือความสมดุลในระบบเศรษฐกิจ แต่ข้อเสียก็คือมันจะทำให้ระบบคงที่เกินไปและไม่สามารถปรับปรุงจะปัญหาเล็กๆน้อยๆที่เจอ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากถ้าเจอปัญหาที่ไม่คาดคิด
ถึงแม้ว่าระบบ complex system จะมีลักษณะ antifragile แต่มันก็ยังต้องพึ่งความบอบบางของแต่ละส่วนในระบบ
ยกตัวอย่างเช่น ในระบบวิวัฒนาการที่มีความไม่แน่นอนในการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม สิ่งมีชีวิตบางอย่างอาจจะต้องสูญพันธุ์ไปเพราะระบบจะคัดเลือกสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวเข้าหาได้ ซึ่งจะทำให้ระบบพัฒนาต่อไปได้
เราก็เห็นแบบเดียวกันในระบบเศรษฐกิจ ถ้ามีบริษัทไหนที่ให้สินค้าหรือการบริการที่ไม่มีคุณภาพ ก็ควรจะล้มเหลวเพื่อให้บริษัทอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสามารถแข่งขันต่อไปได้
ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อมีการช่วยเหลือมากเกินไป ซึ่งทำให้ระบบไม่สามารถเติบโตได้
ตัวอย่างที่ดีคือวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ตอนนั้นหลายธนาคารในสหรัฐได้ใช้ความเสี่ยงมากเกินไป แต่เพราะพวกเขามีความเกี่ยวพันในระบบเศรษฐกิจอย่างมาก จึงทำให้รัฐบาลต้องยื่นมือช่วยและฉีดเงินเข้าไปในระบบนี่ทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอยู่ แต่จริงๆแล้วมันเป็นการเติบโตที่อาจจะไม่ยั่งยืนเพราะมันอยู่บนกองหนี้จำนวนมหาศาลที่ไม่เคยมีมาก่อน
การช่วยเหลือแบบนี้ทำให้ทั้งระบบอ่อนแอลงและไม่สามารถเติบโตได้มากพอเพื่อที่จะรับมือกับปัญหาในภายหน้า
มันไม่ใช่แค่ในระบบเศรษฐกิจแต่ในระบบสังคมก็เช่นเดียวกัน
ในอดีตสังคมให้ความสำคัญกับกลุ่มมากกว่าตัวบุคคล แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าความสุขและความต้องการของตัวบุคคลจะมีความสำคัญมากเกิน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบเชิงลบในระยะยาว
ขนาดของระบบก็มีความสำคัญ ระบบที่มีขนาดใหญ่จะดูเหมือนมีความมั่นคง แต่ระบบแบบนี้มันมีความบอบบางมากกว่าเพราะจะต้องมีทรัพยากรและความเกี่ยวพันกับหลายๆส่วนที่ลึกซึ้งเกินไปทำให้ผลกระทบจากปัญหาจะทวีคูณ
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเศรษฐกิจจากประเทศสหรัฐหรือประเทศจีน จะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงกับหลายๆประเทศ แต่ถ้าเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจน้อยกว่า 10 เท่า ก็คงไม่มีผลกระทบขนาดนั้น
อีกอย่างนึงที่ทำให้เกิดความบอบบาง คือระดับการควบคุม
ระบบที่มีการควบคุมแบบ top-down หรือบนมาล่าง จะบอบบางมากกว่าเพราะจะเน้นการใช้ทฤษฎีหรือโมเดลในการแก้ปัญหา ในขณะที่การควบคุมแบบ bottom-up หรือล่างไปบน จะเน้นการแก้ปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นจริง
ตัวอย่างที่ดีคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่แบ่งแยกเป็นรัฐเล็กๆที่ปกครองด้วยตัวเอง แต่ละรัฐก็มีปัญหากันเองบ้างเล็กๆน้อยๆ และก็ต้องแก้ไขกันโดยซึ่งๆหน้า แต่ก็ไม่ได้กระทบทั้งประเทศ และทำให้แข็งแกร่งขึ้นอีก นี่ทำให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แทบจะไม่ได้ผลกระทบจากปัญหาระดับโลกหลายๆอย่างเลย
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า การมีความแปรปรวนและความไม่แน่นอนเล็กๆน้อยๆ จะเป็นผลดีและจะสร้างลักษณะ antifragile ได้
อย่างที่บอกไปแล้วนะครับ ว่าคนเราชอบใช้โมเดลและทฤษฎีในการตัดสินใจและคาดเดาถึงแม้ว่ามันจะล้มเหลว นี่ทำให้เห็นว่าคนเราชอบเข้าไปแทรกแซงมากเกินไป
มีปรากฏการณ์ในด้านการแพทย์ที่เรียกว่า iatrogenics ซึ่งเป็นการเกิดผลกระทบอย่างไม่ตั้งใจที่ได้จากการรักษา ถึงแม้ว่าการแพทย์จะพัฒนามาไกลแล้วแต่ปัจจุบันก็ยังเห็นเรื่องแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง
นอกเหนือจากนั้นแล้ว เดี๋ยวนี้คนเราก็เราทานยามากเกินไป ทั้งๆที่ถ้าปล่อยให้ร่างกายมันปรับปรุงเองจะดีกว่า
ความคิดที่ว่ามนุษย์เราสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง เริ่มทำให้มีการจัดระเบียบว่าใครควรจะมีบทบาทอย่างไรเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
แทนที่เราจะเห็นความไม่แน่นอนและปัญหาเล็กๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สังคมแข็งแกร่งขึ้น เรากลับเห็นมันเป็นอุปสรรคที่ต้องกำจัด ปัญหาพวกนี้เลยก่อตัวทำให้กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินไป
การที่เราไปก้าวก่ายในทุกๆปัญหา ทำให้เราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาไหนมีความสำคัญจริงๆที่จะต้องถูกแก้ไข
ปัญหาทางจรรยาบรรณ
ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น คือการแบ่งแยกส่วนได้ และส่วนเสีย ออกจากกัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลของประโยชน์และผลเสียที่ได้
ระบบเศรษฐกิจและการเมืองสมัยนี้ ทำให้คนกลุ่มน้อยบางกลุ่มสามารถได้ประโยชน์ไปเกือบทั้งหมด แต่ผลเสียที่ได้จากข้อผิดพลาดกลับเป็นคนส่วนมากที่ต้องรับไป
อย่างที่พูดไปแล้ว ว่าธนาคารในสหรัฐใช้ความเสี่ยงมากเกินไปเลยทำให้เกิดวิกฤตในปี 2008 แต่ตอนนั้นรัฐบาลกลางก็ต้องใช้เงินภาษีจากประชาชนในการพยุงระบบต่อไปในขณะที่ผู้บริหารธนาคารก็ยังได้โบนัสจำนวนมหาศาลแบบเดิม
ในเมื่อเป็นอย่างนี้พวกเขาไม่จำเป็นจะต้องหยุดเสี่ยง และอาจจะเสี่ยงมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะรู้ว่าสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องช่วยเขาอยู่ดี
วิธีที่ดีที่สุดที่ไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น คือจะต้องให้คนที่ตัดสินใจมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ลองคิดดูนะครับถ้าข้อผิดพลาดของผู้บริหารธนาคาร หมายถึงพวกเขาจะต้องเสียทรัพย์สินของเขาเองด้วย พวกเขาอาจจะไม่ใช้ความเสี่ยงมากเกินไปหรอกนะครับ
เหตุผลที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้ความช่วยเหลือทุกครั้ง คือรัฐบาลของหลายๆประเทศเป็นรูปแบบ top-down ซึ่งก็รวมไปถึงสหรัฐ
บริษัทเหล่านี้เลยสามารถสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองเพียงไม่กี่คนที่มีอำนาจการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการบริจาคในการหาเสียงหรืออย่างไรก็ตาม นี่จึงทำให้พวกเขาสามารถกดดันนักการเมืองให้ออกนโยบายที่เอื้ออำนวยกับบริษัทของพวกเขาได้
แต่การปกครองแบบ bottom-up มันไม่ง่ายนักที่จะทำแบบนี้ได้เพราะโครงสร้างการตัดสินใจจะกระจายอย่างกว้างขวาง
อีกอย่างนึงนะครับ เดี๋ยวนี้มีหลายคนที่แต่งตั้งตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ แล้วก็จะออกความคิดเห็นในหลายๆเรื่องโดยที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ
เขาได้ยกตัวอย่างนักเขียนคนนึงที่สนับสนุนให้สหรัฐเริ่มสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่คนพวกนี้ไม่ได้จะต้องไปออกรบด้วยและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร ลองคิดดูว่าถ้าเขามีลูกหลานที่ต้องไปรบด้วย เขายังจะสนับสนุนสงครามอีกไหม
และแน่นอนว่า ถ้าคนพวกนี้แนะนำหรือคาดเดาอะไรผิดพลาดหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว เขาก็จะสามารถใช้คำอธิบายที่ทำให้ฟังดูเหมือนว่าเขาไม่ได้พูดผิด
ผู้เขียนแนะนำว่า ก่อนที่จะเชื่อความเห็นของใคร ให้ดูก่อนว่าคนคนนั้นมีส่วนได้ส่วนเสียหรือเปล่า
ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีใครมาแนะนำการลงทุนอะไร ให้ถามก่อนว่าคนคนนั้นลงทุนอย่างที่ตัวเองพูดหรือเปล่า และขอดูหลักฐานด้วย
การได้ประโยชน์จากสิ่งไม่คาดคิด
ข้อผิดพลาดของคนส่วนมาก คือเราคิดว่าเรารู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิตแล้วก็วางแผนตามนั้น แต่นี่อาจจะทำให้ตายตัวเกินไป และบ่อยครั้งมันอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนจากแผนที่วางไว้ และเหตุการณ์พวกนี้อาจจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างจะสูง
สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความยืดหยุ่นที่จะได้รับผลประโยชน์ในเชิงบวกมากกว่าในเชิงลบเมื่อเกิดความไม่แน่นอน
กลยุทธ์ง่ายๆในการแยกแยะระหว่างระบบ fragile และระบบ antifragile คือดูผลประโยชน์และผลเสียที่จะได้
ในระบบ fragile ผลประโยชน์ที่อาจจะได้จะค่อนข้างคงที่ แต่ผลเสียจะมีโอกาสทวีคูณเมื่อเกิดความไม่แน่นอน
ในทางกลับกันในระบบ antifragile ผลเสียจะค่อนข้างคงที่ และจะเป็นผลประโยชน์ที่จะทวีคูณ
วิธีที่จะสร้างลักษณะ antifragile คือจะต้องมี option หรือว่าทางเลือกให้กับตัวเองมากที่สุด และอย่าไปผูกมัดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเร็วเกินไป
หรือถ้าคุณเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วก็ควรจะเปิดโอกาสเล็กน้อยเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ไม่คาดคิด
ผู้เขียนได้เสนอกลยุทธ์ที่เรียกว่า barbell strategy
ถ้าดูรูป barbell นะครับมันจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2 ฝั่ง นั่นหมายความว่า ในการทำอะไร คุณควรทำสิ่งที่มันสุดโต่งทั้งสองขั้วและควรหลีกเลี่ยงการทำปานกลาง
อาจจะฟังงงๆนะครับ แต่ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นคนบางคนอาจจะยอมทำงานที่ค่อนข้างจะน่าเบื่อแต่ก็ให้ความมั่นคง เพราะจะใช้เวลาที่เหลือในการทำธุรกิจเสริมหรือทำอย่างอื่นที่มีโอกาสเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
กลยุทธ์นี้จะเห็นได้ว่า ในการเสี่ยงสูงถึงมันไม่เกิดผล แต่มันก็อาจจะไม่ได้เสียหายอะไรมาก เพราะไม่ได้ลงทุนกับมันมากขนาดนั้น แต่ถ้ามันเวิร์คขึ้นมา ธุรกิจเสริมนั้นอาจจะทำให้คุณมีความมั่งคั่งกว่าที่คิดก็เป็นไปได้
ในด้านการลงทุนก็คล้ายๆกันนะครับ ผู้เขียนเสนอว่าควรจะลงทุนเงินส่วนมาก ประมาณ 95% กับการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุด และลงที่เหลือกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง อย่างเช่นกระจายไปในหลายๆหุ้นที่มีโอกาสเติบโตเร็ว ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างนั้นจริง ผลตอบแทนที่ได้อาจจะมากกว่าที่คาดไว้อย่างมาก
แต่ใช่ว่าควรจะเอาเงินไปซื้อลอตเตอรี่นะครับ เพราะตามทฤษฎีแล้วผลประโยชน์จากลักษณะ antifragile จะไม่มีเพดาน แต่ลอตเตอรี่ ถึงแม้ว่าอาจจะได้ผลตอบแทนที่สูง แต่มันก็ยังเป็นจำนวนที่ถูกกำหนดไว้แล้ว และในระยะยาว อาจจะต้องใช้เงินซื้อมากเกินไปซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่า
บางครั้งอาจจะไม่ต้องสร้างลักษณะ antifragile ให้กับตัวเองเสมอไป แต่ถ้ามองให้ออกว่าสิ่งไหนเป็นระบบที่บอบบางแล้วก็หลีกเลี่ยงมันก็อาจจะเพียงพอ
ท้ายสุด
สำหรับผมแล้วนะครับหนังสือของผู้เขียน รวมไปถึง 2 เล่มที่ผมอ่านไปแล้วก่อนหน้านี้ ค่อนข้างจะอ่านยากมากๆ แล้วเขาก็ยอมรับด้วยนะครับว่าเขาตั้งใจทำอย่างนี้ เพราะเขาไม่อยากให้นักวิจารณ์อ่านได้ง่าย
ผมก็พยายามจะเสนอความคิดหลักๆของเขาและอาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกอย่าง
ในความคิดของผมนะครับผมคิดว่าเขาพูดถูกในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการที่คนกลุ่มน้อยบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์ในขณะที่สังคมจะต้องเป็นฝ่ายชดเชยเมื่อเกิดความเสียหาย ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
อย่างที่บอกไปตอนต้นนะครับคุณ Nassim เป็น option trader
Option เป็นเครื่องมือการเงินชนิดหนึ่งที่สามารถจำกัดความเสี่ยง แต่ให้โอกาสได้กำไรอย่างทวีคูณซึ่งเรียกได้ว่ามีลักษณะ antifragile
ผมแนะนำให้ไปลองศึกษาดูนะครับในประเทศไทยมี option ของหุ้นรายตัวและของดัชนี set50 ด้วย
ผมหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้นะครับ
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ
ถ้าท่านใดมีความเห็นเพิ่มเติมก็ comment กันได้ใต้คลิปเลยนะครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความและชมคลิปรีวิวหนังสือของผมนะครับ
Pop (ป๊อป) BooksDD
—-